สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า สื่อสหรัฐหลายแห่งมองว่า ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นใหม่นี้ จะยกระดับความสัมพันธ์ทางการค้าในเอเชียแปซิฟิก และกระตุ้นเศรษฐกิจในภูมิภาค
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ความตกลง RCEP มีเป้าหมายเพื่อลดภาษีนำเข้า เสริมแกร่งห่วงโซ่อุปทานโดยใช้กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้าเดียวกัน และจัดระเบียบอีคอมเมิร์ซให้เป็นระบบ
รายงานข่าวระบุว่า ความตกลง RCEP นั้นมีขอบข่ายกว้าง ครอบคลุมเศรษฐกิจและสินค้าหลายประเภท โดยข้อตกลงดังกล่าวเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยากในช่วงเวลาที่หลายประเทศเลือกที่จะปกป้องตัวเองมากกว่า
ข้อตกลงการค้าดังกล่าวจะทยอยเลิกเก็บภาษีนำเข้าระหว่างประเทศคู่สัญญาเป็นระยะๆ จนเลิกไป 90% และจัดตั้งระเบียบร่วมกันในการดูแลอีคอมเมิร์ซ การค้า และทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งจะยกระดับการลงทุน บูรณาการห่วงโซ่อุตสาหกรรมและห่วงโซ่อุปทาน ปกป้องนักลงทุน และอำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายสินค้า เงินทุน และมนุษย์ทั่วภูมิภาค
ด้านเดอะวอลล์สตรีทเจอร์นัล รายงานว่า ข้อตกลง RCEP จะทำให้ประเทศสมาชิกใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น โดยข้อตกลงนี้แสดงให้เห็นความมุ่งมั่นของจีนในการเชื่อมโยงตลาดจีนเข้ากับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งหลายๆ ประเทศมีจีนเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งอยู่แล้ว
เดอะวอลล์สตรีทเจอร์นัล รายงานว่า ทุกวันนี้แม้แต่ประเทศที่ทำข้อตกลงการค้าระดับทวิภาคีด้วยกันเองก็กลับเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าสำเร็จรูปสูงมาก เช่น โทรทัศน์ หากวัตถุดิบที่นำมาผลิตนั้นมาจากประเทศที่สามเป็นจำนวนมาก
เดอะวอลล์สตรีท เจอร์นัล ระบุว่า ข้อตกลง RCEP จะเปิดโอกาสให้บริษัทต่างๆ จัดหาวัตถุดิบภายในกลุ่มสมาชิก RCEP ด้วยกันเอง โดยผลิตภัณฑ์ขั้นสุดท้ายที่ออกมานั้นจะถูกเก็บภาษีนำเข้าน้อยมากหรือไม่เก็บเลย
ทั้งนี้ ข้อตกลงดังกล่าวมีการลงนามอย่างเป็นทางการเมื่อวานนี้ หลังจากที่เจรจามาถึง 8 ปี โดยเป็นข้อตกลงการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก ครอบคลุมประชากร 2.2 พันล้านคน หรือเกือบ 30% ของประชากรทั้งโลก ทั้งยังมีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) รวมกันถึง 26.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 30% ของ GDP โลก
สมาชิก RCEP ประกอบด้วยกลุ่มสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ซึ่งมีสมาชิก 10 ประเทศ และคู่เจรจา 5 ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ โดยอินเดียเคยเข้าร่วมการเจรจา RCEP ในช่วงแรก แต่ต่อมาได้ถอนตัวออก เนื่องจากมีความกังวลว่า RCEP อาจทำให้ยอดขาดดุลการค้ากับจีนเพิ่มขึ้น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 พ.ย. 63)
Tags: RCEP, ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค, สหรัฐ, เศรษฐกิจสหรัฐ