นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะตัวแทน 6 พรรคร่วมฝ่ายค้าน แถลงภายหลังการประชุมคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้านเพื่อการมีส่วนร่วมของประชาชน (ฝ่ายค้านเพื่อประชาชน) ว่า ในประเด็น พ.ร.บ.ประชามติ ที่รัฐบาลเสนอไปยังรัฐสภานั้น ฝ่ายค้านมองว่าเป็นร่างที่มีปัญหามาก เพราะมีการจำกัดเสรีภาพของประชาชนคล้ายกับการรณรงค์ประชามติเมื่อปี 59
ซึ่งประเด็นคำถามในการทำประชามติไม่ชัดเจน และเป็นไปในแนวทางที่รัฐบาลต้องการ ขอบเขตที่ให้อำนาจคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็ยังมีปัญหา สุดท้ายพรรคร่วมฝ่ายค้านจะต้องทำร่างพ.ร.บ.ประชามติ ฉบับของพรรคฝ่ายค้านเพื่อยื่นประกบกับของรัฐบาล
“เราคงต้องปรึกษานายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ ว่าพ.ร.บ.นี้มีรูปแบบคล้าย พ.ร.บ.ปฏิรูปหรือไม่ และต้องนำเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภาหรือไม่ เหตุใดจึงไม่เข้าสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเรามองว่า รัฐบาลต้องการยืมมือวุฒิสมาชิกเพื่อให้พ.ร.บ.ฉบับนี้ ผ่านไปตามแนวทางที่รัฐบาลต้องการ จึงทำให้พ.ร.บ.ไม่เป็นประชาธิปไตย และไม่รักษาสิทธิ เสรีภาพของประชาชน”
นายสมพงษ์กล่าว
นายชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าและประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมาย พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า พรรคร่วมฝ่ายค้านเห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เสนอร่างพ.ร.บ.ประชามติ โดยอ้างว่าเสนอตามหมวด 16 ว่าด้วยการปฏิรูปประเทศ จึงต้องให้รัฐสภาพิจารณา แต่ฝ่ายค้านเห็นว่า พ.ร.บ.ประชามติ ไม่ใช่การปฏิรูปประเทศ แต่ต้องเป็นกฎหมายปกติ คือเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรแล้วจึงค่อยส่งให้ ส.ว.พิจารณาต่อไป
นายชูศักดิ์ กล่าวว่า เมื่อดูรายละเอียดแล้ว กฎหมายนี้ต้องผ่านการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ แต่ที่รัฐบาลเสนอมานั้น ไม่มีสักมาตราเดียวที่ผ่านการแสดงความเห็นของประชาชน มีการประทับว่าไม่มีความคิดเห็น ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า กฎหมายสำคัญขนาดนี้ไม่น่าจะเป็นไปได้ที่ไม่มีความคิดเห็นเลย จึงตั้งคำถามว่ามีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนจริงหรือไม่ หากรับฟัง รับฟังอย่างไร
อีกทั้ง ร่างพ.ร.บ.ประชามติของรัฐบาลที่เสนอ ไม่ได้มีบทบัญญัติที่เปิดโอกาสให้ประชาชน หรือกลุ่มต่างๆรณรงค์เรื่องรัฐธรรมนูญต่อประชาชนซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ ทั้งนี้ ที่ผ่านมา มีการจับกุม และดำเนินคดีกับผู้เห็นต่างในการรณรงค์ ดังนั้นมองว่าการไม่มีส่วนของเรื่องรณรงค์ไว้ถือเป็นความบกพร่องในการร่างรัฐธรรมนูญ และพรรคฝ่ายค้านมีมติยกร่างพ.ร.บ.ประชามติ เพื่อเสนอให้สภาพิจารณาควบคู่ไปกับร่างของรัฐบาลด้วย
นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล กล่าวว่า แม้จะมีการปรับถ้อยคำบ้างจากพ.ร.บ.ประชามติ ที่เคยใช้เมื่อปี 59 แต่โดยรวมแล้วเห็นว่า เป็นพ.ร.บ.ประชามติที่เน้นการจำกัดสิทธิ เสรีภาพของประชาชนเป็นด้านหลักอยู่ ดังนั้นในสัปดาห์หน้าจะเสนอร่างของฝ่ายค้านประกบด้วย
นอกจากนี้ ขอตั้งข้อสังเกตจากกรณีที่ให้ 2 สภา พิจารณาร่างพ.ร.บ.นี้ร่วมกันในคราวเดียวว่า มีเจตนาว่าเร่งรัดเพื่ออะไร เพื่อให้การออกเสียงประชามติเป็นไปตามความต้องการของส.ส.ฝั่งรัฐบาล และส.ว.บางท่านหรือไม่ การเร่งรัดเป็นพิเศษนี้มีเจตนาที่น่าสงสัยว่าต้องการเตะถ่วงกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ และพรรคฝ่ายค้านเคยชี้ให้เห็นการกำหนดกฎหมายปฏิรูปประเทศ ให้อำนาจพิเศษ ส.ว.ร่วมโหวตกฎหมาย ซึ่งร่างพ.ร.บ.ประชามตินี้ตีความว่าเป็นกฎหมายปฏิรูปประเทศ เป็นการสร้างกฎหมายพิเศษของรัฐบาลเพื่อต้องการให้ส.ว.เข้ามาแทรกแซงเสริมเสียงให้กับส.ส.ฝ่ายรัฐบาล ทั้งที่ความเป็นจริงอาจไม่ใช่กฎหมายปฏิรูปประเทศ จึงเป็นปัญหาว่า ควรยกเลิกอำนาจ ส.ว.ในกฎหมายปฏิรูปประเทศหรือไม่
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (9 พ.ย. 63)
Tags: กกต., การเมือง, คณะกรรมการการเลือกตั้ง, ชัยธวัช ตุลาธน, ชูศักดิ์ ศิรินิล, ประชามติ, ประยุทธ์ จันทร์โอชา, พรรคก้าวไกล, พรรคร่วมฝ่ายค้าน, พรรคเพื่อไทย, วิปฝ่ายค้าน, สมพงษ์ อมรวิวัฒน์