นางเบญญาภรณ์ จารุจินดา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท. (PTT) เปิดเผยว่า การพัฒนาเมืองอัจฉริยะวังจันทร์วัลเลย์ บนพื้นที่ 3,454 ไร่ในจ.ระยอง ซึ่งแบ่งการพัฒนาเป็น 3 พื้นที่นั้น ในส่วนพื้นที่เพื่ออำนวยความสะดวก ที่พักอาศัย และสันทนาการ (Community Zone) คาดว่าจะเปิดให้ผู้ประกอบการเข้ามาร่วมประมูลพัฒนาพื้นที่ในปี 64 และคาดว่าจะพัฒนาแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการได้ในปี 65
สำหรับการพัฒนาพื้นที่ดังกล่าว เพื่อรองรับความเป็นอยู่ของนักวิจัยและครอบครัว นักเรียน นักศึกษา และผู้ประกอบการที่ทำงานในพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ ได้แก่ โรงเรียนนานาชาติ โรงแรมและที่พักอาศัย ศูนย์การค้าและนันทนาการ โดยมีพื้นที่ในเฟสแรกประมาณ 150 ไร่
“Community Mall มีส่วนสำคัญมากน่าจะเปิดภายในปี 65 เพราะเป็นส่วนอำนวยความสะดวกให้นักวิจัยและครอบครัวที่จะเข้ามาอยู่ ตอนนี้เราก็คุยกับบริษัทค้าปลีกหลายราย ก็เป็นเมืองใหม่เขาก็คงคิดเยอะอยู่เหมือนกัน เราคุยกับหลายรายทั้งเดอะ มอลล์ ,เซ็นทรัล ,ในเครือ ONE BANGKOK เราก็พยายามคุย เราก็จะเปิดเขิญชวนน่าจะประมาณปีหน้า รูปแบบก็ต้องเป็นอาคารสมัยใหม่ ลักษณะ Smart ทุกอย่างก็ต้องเป็น concept ของนวัตกรรม”นางเบญญาภรณ์ กล่าว
นางเบญญาภรณ์ กล่าวอีกว่า การพัฒนา Community Zone นับเป็น 1 ใน 3 พื้นที่ของวังจันทร์วัลเลย์ โดยการพัฒนาพื้นที่อีก 2 ส่วน ประกอบด้วย พื้นที่เพื่อการศึกษา (Education Zone) ปัจจุบันมีพื้นที่ที่พัฒนาแล้ว ได้แก่ สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) โรงเรียนกำเนิดวิทย์ (KVIS) และศูนย์เรียนรู้ป่าวังจันทร์
พื้นที่เพื่อการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม (Innovation Zone) ซึ่งจะพัฒนาเป็นศูนย์วิจัยพัฒนา นวัตกรรม หรือ Smart Innovation Platform เพื่อยกระดับความสามารถด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมแบบก้าวกระโดด ซึ่งปัจจุบันมีลูกค้าเริ่มทยอยเข้ามาเช่าใช้พื้นที่บ้างแล้ว
ทั้งในส่วนของ บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) เช่าพื้นที่เพื่อก่อสร้างศูนย์วิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (PTTEP Technology and Innovation Centre:PTIC) คาดว่าจะเสร็จปี 65 และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จะเริ่มก่อสร้างอาคารวิจัยและนวัตกรรม คาดว่าจะแล้วเสร็จในไตรมาส 3/64 รวมถึงบมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) เข้ามาใช้พื้นที่ทำโซลาร์ฟาร์ม ขนาด 0.5 เมกะวัตต์ คาดว่าจะแล้วเสร็จปี 65 เป็นต้น
ทั้งนี้ ในพื้นที่ Innovation Zone ทาง ปตท.ได้ตั้งศูนย์ข้อมูล (Data Center) ส่วนกลาง และอาคารศูนย์ปฎิบัติการอัจฉริยะ (Intelligent Operation Center:IOC) ซึ่งมีการวางโครงข่ายเขื่อมโยงกับระบบอัจฉริยะต่าง ๆ เพื่อบริหารจัดการเมืองพัฒนาอัจฉริยะได้อย่างมีประสิทธิภาพ และนำข้อมูลมาใช้วิเคราะห์ต่อยอดในเชิงธุรกิจ
ปัจจุบัน ปตท.ร่วมกับพันธมิตร เปิดพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ เพื่อรองรับ 5G Play Ground และ UAV (Unmanned Aerial Vehicle) Regulatory Sandbox ซึ่งเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยี 5G ให้พร้อมสำหรับการทดลอง ทดสอบนวัตกรรมต่าง ๆ รวมถึงการทดลอง ทดสอบ โดรน และระบบที่เกี่ยวข้อง
สำหรับการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานปัจจุบันมีความคืบหน้าอยู่ที่ประมาณ 95% คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในต้นปี 64 เพื่อรองรับการเปิดให้บริการแก่พันธมิตรและผู้สนใจในช่วงไตรมาส 3/64 โดยระหว่างนี้ ปตท.เร่งสร้าง Ecosystem ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เกี่ยวกับ New S-Curve แสวงหาพันธมิตรเพิ่มเติมโดยจะทำหน้าที่เป็น Enabler สร้างความร่วมมือในทุกรูปแบบกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนต่าง ๆ เพื่อร่วมกันพัฒนาให้พื้นที่สร้างงานทางด้านวิทยาศาสตร์ที่เหมาะสมต่อการพัฒนานวัตกรรมของประเทศ
“บริษัทเทคโนโลยีทุกแห่งที่เป็นยูนิคอร์นจะมีมูลค่าธุรกิจระดับพันล้านดอลลาร์ ในไทยยังไม่มีบริษัทไหนที่เติบโตเป็นยูนิคอร์นได้ เราหวังว่าที่นี่มีโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมด มีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ มีกลไกของรัฐที่ส่งเสริมให้เกิดอุตสาหกรรม น่าจะเป็นตัวผลักดันให้เกิดบริษัทที่น่าจะเติบโตเป็นยูนิคอร์นได้ในอนาคต อย่างน้อยใน 4-5 ปี คาดหวังว่าประเทศไทยที่ไม่มียูนิคอร์นก็อาจจะมียูนิคอร์นได้ในพื้นที่นี้”
นางเบญญาภรณ์ กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (12 พ.ย. 63)
Tags: PTT, ปตท., วังจันทร์วัลเลย์, เบญญาภรณ์ จารุจินดา