นับตั้งแต่โรคโควิด-19 เริ่มแพร่ระบาดที่เมืองอู่ฮั่นของจีนจนถึงวันนี้ก็เป็นเวลาเกือบปีแล้ว โดยตั้งแต่จุดเริ่มต้นจนถึงวันนี้ ยอดผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคโควิด-19 นั้น ทะลุหลัก 55 ล้านรายแล้ว ข่าวร้ายคือตัวเลขนี้ดูไม่มีวี่แววที่จะลดลงง่ายๆ ท่ามกลางการแพร่ระบาดรอบใหม่ในหลายๆ ประเทศทั่วโลก แม้ประเทศต้นทางการแพร่ระบาดอย่างจีนได้ควบคุมจนเอาอยู่มาหลายเดือนแล้วก็ตาม
แต่ถึงอย่างนั้นเดือนนี้ก็ยังมีข่าวดีอยู่บ้าง หลังบริษัทยายักษ์ใหญ่ของสหรัฐอย่างโมเดอร์นาและไฟเซอร์ ได้ประกาศผลการทดลองเบื้องต้นจากการประเมินประสิทธิภาพของวัคซีนต้านโควิด-19 ที่แต่ละบริษัทได้พัฒนาขึ้น
โมเดอร์นา อิงค์ ซึ่งเป็นบริษัทเทคโนโลยีชีวภาพของสหรัฐ ประกาศเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาว่า ผลการทดลองวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ในเฟสที่ 3 พบว่า วัคซีนดังกล่าวมีประสิทธิภาพในการป้องกันไวรัสโควิด-19 มากกว่า 94% โดยโมเดอร์นาได้พัฒนาวัคซีนดังกล่าวร่วมกับสถาบันวิจัยโรคภูมิแพ้และโรคติดเชื้อแห่งชาติของสหรัฐ โดยมีอาสาสมัครเข้าร่วมโครงการจำนวน 30,000 ราย
ทางด้านไฟเซอร์ อิงค์ ซึ่งเป็นบริษัทยาใหญ่ที่สุดของสหรัฐ และไบโอเอ็นเทค ซึ่งเป็นบริษัทยาของเยอรมนี เปิดเผยก่อนหน้านี้ว่า ผลการทดลองบ่งชี้ว่า วัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ซึ่งบริษัททั้งสองพัฒนาร่วมกัน มีประสิทธิภาพมากกว่า 90% ในการป้องกันไวรัสโควิด-19
เทียบกับวัคซีนต้านไวรัสตัวอื่น
ก่อนหน้านี้ นักวิทยาศาสตร์คาดหวังว่าวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 จะมีประสิทธิภาพอย่างน้อย 75% ขณะที่นายแพทย์แอนโทนี ฟอซี ผู้อำนวยการสถาบันภูมิแพ้และโรคติดต่อแห่งชาติสหรัฐ และเป็นนายแพทย์ใหญ่ของคณะทำงานเฉพาะกิจด้านการควบคุมโรคโควิด-19 ของทำเนียบขาว เคยกล่าวว่า หากวัคซีนมีประสิทธิภาพ 50-60% ก็ถือว่ายอมรับได้
ผลการทดลองวัคซีนทั้งสองตัวนี้พบว่ามีประสิทธิภาพเกิน 90% ทั้งคู่ ซึ่งนับว่าสูงกว่าความคาดหวังมาก แล้วเคยมีวัคซีนต้านไวรัสอื่นๆ ตัวไหนบ้างที่มีประสิทธิภาพสูงเช่นนี้ โดยได้มีการพัฒนาสำเร็จจนฉีดให้คนทั่วโลกมาแล้วบ้าง
เว็บไซต์ Business Insider ได้รวบรวมตัวเลขประสิทธิภาพของวัคซีนต้านไวรัสต่างๆ เทียบกับวัคซีนต้านโควิด-19 ของไฟเซอร์และโมเดอร์นา ซึ่งปรากฏให้เห็นว่าวัคซีนต้านโควิด-19 ของไฟเซอร์และโมเดอร์นา มีประสิทธิภาพในระดับที่ใกล้เคียงกับวัคซีนอีสุกอีใส (92.0% เมื่อฉีด 2 โดส) วัคซีนป้องกันโรคหัด (97.0% เมื่อฉีด 2 โดส) และวัคซีนป้องกันโรคโปลิโอ (99.0% เมื่อฉีด 3-4 โดส)
