แจง 9 เดือนขาดทุนอ่วม
บมจ. สายการบินนกแอร์ (NOK) ได้นำส่งงบการเงินรวม สิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย.63 ซึ่งผู้สอบบัญชีไม่สามารถแสดงความเห็นต่องบการเงินฉบับดังกล่าวได้นั้น บริษัทฯ ชี้แจงเพิ่มเติมว่า สาเหตุที่ผู้สอบบัญชีไม่สามารถแสดงความเห็นต่องบการเงินฉบับดังกล่าวได้นั้น เป็นผลมาจากสถานการณ์ที่บริษัทได้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการเมื่อวันที่ 30 ก.ค.63 อันเนื่องมาจากการได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด -19 ที่มีผลต่อธุรกิจสายการบินทั่วโลกอย่างมาก
และบริษัทอยู่ระหว่างการพิจารณาจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการฯ ซึ่งจะเป็นกระบวนการในการปรับปรุงแผนการดำเนินการให้สามารถเกิดความต่อเนื่องของธุรกิจต่อไป โดยจะขึ้นอยู่กับการได้อนุมัติแผน และดำเนินการตามแผนต่อไป สถานการณ์ดังกล่าวนี้แสดงถึงความไม่แน่นอนที่มีสาระสำคัญ อาจเป็นเหตุให้เกิดข้อสงสัยอย่างมีนัยสำคัญเกี่ยวกับความสามารถของบริษัทที่จะดำเนินการอย่างต่อเนื่อง
NOK ได้รายงานผลประกอบการสำหรับงวด 9 เดือนแรกของปี 63 บริษัทและบริษัทย่อยมีผลขาดทุนเบ็ดเสร็จ 2,598.71 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีผลขาดทุนเบ็ดเสร็จ 2,280.91 ล้านบาท โดยมีขาดทุนส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นของบริษัทใหญ่จำนวน 3,935.96 ล้านบาท เปรียบเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนหน้าที่มีผลขาดทุนจำนวน 1,634.97 ล้านบาท
บริษัทมีรายได้รวม 4,827.74 ล้านบาท ลดลง 47.68% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็นรายได้จากค่าโดยสาร 4,163.03 ล้านบาท คิดเป็น 86.23% ของรายได้รวม รายได้จากการให้บริการ 599.07 ล้านบาท คิดเป็น 12.41% ของรายได้รวมและรายได้อื่น 65.64 ล้านบาท คิดเป็น 1.36% ของรายได้รวม ส่วนรายได้ต่อปริมาณการผลิตผู้โดยสาร (RASK) เท่ากับ 1.77 บาท/ที่นั่ง-กม.ลดลง 7.33% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร (ASK) เท่ากับ 2,607 ล้านที่นั่ง-กม. ลดลง 44.79%
รายได้จากค่าโดยสารลดลง 49.08% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 ส่งผลให้บริษัทหยุดเที่ยวบินระหว่างประเทศชั่วคราว รวมถึงจำนวนผู้โดยสารและจำนวนเที่ยวบินภายในประเทศบางเส้นทางลดลงอย่างมีนัยสำคัญตามจำนวนผู้โดยสารที่ลดลง ส่งผลให้อัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) ลดลงจาก 87.31% เหลือ 71.57% หรือลดลง 18.03 จุด และจำนวนเที่ยวบินลดลงจาก 46,073 เที่ยวบิน เหลือเพียง 26,902 เที่ยวบิน หรือลดลง 41.61%
นอกจากนั้นอัตราการใช้เครื่องบินต่อลำยังลดลงจาก 9.74 ชั่วโมงปฏิบัติการต่อวัน เป็น 5.31 ชั่วโมงปฏิบัติการต่อวันเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือลดลง 45.48%
ทั้งนี้ ในไตรมาส 3/63 จำนวนเที่ยวบินภายในประเทศเริ่มปรับตัวสูงขึ้นจากไตรมาส 2/63 อย่างมีนัยสำคัญ แต่การแข่งขันในเรื่องราคาค่าตั๋วเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน เนื่องจากผู้ประกอบการสายการบินทุกสายการบินถูกจำกัดการบินเพียงภายในประเทศ อันเป็นผลให้ราคาค่าตั๋วและอัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสารลดลง
ขณะที่งวด 9 เดือนปี 63 ต้นทุนค่าโดยสารและการให้บริการจำนวน 5,603.64 ล้านบาท ลดลง 43.31% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สาเหตุหลักมาจากจำนวนเที่ยวบินที่ลดลงจากการทยอยยกเลิกเที่ยวบิน รวมถึงต้นทุนค่าน้ำมันอากาศยานที่ลดลงส่งผลให้บริษัทมีต้นทุนเชื้อเพลิงอยู่ที่ 1,166.87 ล้านบาท ลดลง 62.01% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนโดยต้นทุนน้ำมันต่อหน่วย (Fuel/ASK) ลดลงจาก 0.65 บาท/ที่นั่ง-กม. เป็น 0.44 บาท/ที่นั่ง-กม. หรือลดลง 32.31% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน
ส่วนค่าใช้จ่ายในการบริหาร 3,207.73 ล้านบาท เพิ่มขึ้นอย่างมาก เนื่องจากการรับรู้ผลขาดทุนที่ยังไม่เกิดขึ้นจากอัตราแลกเปลี่ยน จากการนำมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 16 เรื่องสัญญาเช่ามาใช้ เป็นยอดเงิน 656.11 ล้านบาท และการตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญหรือผลขาดทุนที่คาดว่าจะเกิด ตามมาตรฐานรายงานทางการเงินฉบับที่ 9 เป็นยอดเงิน 1,446.02 ล้านบาท และ บริษัทมีต้นทุนทางการเงิน 625.56 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนอย่างมีนัยสาคัญ เนื่องจากการรับรู้ดอกเบี้ยของสิทธิการใช้เครื่องบินที่เพิ่มขึ้น [Interest from Right of Use – Aircraft and Office] จากการบันทึกรายการตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 16
จากปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้งวด 9 เดือนปี 63 บริษัทมีค่าใช้จ่ายรวม 9,473.19 ล้านบาท ลดลง 10.74% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ในขณะเดียวกันหากไม่รวมผลกระทบจากการนามาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 16 ผลขาดทุนการดำเนินงานของบริษัท สายการบินนกสกู๊ต จำกัด และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานปกติ งวด 9 เดือนปี 63 ต้นทุนต่อปริมาณผู้โดยสารของบริษัทเพิ่มขึ้นจาก 2.17 เป็น 2.48 บาท/ที่นั่ง-กม. เพิ่มขึ้น 14.29% และต้นทุนต่อปริมาณการผลิตผู้โดยสารที่ไม่รวมค่าใช้จ่ายเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นจาก 1.52 เป็น 2.04 บาท/ที่นั่ง-กม. หรือเพิ่มขึ้น 34.21% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
นอกจากนี้ NOK แจ้งว่านายประเวช องอาจสิทธิกุล ได้ขอลาออกจากการดำรงตำแหน่งกรรมการบริษัท และประธานคณะกรรมการบริหาร โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 13 พ.ย.63 เป็นต้นไป
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 พ.ย. 63)
Tags: NOK, นกแอร์, ผลประกอบการ, สายการบิน, สายการบินนกแอร์