นายวิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) เปิดเผยว่า แนวโน้มภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทยในปี 64 คาดว่าจะเห็นการฟื้นตัว 1.6-9% จากปีนี้ที่ตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทยติดลบค่อนข้างมากถึง 10% ทำให้ภาพในปีหน้าจะเห็นการฟื้นตัวกลับมาเป็นบวกได้
ทั้งนี้ เริ่มเห็นสัญญาณการค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้นของตลาดมาตั้งแต่ช่วงไตรมาส 3/63 ที่การซื้อขายและการโอนทยอยฟื้นตัวกลับมาดีขึ้นกว่าที่ศูนย์ข้อมูลฯ คาดการณ์ไว้ โดยการโอนสูงถึง 92,036 หน่วย หรือคิดเป็นมูลค่า 1.93 แสนล้านบาท จากที่ศูนย์ข้อมูลฯคาดการณ์ว่าจะมียอดโอนไม่ถึง 90,000 หน่วย และมูลค่าไม่ถึง 1.9 แสนล้านบาท
ขณะที่ในช่วงไตรมาส 4/63 คาดว่าจะเห็นการโอนในช่วง 89,000-90,000 หน่วย มูลค่ารวมราว 1.93 แสนล้านบาท ซึ่งใกล้เคียงกับไตรมาส 3/63 โดยปกติในช่วงไตรมาส 4 ของทุกปีจะเป็นช่วงที่มีการโอนโครงการค่อนข้างมาก เพราะผู้ประกอบการจะเร่งให้ลูกค้าโอนมากขึ้น ประกอบกับการออกแคมเปญโปรโมชั่นของผู้ประกอบการที่มีการแข่งขันกันต่อเนื่อง ทำให้การโอนได้ฟื้นตัวกลับมา
อย่างไรก็ตาม จากการหยุดชะงักของตลาดอสังหาริมทรัพย์ในช่วงไตรมาส 2/63 ซึ่งถือว่าเป็นช่วงที่เป็นจุดต่ำสุดของตลาด ทำให้ภาพรวมของตลาดในปีนี้ยังน่าจะติดลบถึง 10% จากปีก่อน โดยคิดเป็นจำนวนหน่วยที่โอน 351,000 ยูนิต มูลค่า 8.62 แสนล้านบาท
ส่วนในปี 64 คาดว่าจะเห็นการโอนเพิ่มขึ้นมาเป็น 353,000 ยูนิต หรือคิดเป็นมูลค่า 8.76 แสนล้านบาท โดยการฟื้นตัวขึ้นนั้นมาจากมุมมองภาวะเศรษฐกิจไทยในปี 64 จากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนหลายแห่งที่ออกประมาณการว่าเศรษฐกิจจะเริ่มดีขึ้น ทำให้ภาพรวมความมั่นใจและกำลังซื้อที่อยู่อาศัยกลับมาดีขึ้น แม้ว่าแนวโน้มการทำโปรโมชั่นของผู้ประกอบการอาจจะน้อยลงและยังไม่มีมาตรการกระตุ้นจากภาครัฐเข้ามาหนุนก็ตาม แต่ภาพของเศรษฐกิจที่กลับมาดีขึ้นจะเป็นแรงผลักดันต่อการซื้อที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะกลุ่มระดับกลาง-บน ระดับราคา 2 ล้านบาทขึ้นไป
“หากปีหน้าเศรษฐกิจไทยกลับมาดีขึ้นมากกว่าที่ทุกคนคาดไว้ ก็มีโอกาสที่การโอนที่อยุ่อาศัยจะปรับตัวขึ้นไปใกล้เคียงปี 61 และ 62 ที่มีจำนวนหน่วยที่โอนกว่า 400,000 ยูนิต มีมูลค่ารวมทะลุ 9 แสนล้านบาท ทำให้เรามองช่วงการเติบโตที่ค่อนข้างกว้าง 1.6-9% จากปี 63 โดยเทรนด์การซื้อที่อยู่อาศัยยังมองว่าเป็นแนวราบกลุ่มทาวน์เฮาส์ และบ้านแฝด ระดับราคา 2-5 ล้านบาทเป็นส่วนใหญ่ แต่การคาดการที่เรามองยังไม่รวมปัจจัยทางการเมืองเข้ามา”
นายวิชัย กล่าว
ด้านการเปิดโครงการใหม่ในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ปี 64 มีแนวโน้มที่ผู้ประกอบการต่างๆจะกลับมาเปิดโครงการใหม่มากขึ้น แต่จะเน้นไปที่กลุ่มโครงการแนวราบ ซึ่งจะมีโครงการใหม่เปิดเพิ่มเป็น 88,828 หน่วย หรือคิดเป็นมูลค่า 4 แสนล้านบาท หรือสูงสุดไม่เกิน 102,151 หน่วย มูลค่า 4.48 แสนล้านบาทเติบโต 24.3-42.9% จากปี 63 ที่ถือเป็นปีฐานที่ต่ำมาก
โดยสัดส่วนการเปิดโครงการใหม่จะยังคงเห็นแนวราบเปิดเป็นจำนวนมาก ซึ่งคาดว่าจะมีการเปิดโครงการบ้านจัดสรรมีสัดส่วนมากที่สุด 58.6% ของโครงการที่จะเปิดตัวในปี 64 ทั้งหมด จำนวน 44,069 หน่วย มูลค่า 2.86 แสนล้านบาท และโครงการคอนโดมิเนียมเปิดใหม่สัดส่วน 41.4% ของโครงการที่จะเปิดใหม่ทั้งหมดในตลาด มีจำนวน 36,784 หน่วย มูลค่า 1.13 แสนล้านบาท
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 พ.ย. 63)
Tags: ธอส., วิชัย วิรัตกพันธ์, อสังหาริมทรัพย์