- เตรียมออกแพ็กเกจกระตุ้นท่องเที่ยวและเศรษฐกิจ โดยจะนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ทันภายในเดือน มี.ค.นี้
- ชุดมาตรการที่ออกจะเป็นความร่วมมือของแต่ละหน่วยงาน โดยออกเป็นแพ็กเกจรวมชุดใหญ่ มุ่งเน้นภาคท่องเที่ยว อาทิ มาตรการชิมช้อปใช้เฟส 4 มาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ มาตราการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ มาตรการภาษีให้ผู้ประกอบการจ้างพนักงานต่อ การลดอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตและลดวงเงินผ่อนชำระ เพื่อเพิ่มกำลังซื้อในประเทศ
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมแนวทางการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการกลุ่มอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ร่วมกับกระทรวงการคลังว่า เตรียมออกแพ็กเกจกระตุ้นท่องเที่ยวและเศรษฐกิจเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือภาคท่องเที่ยวของไทย หลังได้รับผลกระทบจากปัจจัยการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (โควิด-19)
โดยจะมีทั้งมาตรการทางภาษี และมาตรการด้านการเสริมสภาพคล่อง คาดเริ่มใช้ปลายมี.ค.นี้ เพื่อให้ทันในช่วงวันหยุดยาวเดือน เม.ย.63
“ชุดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ มุ่งเน้นภาคท่องเที่ยวเป็นสำคัญ เนื่องจากนักท่องเที่ยวต่างชาติชะลอการเดินทางท่องเที่ยว จากผลกระทบของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา โดยให้หน่วยงานทั้งหมด เร่งพิจารณาเพื่อสรุปรายละเอียดของชุดมาตรการให้ ครม. พิจารณาภายในเดือนมี.ค.นี้ เพื่อให้ชุดมาตรการมีผลบังคับใช้ในช่วงปลายเดือน มี.ค.63 ซึ่งจะสอดรับกับช่วงเทศกาลหยุดยาวในเดือนเม.ย.63”
นายสมคิดกล่าว
ทั้งนี้ รายเอียดเบื้องต้นของชุดมาตรการดังกล่าว จะเน้นการกระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยวภายในประเทศเป็นหลัก เพื่อประคับประคองภาคการท่องเที่ยวของไทยในช่วงที่ทุกประเทศได้รับผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยงของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา โดยจะมีทั้งการเสริมสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการ การลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับพนักงาน รวมทั้งมาตรการภาษี
“ต้องยอมรับว่า ตอนนี้นักท่องเที่ยวต่างชาติลดลง ก็ต้องหันมาดูเรื่องท่องเที่ยวในประเทศ ที่แม้จะไปทดแทนรายได้จากการท่องเที่ยวของต่างชาติไม่ได้ แต่ตอนนี้ทำอะไรได้รัฐบาลก็พยายามทำออกมา แนวทางใดที่ทำให้มีงาน ทำให้มีรายได้เพิ่ม ก็จะเร่งออกมา ซึ่งกระทรวงการคลัง และหน่วยงานในภาคท่องเที่ยวกำลังออกแบบแพ็กเกจ เพื่อให้คนสนใจการท่องเที่ยวในประเทศ โดยเบื้องต้นคุยกันว่าจะมีมาตรการสนับสนุนให้ผู้สูงอายุที่เกิน 60 ปี ที่สามารถเดินทางท่องเที่ยวในวันธรรมดา ให้นำใบเสร็จค่าใช้จ่ายมาหักลดหย่อนภาษีให้ลูกหลานได้ ถือเป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยได้” นายสมคิด กล่าว
รองนายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า รัฐบาลยังเตรียมออกมาตรการเพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่าย ผ่านมาตรการชิมช้อปใช้ เฟส 4 เป็นหน้าที่ของกระทรวงการคลังที่จะพิจารณา รวมทั้งยังอยู่ระหว่างการหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในการผ่อนคลายหลักเกณฑ์ของมาตรการที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำให้เกิดสภาพคล่องในระบบ ในการรองรับผู้ประกอบการให้สามารถดำเนินธุรกิจได้ในสภาวะแบบนี้
“ปีนี้เป็นปีพิเศษ ไทยเจอมรสุมเยอะ ดังนั้นเราต้องดูแลกัน นายกรัฐมนตรีกำชับตลอดเวลาว่าคนไทยต้องไม่ทิ้งกัน โดยสิ่งที่กำลังดำเนินการเหล่านี้ จะเป็นมาตรการที่ประคองและผ่อนคลายสถานการณ์ให้ประเทศได้ อะไรที่เข้าครม.ก่อนได้ จะเร่งเข้า เพื่อกระกาศใช้ในช่วงปลายเดือน มี.ค.นี้ ในระหว่างที่ช่วงนี้รอให้งบประมาณผ่าน และช่วงนี้ต้องประคองภาคการท่องเที่ยวเป็นพิเศษ”
นายสมคิด กล่าว
ด้านนายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง กล่าวว่า หลังจากนี้กระทรวงการคลัง กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงแรงงาน ธปท. สมาคมธนาคารไทย สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะเร่งกลับไปคิดชุดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของแต่ละหน่วยงาน และนำมาประกอบกันเป็นชุดมาตรการใหญ่ เพื่อที่จะเสนอให้ ครม.พิจารณา เพื่อให้ชุดมาตรการนี้มีผลในเดือน มี.ค.63 ซึ่งถือว่าเป็นการดำเนินการที่เร็วแล้ว โดยคิดว่าจะช่วยการพยุงการท่องเที่ยวและภาคส่วนเศรษฐกิจได้ในระดับหนึ่ง
ทั้งนี้ เบื้องต้นชุดมาตรการที่อยู่ระหว่างการพิจารณา ประกอบด้วย มาตราการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ, มาตรการภาษีให้ผู้ประกอบการจ้างพนักงานต่อ, การลดอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิต และลดวงเงินผ่อนชำระขั้นต่ำ ซึ่งสถาบันการเงินพร้อมพิจารณาในส่วนนี้ โดยรายละเอียดทั้งหมดยังอยู่ระหว่างการพิจารณา
“ทั้งหมดนี้ เป็นมาตรการที่ไม่ใช่มาตรการถาวร ไม่ต้องห่วงว่าจะกระทบกับเงินงบประมาณ และมาตรการที่จะออกมาอยู่ในรูปแบบที่รัฐบาลดูแลได้ ทุกอย่างอยู่ในกรอบ อยู่ในวินัยที่ดูแลอยู่”
นายอุตตม กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 ก.พ. 63)
Tags: กระตุ้นท่องเที่ยว, กระตุ้นเศรษฐกิจ, กระทรวงการคลัง, ชิมช้อปใช้, มาตรการภาษี, สมคิด จาตุศรีพิทักษ์, อุตตม สาวนายน, เศรษฐกิจไทย