น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติในหลักการร่างประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เกี่ยวกับมาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างในรัฐวิสาหกิจ โดยยกเลิกร่างประกาศเดิม 1 ฉบับ พร้อมใช้หลักเกณฑ์ใหม่ 2 ฉบับ รวมเป็น 3 ฉบับ ได้แก่
- ร่างประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง ยกเลิกประกาศคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายค่ารักษาพยาบาล กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ค่าทำศพกรณีตาย อันมิใช่เนื่องจากการทำงาน ค่าช่วยเหลือบุตร และค่าช่วยเหลือการศึกษาของบุตร
- ร่างประกาศฯ เรื่องหลักเกณฑ์การจ่ายค่ารักษาพยาบาลกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ค่าทำศพกรณีตาย อันมิใช่เนื่องจากการทำงาน
- ร่างประกาศฯ เรื่องหลักเกณฑ์การจ่ายค่าช่วยเหลือบุตร และค่าช่วยเหลือการศึกษาของบุตร
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า สำหรับร่างประกาศทั้ง 3 ฉบับ จะส่งผลให้พนักงานรัฐวิสาหกิจรวม 306,887 คน ได้รับการคุ้มครองในเรื่องของการดำเนินการกรณีผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต เพื่อรองรับการจ่ายเงินคืนแก่สถานพยาบาลได้โดยเร็ว โดยระหว่างปี 2559-2563 มีพนักงานรัฐวิสาหกิจใช้สิทธิเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตรวม 1,119 คน คิดเป็นเงินค่ารักษาพยาบาลที่ค้างจ่ายต่อสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และโรงพยาบาลเอกชนจำนวน 32,966,400 บาท
ขณะเดียวกัน ลูกจ้างยังได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้นจากเดิม เช่น เพิ่มสิทธิในการได้รับค่าใช้จ่ายเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพและการป้องกันโรค และค่าใช้จ่ายเพื่อการตวจสุขภาพ และปรับอัตราสิทธิในการได้รับค่ารักษาพยาบาลในสถานพยาบาลของเอกชนประเภทผู้ป่วยในให้สูงขึ้น รวมทั้งกำหนดให้ลูกจ้างสามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลโดยใช้ระบบการเบิกจ่ายตรงได้ด้วย และได้ปรับอัตราจ่ายค่าทำศพจากประกาศเดิมให้เหมาะสมกับสภาวการณ์ด้านเศรษฐกิจในปัจจุบัน
ขณะเดียวกัน ยังได้ปรับอัตราเงินช่วยเหลือบุตรจากเดือนละ 50 บาท เป็นเดือนละ 200 บาท และเพิ่มสิทธิการเบิกค่าช่วยเหลือการศึกษาของบุตรให้รวมถึงการศึกษาในระดับปริญญาตรีด้วย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 พ.ย. 63)
Tags: ครม., รัฐวิสาหกิจ, ลูกจ้าง, สปสช., แรงงาน, ไตรศุลี ไตรสรณกุล