กสทช.เปิดฉากประมูล 5G ค่ายมือถือร่วมเคาะราคาคึกคัก

กสทช.เปิดฉากประมูล 5G ตัวแทนเอกชน-กสท-ทีโอที จับสลากเลือกลำดับ-เข้าห้องรอเคาะราคาแข่ง

สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เริ่มเปิดการประมูลคลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคม 700 เมกะเฮิรตซ์(MHz) 2600 เมกะเฮิรตซ์ และ 26 กิกะเฮิรตซ์ (GHz) โดยมีผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (โอเปอเรเตอร์) เข้าร่วมประมูล

ได้แก่ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) ในเครือบมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส(ADVANC) หรือเอไอเอส, บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (TUC) ในเครือบมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE), บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด (DTN) ในเครือบมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) หรือดีแทค, บมจ. กสท โทรคมนาคม (CAT) และ บมจ.ทีโอที
         
พล.อ.สุกิจ ขมะสุนทร. ประธาน กสทช.เป็นผู้จับสลากรายชื่อผู้เข้าร่วมประมูลว่ารายใดจะได้ทำการจับสลากเลือกเลขห้องประมูล และเลือกซองบรรจุ Username และรหัสผ่านตามลำดับ ก่อนเข้าห้องประมูล ทั้งนี้ การประมูลจะเริ่มเคาะราคาในเวลา 9.30 น. โดยเริ่ม login 9.20 น. จะเริ่มประมูลคลื่น 700 MHz ถัดมา คลื่น 2600MHz และ คลื่น 26GHz
         
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขา กสทช. กล่าวว่า การประมูล 5G วันนี้ จะมีการประมูล. 3 คลื่นความถี่ รวม 49 ใบอนุญาต รวมราคาขั้นต่ำ7.3 หมื่นล้านบาท และคาดว่าจะมีส่วนช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยในปี 63 คาดมีเงินลงทุน 1.7 แสนล้านบาท ปี 64 มีเงินลงทุน 3.2 แสนล้านบาท และในปี 65 คาดมีเม็ดเงินลงทุน 4.7 แสนล้านบาท
         
ในช่วงเช้าโอเปอเรเตอร์ ทยอยเข้าลงทะเบียน ได้แก่. กสท.เข้ารายงานตัวที่จุดลงทะเบียนบริเวณห้องโถงชั้น 1 อาคารอำนวยการ สำนักงาน กสทช. เป็นรายแรก นำโดย พ.อ.สรรพชัย หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ถัดมาบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด เข้าลงทะเบียนเป็นรายที่ 2 นำโดยนายชารัด เมห์โรทรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร, นายมาร์คุส แอดอัคทูสเซ่น รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มกิจการองค์กร, นายประเทศ ตันกุรานันท์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มเทคโนโลยี
         
บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด เป็นรายที่ 3 นำโดยนายเชาวน์ รักพงษ์ไพโรจน์ รองประธานคณะกรรมการบริหาร, นายนพปฎล เดชอุดม รองประธานคณะกรรมการบริหาร, นายอติรุฒม์ โตทวีแสนสุข รองประธานคณะกรรมการบริหาร, นายอาณัติ เมฆไพบูลย์วัฒนา กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม), นายสฤษดิ์ จิณสิทธิ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม)
         
บมจ.ทีโอที นำโดย นายพิพัฒน์ ขันทอง กรรมการบริษัท และรักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่, นายชิต เหล่าวัฒนา กรรมการบริษัท, นายเชาว์ พันธ์รุ่งจิตติ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการเงิน, นายรังสรรค์ จันทร์นฤกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจสื่อสารไร้สาย
         
และบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (เอดับบลิวเอ็น) เข้าลงทะเบียนเป็นรายที่ 5 นำโดยนายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร, นายไกรฤทธิ์ อุชุกานนท์ชัย ประธานกรรมการตรวจสอบ และกำกับความเสี่ยง, นายฮุย เวง ชอง กรรมการผู้อำนวยการ, นายปรัธนา ลีลพนัง หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่มลูกค้าทั่วไป นายสุเทพ เตมานุวัตร์ หัวหน้าฝ่ายงานธุรกิจสัมพันธ์และพัฒนา, นายอุทัย เพ็ญรัตน์ หัวหน้าฝ่ายงานกฎหมาย, นายเอนก พนาอภิชน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร อินทัช และนายโนเปิล เวอร์เนอร์ ที่ปรึกษา
         
สำหรับการประมูลในครั้งนี้ คลื่น 700 MHz จำนวน 3 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 2×5 MHz ราคาเริ่มต้น 8,792 ล้านบาท เคาะราคาครั้งละ 440 ล้านบาท การชำระเงินแบ่งเป็น 10 งวดงวดละ 10% โดยผู้เข้าร่วมประมูลต้องวางหลักประกัน 2,637.6 ล้านบาทและหากไม่ชำระค่าประมูลจะต้องชำระค่าปรับ 1,319 ล้านบาทต่อใบอนุญาต
         
คลื่น 1800 MHz จำนวน 7 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 2×5 MHz ราคาเริ่มต้น 12,486 ล้านบาท เคาะราคาครั้งละ 25 ล้านบาท การชำระเงินแบ่งเป็น 3 งวดงวดที่ 1 จำนวน 50% ของราคาที่ชนะการประมูลงวดที่ 2 และ 3 จำนวนงวดละ 25% ของราคาที่ชนะการประมูลโดยผู้เข้าร่วมประมูลต้องวางหลักประกัน 4,994.4 ล้านบาทและหากไม่ชำระค่าประมูลจะต้องชำระค่าปรับ 1,873 ล้านบาทต่อใบอนุญาตโดยผู้ชนะการประมูลจะต้องขยายโครงข่ายให้ครอบคลุม 40% ของประชากรภายใน 4 ปีและครอบคลุม 50% ของประชากรภายใน 8 ปี
         
คลื่น 2600 MHz จำนวน 19 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 10 MHz ราคาเริ่มต้น 1,862 ล้านบาท เคาะราคาครั้งละ 93 ล้านบาท การชำระเงินแบ่งเป็น 7 งวดงวดที่ 1 จำนวน 10% ของราคาที่ชนะการประมูลงวดที่ 2-7 (ปีที่5-10) งวดละ 15% ของราคาที่ชนะการประมูลโดยผู้เข้าร่วมประมูลต้องวางหลักประกัน 1, 862 ล้านบาทและหากไม่ชำระค่าประมูลจะต้องชำระค่าปรับ 280 ล้านบาทต่อใบอนุญาต โดยผู้ชนะการประมูลจะต้องขยายโครงข่ายให้ครอบคลุม 50% ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรือ EEC ภายใน 1 ปีและครอบคลุม 50% ของประชากรใน Smart city ภายใน 4 ปี
         
คลื่น 26 GHz จำนวน 27 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 100 MHz ราคาเริ่มต้น 423 ล้านบาท เคาะราคาครั้งละ 22 ล้านบาท การชำระเงินงวดเดียวภายใน 1 ปีหลังจากการประมูล โดยผู้เข้าร่วมประมูลต้องวางหลักประกัน 507.6 ล้านบาท และหากไม่ชำระค่าประมูลจะต้องชำระค่าปรับ 64 ล้านบาทต่อใบอนุญาต

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 ก.พ. 63)

Tags: , , , , , , , ,
Back to Top