ตัวเลขพวกนี้มาจากไหน
ทั่วโลกต่างคาดหวังว่า ผลการทดลองวัคซีนที่ปรากฏให้เห็นประสิทธิภาพมากเช่นนี้ จะทำให้การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ปิดฉากลงได้ภายในปีหน้า
ไฟเซอร์เป็นบริษัทยารายแรกที่ได้ประกาศผลการทดลองวัคซีนต้านโควิด-19 เมื่อวันที่ 9 พ.ย. ซึ่งปรากฏให้เห็นผลลัพธ์ที่ดีกว่าคาด และเป็นนิมิตหมายอันดีให้วัคซีนของบริษัทยารายอื่นๆ ด้วย
ไฟเซอร์และไบโอเอ็นเทคระบุในข่าวประชาสัมพันธ์ว่า โครงการทดลองนี้มีอาสาสมัครเข้าร่วม 43,538 ราย แบ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับวัคซีนของบริษัทจริงๆ อีกกลุ่มได้รับยาหลอก อาสาสมัครได้รับการฉีดวัคซีนคนละ 2 โดส โดสแรกและโดสที่สองฉีดห่างกัน 3 สัปดาห์
เมื่อฉีดโดสที่สองไปได้หนึ่งสัปดาห์ ผู้ทำการวิจัยได้ดำเนินการตรวจหาโรคโควิด-19 ในกลุ่มอาสาสมัครทั้งหมด พบว่าในจำนวนอาสาสมัครทั้งหมด 4 หมื่นกว่ารายนี้ พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั้งสิ้น 94 ราย แต่ไฟเซอร์และไบโอเอ็นเทคไม่ได้ชี้แจงละเอียดว่าในกลุ่ม 94 รายนั้นอยู่ในกลุ่มวัคซีนจริงกี่คนและอยู่ในกลุ่มวัคซีนหลอกกี่คน แต่บอกเพียงว่าเมื่อคำนวณแล้วพบว่าวัคซีนของบริษัทมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคโควิด-19 ได้เกิน 90%
สำหรับโครงการทดลองของโมเดอร์นา มีอาสาสมัครเข้าร่วมโครงการจำนวน 30,000 ราย ครึ่งหนึ่งได้รับยาจริง อีกครึ่งหนึ่งได้รับยาหลอก อาสาสมัครได้รับการฉีดยา 2 โดสเช่นกัน โดยแต่ละโดสฉีดห่างกัน 1 เดือน
เมื่อให้ยาครบ 2 โดสแล้ว ผู้ทำการวิจัยก็ได้ดำเนินการตรวจหาโรคโควิด-19 ในกลุ่มที่ได้รับยาหลอก 15,000 ราย โดยพบว่ากลุ่มนี้มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั้งสิ้น 90 ราย ส่วนกลุ่มที่ได้รับวัคซีนจริงๆ อีก 15,000 รายที่เหลือนั้นพบว่ามีผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพียง 5 ราย เมื่อคำนวณรวมกันแล้วจึงมีประสิทธิภาพในการป้องกันไวรัสโควิด-19 อยู่ที่ 94.5%
นอกจากนี้ โมเดอร์นายังไม่พบผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการร้ายแรงในกลุ่มที่ได้รับยาจริงด้วย เมื่อเทียบกับกลุ่มยาหลอกที่พบผู้ป่วยอาการร้ายแรงถึง 11 คน
อย่าเพิ่งดีใจ เพราะตัวเลขอาจลดลงกว่านี้ในระดับหนึ่ง
การที่ผลการทดลองวัคซีนทั้งสองตัวปรากฏให้เห็นประสิทธิภาพเกิน 90% ทั้งคู่นั้นเป็นเรื่องดี แต่ผลลัพธ์ที่ว่านี้ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นเท่านั้น โดยไฟเซอร์ประกาศว่าบริษัทจะรอให้ตรวจหาผู้ป่วยโควิด-19 ในกลุ่มอาสาสมัครให้ครบ 164 ราย หรืออีก 70 คน เพื่อให้ประเมินประสิทธิภาพของวัคซีนได้น่าเชื่อถือยิ่งขึ้น ซึ่งหากมีผู้ป่วยโรคโควิด-19 ในกลุ่มยาจริงเพิ่มขึ้นมากกว่ากลุ่มยาหลอกแล้ว ตัวเลข 90% ที่ว่านี้ก็จะลดลง
