นางอรวดี โพธิสาโร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่กลยุทธ์องค์กร บมจ.ปตท. (PTT) เปิแผยว่า ปตท.ตั้งเป้าใช้งบลงทุนเบื้องต้นในปี 64 มากกว่าระดับปกติที่มีการลงทุนราว 8 หมื่นล้านบาท/ปี หลังมีแผนลงทุนในธุรกิจใหม่ (New Business) เพื่อหาโอกาสธุรกิจที่ให้ผลตอบแทนสูงและมีแนวโน้มเติบโต หรือมีศักยภาพได้เปรียบด้านการแข่งขัน
โดยมองการขยายเข้าสู่ธุรกิจ Life Science ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาซื้อกิจการโรงงานผลิตยาในต่างประเทศ โซนเอเชีย คาดว่าจะสรุปได้ในปี 64
นอกจากนี้ ปตท.ยังเน้นลงทุนในธุรกิจพลังงานใหม่ (New Energy) ซึ่งเป็นการลงทุนในพลังงานหมุนเวียนและเทคโนโลยีด้านพลังงาน อย่าง Storage/Grid Network/Smart Energy Platform และ EV Charging Station รวมถึงห่วงโซ่ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่ปัจจุบันกลุ่ม ปตท.อยู่ระหว่างก่อสร้างโรงงานแบตเตอรี่ต้นแบบ ก็มองโอกาสต่อยอดในการตั้งโรงงานรถ EV ในอนาคตด้วย แต่การจะลงทุนยังต้องขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยทั้งนโยบายส่งเสริมจากภาครัฐด้วย
แนวโน้มราคาน้ำมันดิบในช่วง 2 ปีข้างหน้ายังคงเคลื่อนไหวระดับต่ำจากสถานการณ์โควิด-19 และคาดว่าจะเริ่มดีขึ้นในปี 65 ก่อนจะเข้าสู่สภาพเดิมหลังมีวัคซีน ทำให้คาดว่าสถานการณ์ราคาจะกลับสู่ปกติในปี 66 ที่กว่า 50 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ขณะที่ระยะยาวหลายฝ่ายมองว่าสภาวะ peak oil ซึ่งเป็นภาวะที่การใช้น้ำมันเริ่มมีแนวโน้มลดลงนั้นจะเกิดขึ้นในปี 73 แต่ในส่วนของไทยอาจจะมากกว่าปี 73 เพราะการขนส่งของไทยส่วนใหญ่ยังใช้น้ำมันอยู่ ซึ่งการมองหาโอกาสในธุรกิจพลังงานใหม่ก็เพื่อเตรียมรับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
“นโยบายรัฐให้การส่งเสริม EV มากขึ้น ปตท.เตรียมพร้อมศึกษาเรื่องโรงงานแบตเตอรี่ แต่การจะทำแบตเตอรี่ได้ก็ต้องมีรถมารองรับ มองเรื่อง Value chain แบตเตอรี่ ก็ต้องมีโรงงานผลิตรถยนต์ ซึ่งอยู่ระหว่างศึกษาของกลุ่ม ปตท.เพื่อทำ Value chain มีรถยนต์ มีแบตเตอรี่ และอาจจะมี Energy Storage”
นางอรวดี กล่าว
นางอรวดี กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตามแม้จะมีการลงทุนในธุรกิจใหม่ หรือธุรกิจพลังงานใหม่ ในด้านธุรกิจเดิมก็ยังคงมีการลงทุนต่อเนื่อง โดยในส่วนธุรกิจก๊าซธรรมชาติมีแผนก่อสร้างโรงแยกก๊าซธรรมชาติแห่งใหม่ ซึ่งเป็นแห่งที่ 7 ทดแทนโรงแยกก๊าซฯแห่งที่ 1 ที่มีอายุใช้งานมานานกว่า 30 ปี โดยใช้เงินลงทุนประมาณ 1 หมื่นล้านบาท
ปัจจุบัน ปตท.อยู่ระหว่างหาผู้รับเหมาก่อสร้าง คาดว่าจะเริ่มการก่อสร้างในปี 64 แล้วเสร็จในปี 66 ซึ่งเป็นการก่อสร้างในพื้นที่ใหม่ ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าคลังรับ-จ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) มาบตาพุด ใช้เทคโนโลยีใหม่ที่มีประสิทธิภาพสูงทำให้ต้นทุนต่อหน่วยถูกลง โดยโรงแยกก๊าซฯใหม่จะมีขีดความสามารถในการแยกก๊าซฯ และได้ผลิตภัณฑ์ลักษณะเดียวกับโรงแยกก๊าซฯ แห่งที่ 1 คือ อีเทน ,โพรเพน ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) และอื่นๆ ซึ่งจะเป็นวัตถุดิบตั้งต้นในการผลิตปิโตรเคมี โดยขีดความสามารถการแยกก๊าซฯที่ไม่ได้เพิ่มขึ้นมากเพราะถูกจำกัดด้วยปริมาณก๊าซฯในอ่าวไทยที่มีไม่มากนัก
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (9 พ.ย. 63)
Tags: EV, PTT, ปตท., รถยนต์, ลงทุน, อรวดี โพธิสาโร, โรงงานผลิตยา