นายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. ราช กรุ๊ป (RATCH) กล่าวว่า บริษัทวางเป้าหมายปี 64 เบื้องต้นใช้งบลงทุนราว 10,000-15,000 ล้านบาท รองรับการหากำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่ในมืออีกราว 700 เมกะวัตต์ (MW) และการพัฒนาโครงการกำลังผลิตไฟฟ้าที่มีอยู่ในมือเดิม
ซึ่งจะมีส่วนผลักดันให้มีกำลังการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 10,000 เมกะวัตต์ (MW) ในปี 68 จากปีนี้ที่มีเป้าหมายราว 8,700 เมกะวัตต์ โดยมั่นใจว่าจะทำได้ตามเป้า หลังอยู่ระหว่างเจรจาร่วมทุนอีก 5 โครงการในต่างประเทศ รวมกำลังการผลิตประมาณ 500-600 เมกะวัตต์ คาดว่าจะดำเนินการได้สำเร็จในปีนี้ ซึ่งจะทำให้ทั้งปีนี้มีกำลังผลิตในมือเพิ่มขึ้นราว 740-840 เมกะวัตต์ตามแผนงาน หลังจากที่ตั้งแต่ต้นปีทำได้แล้ว 243 เมกะวัตต์
ขณะที่แนวโน้มผลการดำเนินงานในปี 64 ยังมีทิศทางที่ดี จากการที่มีกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่เดินเครื่องผลิตเชิงพาณิชย์ (COD) รวมประมาณ 376 เมกะวัตต์ ซึ่งมาจากโครงการพลังงานลมคอลเลกเตอร์ Collector ในออสเตรเลีย ที่จะเริ่ม COD ในไตรมาส 1/64 , โรงไฟฟ้าพลังงานลม Thanh Phong ในเวียดนาม ที่จะเริ่ม COD ในราวเดือนต.ค.64 และโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม Riau ในอินโดนีเซีย โดยยังไม่นับรวมกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่ที่อยู่ระหว่างมองหาในปีหน้าอีกราว 700 เมกะวัตต์ ในส่วนนี้ราวครึ่งหนึ่งจะมาจากการซื้อกิจการ (M&A) ในโครงการที่ผลิตอยู่แล้วก็จะทำให้สามารถรับรู้รายได้เข้ามาทันที ขณะที่ยังมีต้นทุนทางการเงินลดลงจากการกรีนบอนด์ที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำด้วย
ในปีนี้บริษัทจัดสรรงบลงทุนจำนวน 15,000 ล้านบาทสำหรับโครงการเดิม และโครงการใหม่ จนถึงปัจจุบันเงินลงทุนที่ใช้ไปแล้วจำนวน 10,150 ล้านบาท โดยเป็นการลงทุนใน 6 โครงการเดิม เป็นเงิน 4,005 ล้านบาท และ 4 โครงการใหม่ เป็นเงิน 6,145 ล้านบาท ขณะที่ยังคงเหลือวงเงินอีกราว 5,000 ล้านบาท ที่จะใช้สำหรับการลงทุนในโครงการเป้าหมายที่อยู่ระหว่างเจรจาร่วมทุนอีก 5 โครงการต่างประเทศดังกล่าว ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกวางจิ 1 ในเวียดนาม โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ 2 แห่ง โครงการโรงไฟฟ้าพลังลม 1 แห่ง และโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ 1 แห่ง ซึ่งอยู่ในภูมิภาคอาเซียน
ส่วนความก้าวหน้าของ 4 โครงการใหม่ดังกล่าว แบ่งเป็น
- โครงการลงทุนผ่านกองทุน An Binh Energy and Infrastructure Fund (ABEIF) ในเวียดนาม ที่มีการลงทุนใน 2 โครงการโรงไฟฟ้า ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังความร้อน Thang Long ซึ่งเริ่ม COD ตั้งแต่ปี 61 ทำให้สามารถรับรู้รายได้เข้ามาตั้งแต่ไตรมาส 3/63 และโรงไฟฟ้าพลังงานลม Thanh Phong เวียดนาม คาดว่าจะเริ่ม COD ในไตรมาส 4/64
- โรงไฟฟ้าเน็กส์ซิฟ เอ็นเนอร์จี จ.ระยอง กำลังผลิต 92 เมกะวัตต์ กำหนดเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ ไตรมาส 2/65 โดยจำหน่ายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) 90 เมกะวัตต์ ส่วนที่เหลือจำหน่ายให้กับลูกค้าอุตสาหกรรม
- โรงไฟฟ้าราชโคเจนเนอเรชั่น ส่วนขยาย จ.ปทุมธานี กำลังผลิต 30 เมกะวัตต์ เริ่ม COD ไตรมาส 3/65 และ
- โรงไฟฟ้า REN จ.นครราชสีมา กำลังผลิต 40 เมกะวัตต์ กำหนด COD ปี 66
ด้านความคืบหน้าโครงการโรงไฟฟ้าหินกอง ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดใหญ่ (IPP) ขนาด 1,400 เมกะวัตต์ ในจ.ราชบุรีนั้น ปัจจุบันอยู่ระหว่างจัดหาแหล่งเงินกู้ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงกลางปี 64 หลังจากนั้นจะเริ่มก่อสร้าง มีกำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในปี 67 และ 68
สำหรับธุรกิจระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องด้านพลังงาน บริษัทได้ร่วมลงทุน 10% ในโครงการ Operation and Maintenance โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) สายบางปะอิน-นครราชสีมา (M6) และสายบางใหญ่-กาญจนบุรี (M81) ซึ่งคาดว่าจะลงนามสัญญาสัมปทานได้ในเดือนธ.ค.นี้ อีกทั้งยังได้ร่วมทุนจัดตั้งโรงงานผลิตและจำหน่ายเชื้อเพลิงชีวมวลอัดแท่ง กำลังผลิต 60,000 ตัน/ปี ในสปป.ลาว เพื่อส่งออกจำหน่ายให้ลูกค้าอุตสาหกรรมญี่ปุ่นและเกาหลีใต้เป็นหลัก