ในส่วนของเมเตอร์นานั้น การทดลองมีเกณฑ์ที่ค่อนข้างเข้มงวดว่าใครมีสิทธิเข้ารับการตรวจโรคโควิด-19 บ้าง ไม่ได้ตรวจหาโรคทั้ง 30,000 คน โดยคนที่จะเข้ารับการตรวจหาโรคได้ต้องแสดงอาการของโรคอย่างน้อย 2 อาการขึ้นไป เช่น มีไข้ ป่วย ปวดศีรษะ หรือไม่ก็ต้องมีอาการปอดบวม เท่ากับว่าคนที่ติดเชื้อโควิด-19 แต่ไม่แสดงอาการนั้นจะไม่ได้รับการตรวจหาโรคเลย ตัวเลข 94.5% ที่ว่านี้จึงอาจจะไม่ได้สะท้อนให้เห็นประสิทธิภาพจริงๆ อย่างไรก็ดี ผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่ไม่ได้แสดงอาการก็จะถูกพบในที่สุด เนื่องจากโมเดอร์นามีการตรวจหาแอนติบอดีซึ่งจะพบได้ก็ต่อเมื่อบุคคลนั้นเคยติดเชื้อมาแล้วเท่านั้น แต่ก็ต้องติดตามผลเป็นเวลานานกว่านี้
แต่ถึงอย่างนั้น ผู้เชี่ยวชาญหลายรายเห็นตรงกันว่า แม้ท้ายที่สุดตัวเลขประสิทธิภาพของวัคซีนจะลดลงจริงๆ เมื่อการทดลองเสร็จสิ้นอย่างสมบูรณ์ แต่ก็น่าจะเกิน 50% แน่นอน ซึ่งเป็นเกณฑ์ที่สำนักงานอาหารและยายอมรับได้เพื่ออนุมัติให้ใช้ในกรณีฉุกเฉิน
ความท้าทายจากการให้วัคซีน 2 โดส
วัคซีนของไฟเซอร์และโมเดอร์นาต้องให้ 2 โดสทั้งคู่ เช่นเดียวกับวัคซีนต้านโควิด-19 ของบริษัทอื่นๆ ที่กำลังอยู่ระหว่างการวิจัยเช่นกัน ขณะที่การวิจัยของบริษัทจอห์นสันแอนด์จอห์นสันกำลังศึกษาประสิทธิภาพของการให้วัคซีนทั้งแบบ 1 โดส และ 2 โดส
การให้วัคซีนแบบ 2 โดสนั้นก่อให้เกิดความท้าทายในด้านซัพพลายเชนเพราะต้องใช้อุปกรณ์เครื่องมือมากขึ้น และยังต้องพยายามโน้มน้าวให้คนที่ฉีดโดสแรกไปแล้วกลับมาฉีดอีกรอบให้ครบ 2 โดส เพื่อให้วัคซีนทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด
ในด้านการจัดเก็บวัคซีนนั้น วัคซีนของโมเดอร์นาสามารถจัดเก็บในอุณหภูมิ 36-46 องศาฟาห์เรนไฮต์ ซึ่งเป็นอุณหภูมิในตู้เย็นมาตรฐานที่ใช้ในครัวเรือน และสามารถเก็บรักษาได้นาน 30 วัน และยังสามารถเก็บรักษาได้นานถึง 6 เดือน หากมีการจัดเก็บในอุณหภูมิ -4 องศาฟาห์เรนไฮต์
คุณสมบัติในการจัดเก็บวัคซีนของโมเดอร์นาถือว่าดีกว่าวัคซีนของไฟเซอร์ ซึ่งจำเป็นต้องจัดเก็บในอุณหภูมิ -94 องศาฟาห์เรนไฮต์ และหากย้ายไปเก็บในตู้เย็นมาตรฐานธรรมดาแล้ว วัคซีนจะอยู่ได้แค่ 5 วัน การจัดส่งวัคซีนของไฟเซอร์จากแหล่งผลิตไปถึงแขนผู้ป่วยจึงจำเป็นต้องใช้น้ำแข็งแห้ง เครื่องทำความเย็นแบบพิเศษ และกระบวนการจัดเก็บที่ต้องกวดขันอย่างเข้มงวด ทำให้การจัดจำหน่ายวัคซีนของไฟเซอร์ไปตามพื้นที่ชนบทและประเทศกำลังพัฒนาที่อาจมีระบบไฟฟ้าไม่ดีพอและอุปกรณ์จัดเก็บไม่ตรงตามเกณฑ์นั้นเป็นเรื่องท้าทาย
