น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงกรณีที่มีข้อกังวลถึงปัญหาข้าวเปลือกหอมมะลิราคาตกว่า รัฐบาลติดตามสถานการณ์ราคาข้าวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีความสัมพันธ์กับอุปสงค์อุปทานข้าวในตลาดโลก และเข้าใจถึงความกังวลของเกษตรกรเป็นอย่างดี
แต่ด้วยขณะนี้เป็นช่วงที่ผลผลิตข้าวเปลือกหอมมะลิ ฤดูกาลผลิตปี 2563/64 อยู่ในช่วงเก็บเกี่ยวและกำลังทยอยออกสู่ตลาด ผู้นำเข้ารอดูสถานการณ์ผลผลิตข้าวไทย ประกอบกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 กระทบต่อการบริโภคภายในประเทศที่มีนักท่องเที่ยวน้อยลง ปัญหาการส่งออกที่ลดลง เนื่องจากราคาข้าวไทยสูงกว่าคู่แข่งทำให้แข่งขันได้ยาก รวมทั้งปัญหาค่าเงินบาท ผู้ค้าข้าวก็มีการระบายข้าวเพื่อเสริมสภาพคล่องรองรับผลผลิตฤดูกาลใหม่ ส่งผลให้ราคาข้าวเปลือกหอมมะลิในช่วงนี้ปรับตัวลดลง
ทั้งนี้ เพื่อสร้างหลักประกันด้านรายได้ให้แก่เกษตรกร รวมทั้งรักษาเสถียรภาพด้านราคาตลาด รัฐบาลได้อนุมัติโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2563/64 รอบที่ 1 เป้าหมายข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคา 15,000 บาท/ตัน ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ราคา 14,000 บาท/ตัน ข้าวเปลือกเจ้า ราคา 10,000 บาท/ตัน ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ราคา 11,000 บาท/ตัน และข้าวเปลือกเหนียว ราคา 12,000 บาท/ตัน
โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว พร้อมมาตรการคู่ขนานซึ่งจะช่วยดูดซับผลผลิตฤดูกาลใหม่ที่จะออกสู่ตลาดมาก ในช่วงเดือนพ.ย.นี้ โดยจูงใจให้เกษตรกร สหกรณ์ สถาบันเกษตรกร รวมทั้งผู้ประกอบการค้าข้าวทั่วไปเก็บสต็อก เพื่อเป็นการสร้างเสถียรภาพราคาตลาด
โดยมีเป้าหมาย 7 ล้านตันข้าวเปลือก ผ่านโครงการ ดังนี้
- โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ให้ค่าฝากเก็บตันละ 1,500 บาท เป้าหมาย 1.5 ล้านตัน
- โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร สหกรณ์เสียดอกเบี้ยร้อยละ 1 เป้าหมาย 1.5 ล้านตัน
- โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก ชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการร้อยละ 3 เป้าหมาย 4 ล้านตัน
ส่วนการส่งออกข้าวไทยในปี 2564 เบื้องต้นกระทรวงเกษตรและสหกรณ์คาดว่าจะมีผลิตข้าวเพิ่มขึ้น เนื่องจากปริมาณน้ำที่มีเพียงพอสำหรับการเพาะปลูก ซึ่งน่าจะส่งผลให้ราคาข้าวในประเทศปรับตัวลดลง จากราคาที่อยู่ในระดับที่สูงกว่าปกติในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา จากปัญหาภัยแล้ง ซึ่งจะทำให้ช่องว่างของราคาข้าวไทยกับข้าวของประเทศคู่แข่งลดน้อยลง ทำให้ศักยภาพในการแข่งขันของเราในตลาดโลกดีขึ้น และน่าจะส่งผลให้การส่งออกในปี 64 ดีกว่าในปี 63 ตลาดที่มีโอกาสนำเข้าข้าวไทยเพิ่มขึ้น คือ ออสเตรเลีย และกลุ่มประเทศแอฟริกา
น.ส.รัชดา ยังชี้แจงประเด็นการเพิ่มพันธุ์ข้าวไทยเพื่อไปแข่งขันในตลาดโลกว่า คณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) ได้เห็นชอบยุทธศาสตร์ข้าวไทยปี 63-67 แล้ว โดยเน้น “ตลาดนำการผลิต” เพื่อผลิตชนิดข้าวให้ตอบสนองความต้องการของตลาด โดยมีการจัดกลุ่มข้าวไทยเป็น 7 ชนิด ตามความต้องการของตลาด 3 ตลาด ได้แก่ 1) ตลาดพรีเมี่ยม ได้แก่ ข้าวหอมมะลิ และข้าวหอมไทย 2) ตลาดทั่วไป ได้แก่ ข้าวขาวพื้นนุ่ม ข้าวขาวพื้นแข็ง และข้าวนึ่ง และ 3) ตลาดเฉพาะ ได้แก่ ข้าวเหนียว และข้าวสีหรือข้าวคุณลักษณะพิเศษ กำหนดให้มีการพัฒนาพันธุ์ข้าวที่สามารถแข่งขันกับพันธุ์ของคู่แข่งในตลาดโลก เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น รวมทั้งยกระดับและเร่งรัดการวิจัยพัฒนาพันธุ์ข้าวให้ตรงกับความต้องการของตลาดให้มีอายุเก็บเกี่ยวสั้น ต้นเตี้ย ผลผลิตสูง และคุณภาพดี (สั้น เตี้ย ดก ดี)
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า รัฐบาลมีความห่วงใยติดตามสถานการณ์ข้าวมาตลอด และมุ่งมั่นที่จะแก้ปัญหาราคาข้าวตกต่ำโดยการประกันรายได้เพื่อสร้างความแน่นอนเรื่องรายได้ รวมถึงมีมาตรการคู่ขนานเพื่อบริหารระดับอุปสงค์อุปทาน ที่สำคัญเพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันระยะยาว ยกระดับความเป็นอยู่ที่ดีของเกษตรกร
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (9 พ.ย. 63)
Tags: ข้าวหอมมะลิ, ข้าวไทย, รัชดา ธนาดิเรก, ราคาข้าว, ส่งออกข้าว