- ศบค.สรุปยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในไทย วันนี้ (11.00 น.)
- ผู้ติดเชื้อสะสม 3,874 คน (+8)
- เป็นผู้ติดเชื้อในประเทศ = 0 ราย
- เป็นผู้ติดเชื้อจากต่างประเทศอยู่ในสถานกักกันที่รัฐจัดให้ (State Quarantine) = 8 ราย
- เป็นผู้เดินทางจากต่างประเทศ = 0 ราย
- รักษาหายแล้ว 3,715 คน (+8)
- ผู้ป่วยรักษาอยู่โรงพยาบาล 99 คน (+0)
- เสียชีวิตสะสม 60 คน (+0)
ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้ว่า พบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 8 ราย เป็นผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศและเข้าสถานกักกัน (Quarantine Facilities) โดยมาจากเบลเยียม 1 ราย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 1 ราย อียิปต์ 2 ราย อินเดีย 3 ราย และสวิตเซอร์แลนด์ 1 ราย
สำหรับจำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสมในประเทศล่าสุดอยู่ที่ 3,874 ราย เป็นผู้ป่วยที่ติดเชื้อภายในประเทศ 2,453 ราย และผู้ป่วยที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 1,421 ราย ส่วนผู้ป่วยรักษาหายแล้วเพิ่มอีก 8 ราย รวมเป็น 3,715 ราย ยังมีผู้ป่วยรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 99 ราย ยอดผู้เสียชีวิตสะสมที่ 60 ราย
ด้านรายละเอียดของผู้ปวยรายใหม่ทั้ง 8 ราย โดยรายแรกเดินทางมาจากเบลเยียม เพศหญิง สัญชาติไทย อายุ 39 ปี เป็นแม่บ้าน เดินมาถึงเมื่อวันที่ 31 ต.ค. เข้าพัก State Quarantine กรุงเทพฯ ตรวจหาเชื้อเมื่อวันที่ 4 พ.ย. (วันที่ 4) ผลไม่พบเชื้อ ตรวจอีกครั้งในวันที่ 12 พ.ย. (วันที่ 12) พบเชื้อ มีอาการแสบจมูก เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเอกชน
รายที่ 2 เดินทางมาจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เพศหญิง สัญชาติไทย อายุ 37 ปี เป็นแม่บ้าน เดินทางมาถึงเมื่อวันที่ 1 พ.ย. เข้าพัก State Quarantine ชลบุรี ตรวจหาเชื้อเมื่อวันที่ 4 พ.ย. (วันที่ 3) ไม่พบเชื้อ ตรวจอีกครั้งในวันที่ 13 พ.ย. (วันที่ 12) พบเชื้อ ไม่มีอาการ เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลบางละมุง
รายที่ 3 และ 4 เดินทางมาจากอียิปต์ มาถึงไทยเมื่อวันที่ 5 พ.ย. เข้าพัก Alternative State Quarantine (ASQ) สมุทรปราการ โดยหนึ่งราย เป็นเพศชาย สัญชาติอียิปต์ อายุ 47 ปี อาชีพนักธุรกิจ ตรวจหาเชื้อเมื่อวันที่ 10 พ.ย. (วันที่ 5) ผลพบเชื้อ ไม่มีอาการ ส่วนอีกราย เป็นเพศหญิง สัญญาติไทย อายุ 36 ปี เป็นแม่บ้าน ตรวจหาเชื้อเมื่อวันที่ 10 พ.ย. (วันที่ 5) ผลพบเชื้อ จมูกไม่ได้กลิ่น โดยทั้งสองรายเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลสมุทรปราการ
รายที่ 5-7 เดินทางมาจากอินเดีย มาถึงไทยเมื่อวันที่ 7 พ.ย. เข้าพัก Alternative State Quarantine กรุงเทพฯ โดยรายแรก เป็นเพศชาย สัญชาติอินเดีย อายุ 45 ปี อาชีพ ธุรกิจส่วนตัว รายที่สอง เป็นเพศชาย สัญชาติอินเดีย อายุ 45 ปี อาชีพ รับจ้าง และรายที่สาม เป็นเพศหญิง สัญชาติอินเดีย อายุ 46 ปี เป็นแม่บ้าน ซึ่งทั้งหมดตรวจหาเชื้อเมื่อวันที่ 12 พ.ย. (วันที่ 5) ผลพบเชื้อ ไม่มีอาการ เข้าพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลเอกชน
รายที่ 8 เดินทางมาจากสวิสเซอร์แลนด์ เพศหญิง สัญชาติไทย อายุ 35 ปี เป็นแม่บ้าน เดินทางมาถึงไทยเมื่อวันที่ 8 พ.ย. เข้าพัก Alternative State Quarantine กรุงเทพฯ ตรวจหาเชื้อเมื่อวันที่ 13 พ.ย. (วันที่ 5) ผลพบเชื้อ ไม่มีอาการ เข้าพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลเอกชน
สำหรับสถานการณ์การระบาดทั่วโลกวันนี้ มียอดผู้ติดเชื้อรวมอยู่ที่ 54,318,729 ราย ยอดผู้เสียชีวิตรวม 1,318,038 ราย โดยประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด 5 อันดับแรก สหรัฐอเมริกา 11,226,038 ราย อินเดีย 8,814,902 ราย บราซิล 5,848,959 ราย ฝรั่งเศส 1,954,599 ราย และรัสเซีย 1,903,253 ราย ส่วนประเทศไทย อยู่อันดับที่ 151
นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั่วโลกวันนี้ ยังคงมีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง 575,576 ราย ในรอบ 24 ชั่วโมง ทำให้มีผู้ติดเชื้อสะสมทั่วโลกแล้วกว่า 54 ล้านราย จึงต้องระวังตนเอง ไม่ประมาท การ์ดไม่ตก สำหรับประเทศที่มีผู้ป่วยรายใหม่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นรวดเร็ว ได้แก่ สหรัฐอเมริกา อินเดีย และอิตาลี สำหรับประเทศไทยยังคงควบคุมสถานการณ์โรคโควิด-19 ได้ดี อยู่ในอันดับที่ 151 ของโลก
สำหรับวันที่ 14 พ.ย.ที่ผ่านเป็นวันเบาหวานโลก สหประชาชาติได้ออกมาเตือนว่า ผู้ป่วยโรคเบาหวานมีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้นต่อการติดเชื้อและเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 เช่นเดียวกันกับ ผลการวิจัยของหน่วยงานสาธารณสุขของสหราชอาณาจักร Public Health England (PHE) ที่พบว่า คนที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้มีแนวโน้มที่จะเสียชีวิตด้วยโรคโควิด-19 มากกว่าบุคคลอื่น โดยจะมีอัตราการเสียชีวิต 451 คนต่อประชากร 100,000 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 21 มี.ค.-5 มิ.ย.63) ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้บางประเภท เช่น ดาวน์ซินโดรม จะมีปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ร่วมด้วย อาทิ โรคอ้วน โรคเบาหวาน จึงทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อทางเดินหายใจได้มากขึ้น รวมถึงกลุ่มผู้สูงอายุ และกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรังอื่นๆ ด้วย ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยง หากติดเชื้อโควิด-19 จะมีโอกาสที่อาการรุนแรงและเสียชีวิตได้มากกว่ากลุ่มวัยรุ่น วัยทำงาน
ทั้งนี้ ขอให้ผู้ดูแลผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง ดูแลเอาใส่ใจสุขอนามัยส่วนบุคคลอย่างใกล้ชิด เมื่อมีความจำเป็นต้องออกไปข้างนอก ต้องสวมหน้ากากผ้า/หน้ากากอนามัย ตลอดเวลา โดยสวมอย่างถูกวิธีซึ่งหน้ากากจะต้องครอบบริเวณจมูกและปากอย่างมิดชิด ไม่ไว้ใต้คาง หลีกเลี่ยงการไปอยู่ในพื้นที่แออัด หรือมีคนจำนวนมาก หมั่นล้างมือบ่อย ๆ และเมื่อกลับเข้าบ้านควรรีบอาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้าทันที และช่วงนี้เข้าสู่ฤดูหนาวแล้ว โอกาสเจ็บป่วยเป็นไข้หวัด หรือโรคระบบทางเดินหายใจได้ง่าย ขอให้ดูแลสุขภาพกลุ่มเสี่ยงและตนเองให้แข็งแรง โดยการรักษาความอบอุ่นของร่างกาย สวมเสื้อผ้าหนา ๆ พักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และครบ 5 หมู่ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ แต่หากพบว่าป่วยเป็นไข้หวัดหรือระบบทางเดินหายใจ ให้สวมหน้ากากอนามัย ไม่คลุกคลีและไม่ใช้ของร่วมกับผู้อื่น เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อสู่คนรอบข้าง นอกจากนี้ยังช่วยป้องกันโรคระบบทางเดินหายใจและโรคโควิด-19 ได้อีกด้วย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 พ.ย. 63)
Tags: COVID-19, ศบค., โควิด-19, โสภณ เอี่ยมศิริถาวร