นอกจากนี้ ความท้าทายอีกอย่างหนึ่งคือ คนที่ได้รับวัคซีนโดสแรกไปแล้วอาจไม่กลับมาฉีดให้ครบ 2 โดส แม้จำเป็นต้องฉีดให้ครบก็ตาม ทำให้วัคซีนทำงานได้ไม่เต็มที่ ซึ่งเคยปรากฏให้เห็นตัวอย่างมาแล้วในงานวิจัยฉบับหนึ่ง โดยในการวิจัยนั้นได้ศึกษาเรื่องการฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัส HPV อันเป็นสาเหตุสำคัญในการเกิดมะเร็งปากมดลูกในกลุ่มผู้หญิงอายุน้อย ผลปรากฏว่า มีผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนไปแล้วไม่ถึง 1 ใน 3 ที่กลับมาฉีดอีก 2 โดสให้ครบ 3 โดส
ความระแวงอาจทำให้ความพยายามเปล่าประโยชน์
ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า แม้ทั่วโลกลุ้นให้มีคนผลิตวัคซีนโดยเร็ว แต่ก็มีคนอีกหลายๆ คนที่ออกตัวชัดเจนว่าจะไม่ฉีดแม้แต่โดสเดียว เนื่องจากยังมีความกังวลเรื่องเทคโนโลยี mRNA ที่ไฟเซอร์และโมเดอร์นาใช้ในการผลิตวัคซีน เพราะนอกจากจะเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ไม่เคยใช้ในวัคซีนป้องกันไวรัสอื่นๆ ที่อนุมัติให้ใช้งานจริงแล้ว วัคซีนดังกล่าวยังทดลองในระยะเวลาเร่งรัดเกินไปด้วย
วัคซีนของไฟเซอร์และโมเดอร์นาใช้รหัสพันธุกรรมโดยใช้เทคนิคที่เรียกว่า messenger RNA หรือ mRNA โดยเป็นนวัตกรรมล่าสุด แตกต่างจากวัคซีนทั่วไปที่เป็นโปรตีนหรือเชื้อโรคที่ถูกทำให้ตาย หลักการคือเพื่อ “ฝึก” ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายให้พร้อมรับมือ หากติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่จริงๆ ซึ่งเป็นเทคนิคใหม่ แต่ก็ไม่ใช่ว่าไม่เคยมีใครเคยศึกษามาก่อน เพราะที่ผ่านมาก็มีคนนำไปทดลองแล้ว แค่ยังไม่เสร็จสมบูรณ์
ผู้เชี่ยวชาญเปิดเผยว่า การที่วัคซีน mRNA ของไฟเซอร์และโมเดอร์นาให้ประสิทธิภาพสูงเหมือนกันนั้นน่าจะพอรับประกันประสิทธิภาพของเทคนิคนี้ได้ ทั้งยังทำให้บริษัทอื่นๆ เดินตามรอยได้ง่ายขึ้นด้วย … อย่างไรก็ดี ถึงแม้วัคซีนจะดีเลิศแค่ไหน แต่ถ้าปล่อยให้อยู่ในขวด ไม่มีใครยอมฉีดแล้ว ประสิทธิภาพกว่า 90% ที่ว่านี้ก็เหมือน 0% ดังนั้นรัฐบาลประเทศต่างๆ ต้องรับไม้ต่อจากบริษัทยาเหล่านี้ เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนทุกคนเต็มใจฉีดวัคซีนให้ได้
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 พ.ย. 63)
Tags: COVID-19, วัคซีน, วัคซีนต้านโควิด-19, โควิด-19, โมเดอร์นา อิงค์, ไบโอเอ็นเทค, ไฟเซอร์, ไฟเซอร์ อิงค์