นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า แนวโน้มของปริมาณฝุ่นละอองเพิ่มขึ้นหลายพื้นที่จากปัจจัยต่าง ๆ ทั้งการคมนาคม อุตสาหกรรม การเผาในที่โล่ง หมอกควันข้ามแดน และสภาพอุตุนิยมวิทยา ซึ่งสถานการณ์ในปี 2562 พบปริมาณ PM2.5 สูงสุดเท่ากับ 366 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และจำนวนวันที่เกินมาตรฐานสูงถึง 85 วัน ในพื้นที่ภาคเหนือ
ทั้งนี้ แนวโน้มสถานการณ์ปี 2563 ในเดือนพฤศจิกายนเริ่มมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยคาดว่าปริมาณ PM2.5 อาจสูงเกินค่ามาตรฐานในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน และส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัวได้ กรมอนามัยจึงได้จัดประชุมทางไกลเพื่อเตรียมความพร้อมการเปิด “ศูนย์ปฏิบัติการเฉพาะกิจตอบโต้ภาวะฉุกเฉินด้านการป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพ กรณีหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก” และซักซ้อมความพร้อมในการปฏิบัติการในระดับพื้นที่ ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค
โดยเฉพาะในพื้นที่ส่วนภาคกลางที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบก่อน คือ พื้นที่รับผิดชอบของศูนย์อนามัยที่ 4 สระบุรี ศูนย์อนามัยที่ 5 ราชบุรี ศูนย์อนามัยที่ 6 ชลบุรี และสถาบันพัฒนาสุขภาวะเขตเมือง ต้องเร่งดำเนินการเฝ้าระวังสถานการณ์และการสื่อสาร สร้างความรอบรู้แก่ประชาชน
ทั้งนี้ กรมอนามัยทั้งส่วนกลางและศูนย์อนามัยที่รับผิดชอบดูแลพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมถึงภาคเหนือได้เปิดศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินฯ เพื่อติดตาม เฝ้าระวังสถานการณ์และเตรียมความพร้อมในการดูแลสุขภาพประชาชน โดยเฉพาะในสถานที่สำคัญที่มีกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ โรงเรียน ศูนย์เด็กเล็ก สถานที่ดูแลผู้สูงอายุ เป็นต้น
พร้อมทั้งเร่งสื่อสารสร้างความรู้ ความเข้าใจแก่ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงให้ทราบถึงสถานการณ์และการปฏิบัติตนในการป้องกันตนเอง และบูรณาการการดำเนินงานในส่วนกลางและภูมิภาคร่วมกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้ง ยกระดับการดำเนินงานตามความรุนแรงของสถานการณ์ในแต่ละวัน เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนในการคุ้มครองสุขภาพจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ต่อไป
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 พ.ย. 63)
Tags: กรมอนามัย, ฝุ่น PM 2.5, ฝุ่นพิษ, ฝุ่นละออง, สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย