นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) แถลงกรณีเข้าชื่อร่วมกับสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เสนอญัตติส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับของฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล และ iLaw กรณีกำหนดให้มีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ตามมาตรา 256 ว่าไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ว่า การเสนอญัตติครั้งนี้เป็นไปตามข้อบังคับ เพื่อให้ประธานรัฐสภาบรรจุระเบียบวาระให้ที่ประชุมพิจารณา
สำหรับเหตุผลที่ต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเพราะทาง ส.ว.หลายคนทักท้วงว่ารัฐสภาไม่มีอำนาจในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งเมื่อพิจารณาข้อกฎหมายพบว่ามีปัญหาที่จะต้องทำความชัดเจนก่อนที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะสิ้นสุดกระบวนการ เพราะไม่ต้องการให้เกิดการสะดุดหยุดลงตั้งแต่ต้น
โดยจะให้มีการพิจารณารับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 6 ฉบับไปก่อนแล้วให้รัฐสภาพิจารณาส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญหลังรับหลักการแล้ว และหากศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องจะไม่ทำให้การพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับในวาระ 2 ต้องหยุดลง ดังนั้นระหว่างศาลยังวินิจฉัยยังไม่เสร็จ การพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญยังคงดำเนินต่อไปจนถึงวาระ 3 เลยก็ได้ พร้อมยืนยันไม่ได้มีเจตนาถ่วงเวลา เพราะตนเองและ ส.ว.เห็นตรงกันว่าต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพียงแต่ต้องการให้เป็นไปอย่างถูกต้อง
ด้านนายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา กล่าวว่า วุฒิสภามีหน้าที่กลั่นกรองกฎหมาย เมื่อพิจารณาแล้วพบว่าการตั้ง ส.ส.ร.ขึ้นมาจัดทำรัฐธรรมนูญนั้นอาจเข้าข่ายเป็นการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ ซึ่งไม่สามารถทำได้ตามรัฐธรรมนูญ จำเป็นต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ยืนยันว่าเรื่องนี้ไม่ถือเป็นการเติมเชื้อไฟ และเชื่อว่าการส่งศาลจะไม่เป็นเงื่อนไขให้สมาชิกตีตกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญตั้งแต่การพิจารณารับหลักการในวาระแรก ทั้งนี้น้อมรับมติของศาลรัฐธรรมนูญหากยื่นไปแล้วศาลจะวินิจฉัยออกมาอย่างไร
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (10 พ.ย. 63)
Tags: iLaw, พลังประชารัฐ, ศาลรัฐธรรมนูญ, สมชาย แสวงการ, แก้ไขรัฐธรรมนูญ, ไพบูลย์ นิติตะวัน