IRPC เผย Q3/63 พลิกกำไรหลัง GIM ฟื้น-Stock Gain เดินหน้าขยายกลุ่ม HVA

นายนพดล ปิ่นสุภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. ไออาร์พีซี (IRPC) เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานไตรมาส 3/63 IRPC มีกำไรขั้นต้นจากการผลิตตามราคาตลาด (Market GIM) อยู่ที่ 4,937 ล้านบาท (8.74 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล) เพิ่มขึ้น 6% จากการที่ส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์กลุ่มปิโตรเคมีปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ ABS ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มสไตรีนิคส์ ซึ่งได้รับปัจจัยสนับสนุนจากความต้องการสินค้าจากประเทศจีนปรับตัวสูงขึ้นแม้ว่าต้นทุน crude premium ปรับตัวสูงขึ้น และส่วนต่างราคากลุ่มปิโตรเลียมส่วนใหญ่ยังคงถูกกดดันอย่างต่อเนื่องจากผลกระทบของการแพร่ระบาดโควิด-19

การดำเนินงานในไตรมาส 3/63 ราคาน้ำมันดิบโดยเฉลี่ยปรับตัวสูงขึ้น เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนจากความร่วมมือในการลดกำลังการผลิตของกลุ่มผู้ผลิตในโอเปกและนอกกลุ่มโอเปก รวมถึงความต้องการบริโภคน้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้นจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ IRPC มีกำไรจากสต๊อกน้ำมันสุทธิรวม 3,770 ล้านบาท หรือ 6.67 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่งผลให้บริษัทมีกำไรขั้นต้นจากการผลิตทางบัญชี (Accounting GIM) จำนวน 8,707 ล้านบาท หรือ 15.41 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 3,949 ล้านบาท หรือ 83%

ดังนั้น จึงส่งผลให้ IRPC มีกำไรสุทธิ 1,556 ล้านบาทในไตรมาส 3/63 เทียบกับไตรมาสก่อนที่มีผลขาดทุนสุทธิ 411 ล้านบาท

สำหรับแนวโน้มราคาน้ำมันดิบในไตรมาส 4/63 คาดว่าจะทรงตัวอยู่ในระดับเดียวกับไตรมาส 3/63 โดยมีปัจจัยที่เป็นแรงผลักดันราคาจากการบริโภคน้ำมัน ที่คาดว่าจะสูงขึ้นในช่วงฤดูหนาวปลายปี คาดว่าจะหนาวกว่าปกติ และการที่กลุ่มโอเปกได้แสดงเจตนารมณ์ในการควบคุมการผลิตเพื่อรักษาสมดุลตลาด รวมถึงการลดลงของปริมาณการผลิตน้ำมันดิบที่อ่าวเม็กซิโก ซึ่งได้รับผลกระทบจากพายุ ส่งผลให้ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังของสหรัฐอเมริกาปรับตัวลดลง

อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัจจัยที่กดดันราคาจากการที่กลุ่มโรงกลั่นกลับมาเดินกำลังการผลิตหลังฤดูการหยุดซ่อมบำรุง การผ่อนคลายการควบคุมการผลิตของกลุ่มโอเปก การกลับมาส่งออกของประเทศลิเบียหลังจากสถานการณ์ความขัดแย้งภายในประเทศคลี่คลาย และการระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นในบางประเทศของยุโรป แม้ว่าจะมีความคืบหน้าในการพัฒนาวัคซีน แต่มีการประเมินว่ายังต้องใช้เวลาถึงกลางปี 64 จึงสามารถใช้งานได้

นายนพดล กล่าวต่อว่า ความต้องการผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีในไตรมาส 4/63 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการผ่อนคลายมาตรการ Lockdown ในบางประเทศ ทำให้โรงงานกลับมาผลิตสินค้าเพิ่มมากขึ้น รวมถึงการใช้พลาสติกสูงขึ้นตามพฤติกรรมการบริโภคในยุค New Normal และการ Stock เม็ดพลาสติกเพื่อผลิตสินค้าเพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลปลายปี ประกอบกับการหยุดซ่อมบำรุงของโรงงานปิโตรเคมีในภูมิภาคช่วงปลายปี ซึ่งทำให้อุปทานตึงตัว แม้ว่าอาจจะมีปัจจัยเสี่ยงจากการทยอยกลับมาผลิตของผู้ผลิตเดิมที่ต้นทุนสูงและหยุดซ่อมบำรุง รวมถึงกำลังการผลิตใหม่ที่จะมีเพิ่มขึ้น และการแพร่ระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19

