นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2564 กระทรวงการคลังมีแผนการออกพันธออมทรัพย์ วงเงินรวม 1 แสนล้านบาท โดยเบื้องต้นคาดว่าล็อตแรกจะดำเนินการได้ในช่วงหลังปีใหม่ วงเงิน 5 หมื่นล้านบาท ส่วนอัตราดอกเบี้ย ยังต้องรอดูแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบาย รวมถึงทิศทางตลาดด้วยว่าจะเป็นอย่างไร
โดยแผนการออกพันธบัตรออมทรัพย์ของกระทรวงการคลังในปีงบประมาณ 2563-2564 อยู่ที่ 9 หมื่นล้านบาท -1 แสนล้านบาท เนื่องจากมีสถานการณ์พิเศษจากการระบาดของโควิด-19 จากปกติกระทรวงการคลังมีแผนออกพันธบัตรออมทรัพย์เฉลี่ยปีละ 5 หมื่นล้านบาทเท่านั้น
“การออกพันธบัตรออมทรัพย์ ต้องดูเรื่องความต้องการใช้เงินของรัฐบาลด้วย ถ้าไม่มีความต้องการใช้ที่เห็นชัด ก็อาจจะยังไม่ออก แต่ถ้ามีความต้องการใช้เงิน พันธบัตรก็เป็นเครื่องมือหนึ่งที่สามารถระดมทุนได้เร็ว และประชาชนได้รับผลตอบแทนค่อนข้างดี ส่วนถามว่า 5 หมื่นล้านบาทที่จะออกนี้ จะอยู่ในส่วนของการกู้เงินเพื่อชดเชยขาดดุล หรือกู้ตาม พ.ร.ก. กู้โควิด-19 วงเงิน 1 ล้านล้านบาทนั้น ต้องไปดูว่าความต้องการใช้เงินมาจากส่วนไหนมากกว่า”
นางแพตริเซีย กล่าว
ผู้อำนวยการ สบน. กล่าวด้วยว่า ในปีงบประมาณ 2564 รัฐบาลยังมีช่องว่างในการกู้เงิน กรณีรายจ่ายสูงกว่ารายได้อยู่กว่า 1 แสนล้านบาท ซึ่งช่องว่างในการกู้เงินกรณีดังกล่าวนั้น เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดอยู่แล้วว่าสามารถทำได้ โดยกฎหมายกำหนดว่า กระทรวงการคลังสามารถกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณได้ 20% ของงบประมาณรายจ่าย บวกกับ 80% ของงบชำระคืนต้นเงินกู้ ซึ่งจะมีวงเงินอยู่ประมาณ 7 แสนกว่าล้านบาท เป็นการกู้เพื่อชดเชยขาดดุล ภายใต้ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี ประมาณ 6 แสนกว่าล้านบาท จึงยังเหลือช่องว่างอีกประมาณ 1 แสนกว่าล้านบาทดังกล่าว
ทั้งนี้ หากรัฐบาลมีความต้องการใช้เงินมากกว่านั้น จะต้องมีการตรากฎหมายพิเศษเป็นพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) เพื่อขอกู้เงิน ซึ่งเรื่องนี้ต้องขึ้นอยู่กับฝ่ายนโยบาย แต่ที่ผ่านมา ยังไม่เคยมีการตรากฎหมายพิเศษเพื่อกู้เงินชดเชยการขาดดุลเพิ่มเติม เคยมีแค่การจัดทำงบกลางเพิ่มเติมเท่านั้น พร้อมยอมรับว่าการตรากฎหมายพิเศษต้องพิจารณารายละเอียดในภาพรวม ความจำเป็น รวมถึงวงเงินที่มีอยู่ในปัจจุบันประกอบด้วย
“ถ้าถามว่า ตอนนี้รัฐบาลยังมีช่องว่างในการกู้เงินกรณีรายจ่ายสูงกว่ารายได้ไหม ในแง่ของกฎหมายแล้ว ยืนยันว่ายังมี ส่วนจะกู้หรือไม่ ทั้งหมดต้องดูที่นโยบาย ตอนนี้ยังเร็วเกินไปที่จะพูด โดยหากดูภาพรวมของเศรษฐกิจที่ตอนนี้โตกลับมาเติบโตได้ดี ก็อาจจะเป็นไปได้ว่าผลการจัดเก็บรายได้จากภาษีก็อาจจะดีกว่าที่คาดการณ์ ดังนั้นการกู้เงินกรณีรายจ่ายสูงกว่ารายได้จะจำเป็นหรือไม่ คงพูดไม่ได้ในตอนนี้ เพราะยังเร็วเกินไปที่จะตอบเรื่องนี้”
นางแพตริเซีย กล่าว
โดยในส่วนของ สบน.เอง ต้องรอดูความชัดเจนในภาพรวมการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลไตรมาส 4 ปีงบประมาณ 2564 ก่อน เพราะ สบน. จะเป็นหน่วยงานด่านสุดท้ายของภาครัฐที่จะดำเนินการกู้เงิน หากกรณีรายได้ของรัฐบาลไม่เข้าตามเป้าหมาย จึงค่อยเดินหน้ากู้เงินกรณีรายจ่ายสูงกว่ารายได้
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 พ.ย. 63)
Tags: กระทรวงการคลัง, พันธบัตรออมทรัพย์, สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ, แพตริเซีย มงคลวนิช