“บริษัทประสบความสำเร็จในการออกหุ้นกู้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม วงเงิน 8,000 ล้านบาท อายุเฉลี่ย 11 ปี ดอกเบี้ยเฉลี่ย 2.45% โดยนำมาใช้ลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองและสายสีชมพู 1,300 ล้านบาท และโครงการพลังงานลม Collector และ Yandin ในออสเตรเลีย จำนวน 6,700 ล้านบาท ซึ่งไม่เพียงช่วยลดต้นทุนทางการเงินได้เท่านั้น แต่ยังเป็นแหล่งเงินทุนทางเลือกที่จะช่วยสนับสนุนเป้าหมายการลงทุนโครงการพลังงานทดแทนของบริษัท อีกทั้งยังขยายไปยังโครงการขนส่งที่สะอาด โครงการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และการบริหารจัดการของเสียด้วย”
นายกิจจา กล่าว
นายกิจจา กล่าวอีกว่า เป้าหมายการมีกำลังการผลิตไฟฟ้าในมือที่ระดับ 10,000 เมกะวัตต์ในปี 68 นั้น โดยในส่วนนี้จะเป็นพลังงานทดแทน 2,500 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันที่บริษัทมีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน 1,175 เมกะวัตต์ และยังให้ความสนใจลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนของภาครัฐด้วย แต่ยังต้องรอความชัดเจนของหลักเกณฑ์การเปิดให้ร่วมประมูลที่น่าจะมีออกมาในต้นปี 64 พร้อมกันนี้ยังให้ความสนใจลงทุนในระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องพลังงานทั้งในและต่างประเทศ เพิ่มเติมจากปัจจุบันที่มีอยู่ ทั้งในส่วนของโครงการมอเตอร์เวย์ ,การผลิตและจำหน่ายเชื้อเพลิงชีวมวลอัดแท่ง ในลาว ,โครงการให้บริการเช่าเส้นใยแก้วนำแสงในเส้นทางการจัดระเบียบสายสื่อสารของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เป็นต้น
ส่วนการที่บริษัทไม่ได้เข้าร่วมยื่นซองประมูลในโครงการถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ร่วมกับพันธมิตรชุดเดิมในนาม ของกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ (BSR) เนื่องจากติดขัดเรื่องความชัดเจนของการเป็นรัฐวิสาหกิจ หลังจากที่สำนักงานประกันสังคม ได้เข้ามาถือหุ้นในบริษัทเพิ่มจากราว 3% เป็นกว่า 5% และเมื่อรวมกับการถือหุ้นของกฟผ.ที่ระดับ 45% ทำให้สัดส่วนการถือหุ้นจากหน่วยงานรัฐมากกว่า 50% ทำให้อาจจะต้องแก้ไขปัญหาของความเป็นรัฐวิสาหกิจก่อน ซึ่งหากแก้ไขได้ก็คาดว่าจะเข้าร่วมดำเนินโครงการดังกล่าวหาก BSR เป็นผู้ชนะประมูล
ทั้งนี้ บริษัทคาดว่าในปี 68 สัดส่วนรายได้จากธุรกิจไฟฟ้าจะอยู่ที่ราว 90% ขณะที่สัดส่วนรายได้จากโครงสร้างพื้นฐานอยู่ที่ราว 10% จากปัจจุบันที่สัดส่วนรายได้จากโครงสร้างพื้นฐานไม่ถึง 10%
นางวดีรัตน์ เจริญคุปต์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่การเงิน ของ RATCH กล่าวว่า สำหรับเงินลงทุนในปีหน้าที่ราว 10,000-15,000 ล้านบาทนั้น ครึ่งหนึ่งจะมาจากกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน ส่วนที่เหลืออีกครึ่งเป็นการจัดหาแหล่งเงินกู้ ซึ่งอาจจะเป็นการออกหุ้นกู้ หรือการกู้ยืมจากสถาบันการ โดยต้องพิจารณาตามความเหมาะสมต่อไป ซึ่งเบื้องต้นหลังจากที่บริษัทได้ออกหุ้นกู้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม หรือตราสารหนี้สีเขียว (green bond) มูลค่ารวม 8,000 ล้านบาท ที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนล้นหลาม และมีอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยที่ต่ำมากทำให้สถาบันการเงินต่าง ๆ เข้ามานำเสนอแหล่งเงินที่ให้ต้นทุนต่ำใกล้เคียงกับที่บริษัทออกกรีนบอนด์ล่าสุด
ทั้งนี้ จากการที่บริษัทออกหุ้นกู้กรีนบอนด์ทำให้สามารถลดต้นทุนทางการเงินราว 1,000 ล้านบาท ตลอดช่วงอายุหุ้นกู้เฉลี่ย 11 ปี โดยคิดเป็นต้นทุนทางการเงินที่จะลดลงในปีหน้าราว 70 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยหนุนผลการดำเนินงานในปีหน้าด้วย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (13 พ.ย. 63)
Tags: RATCH, กิจจา ศรีพัฑฒางกุระ, ดีรัตน์ เจริญคุปต์, ราช กรุ๊ป, หุ้นไทย, โรงไฟฟ้า