“IRPC ยังคงเน้นการผลิตสินค้ากลุ่มที่มีมูลค่าเพิ่ม (HVA: High Value Added Products) สำหรับผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีโดยในปัจจุบันสัดส่วนการผลิตสินค้ากลุ่มผลิตภัณฑ์ชนิดพิเศษ (Specialty grade) อยู่ที่ 13% และมีเป้าหมายเพิ่มการผลิตสินค้ากลุ่มผลิตภัณฑ์ชนิดพิเศษ เป็น 30% ในปี 2567 โดยจะเน้นไปที่เม็ดพลาสติกเกรดที่ใช้สำหรับผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ และเม็ดพลาสติกชนิดความหนาแน่นสูงและทนทานมากกว่าโพลิเอทิลีนทั่วไป 10 เท่า หรือ UHMW-PE (Ultra High Molecular Weight Polyethylene) ที่นำไปใช้ในงานผลิตแผ่นกั้นแบตเตอรี่ (Battery separator) ข้อเข่าเทียม เชือกลากจูงเรือ เป็นต้น”

นายนพดล กล่าว

สำหรับความก้าวหน้าของโครงการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ “สวนโซลาร์ลอยน้ำ IRPC” ได้ดำเนินการแล้วเสร็จ มีกำลังการผลิตไฟฟ้าขนาด 12.5 เมกกะวัตต์ ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยทุ่นโซลาร์ลอยน้ำผลิตจากเม็ดพลาสติก HDPE (High Density Polyethylene: โพลีเอทิลีนที่มีความหนาแน่นสูง) เกรดพิเศษสีเทา จะช่วยลดอุณหภูมิใต้แผงโซลาร์เซลล์ ส่งผลให้ระบบผลิตกระแสไฟฟ้ามีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สามารถรีไซเคิลได้ และรับประกันอายุการใช้งานของวัสดุไม่ต่ำกว่า 25 ปี

ทั้งนี้ IRPC มีโครงการขยายกำลังการผลิตพลาสติก ABS อีก 6,000 ตัน/ปี คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จ และสามารถทำการผลิตได้ในต้นปีหน้า จะทำให้ IRPC มีกำลังการผลิตเม็ดพลาสติกชนิดพิเศษเพิ่มขึ้นด้วย

อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์โควิด-19 ที่ยังไม่มีบทสรุปที่ชัดเจนและคาดว่าจะยังคงอยู่กับทุกประเทศทั่วโลก IRPC จึงวางเป้าหมายการดำเนินงานในการขยายตลาดไปสู่อุปกรณ์ทางการแพทย์ต่างๆ เช่น หน้ากากอนามัย ชุด PPE โดยได้เร่งวิจัยพัฒนาผลิตเม็ดพลาสติกเกรดพิเศษ และตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนผลิตภัณฑ์กลุ่มนวัตกรรมทางการแพทย์ ล่าสุดได้วิจัยผลิตภัณฑ์เม็ดพลาสติกเกรดพิเศษเพื่อผลิตผ้า Melt-blown ซึ่งเป็นแผ่นกรองอากาศที่เป็นชิ้นส่วนสำคัญในการผลิตหน้ากากอนามัย คาดว่าในช่วงต้นปีหน้าจะผลิตได้ตามเป้าหมาย

ส่วนโครงการความร่วมมือกับคณะแพทย์ศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ในการจัดตั้งห้องปฏิบัติการกลาง เพื่อให้บริการทดสอบ สุ่มตรวจและรับรองสินค้า หน้ากากอนามัย ชุด PPE และอุปกรณ์ที่ใช้ทางการแพทย์ ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ขณะนี้ได้บรรลุข้อตกลงแล้ว และคาดว่าจะเริ่มปฏิบัติการได้ในต้นปีหน้า

นอกจากนี้ IRPC ยังได้ร่วมกับพันธมิตรและมูลนิธิเพื่อการกุศล ในการขับเคลื่อนการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกอย่างต่อเนื่องและเกิดผลเป็นรูปธรรม โดยการจัดการขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวจากร้านอาหารแบรนด์ดังระดับโลก ตามโมเดล “POLIMAXX ECO Solution” ที่ IRPC ได้พัฒนาขึ้น เพื่อแก้ปัญหาขยะพลาสติกตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง ทำให้เกิดการรีไซเคิลอย่างถูกวิธีและมีประสิทธิภาพ ภายใต้กระบวนการทำงานแบบ Close Loop ไม่ทำให้ขยะพลาสติกที่เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิตออกนอกระบบไปเป็นภาระแก่ชุมชนและสังคม และยังได้ร่วมกับมูลนิธิกระจกเงา ช่วยเหลือคนตกงาน ไร้บ้าน ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ให้มีงานทำมีรายได้ เป็นการสร้างเครือข่ายให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยจะจัดให้มีการลงนามร่วมกันเร็วๆ นี้

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (10 พ.ย. 63)

Tags: , , , , , , , ,
Back to Top