นายชูเกียรติ รุจนพรพจี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.สบาย เทคโนโลยี (SABUY) กล่าวว่า บริษัทสามารถขายหุ้นให้กับประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) หมดทั้งจำนวนเสนอขาย 157.02 ล้านหุ้น สะท้อนถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อบริษัทและศักยภาพการเติบโตของธุรกิจฟินเทคของบริษัท โดยหุ้นที่เสนอขาย IPO ครั้งนี้ แบ่งเป็นการขายให้กับนักลงทุนสถาบัน 11% นักลงทุนรายย่อย 67% กลุ่มผู้มีอุปการคุณของบริษัท 13% และกรรมการและผู้บริหารของบริษัท 9%
ทั้งนี้ บริษัทมีวัตถุประสงค์นำเงินจากการเพิ่มทุนไปใช้ขยายกิจการต่าง ๆ คือ โครงการเพิ่มการตั้งตู้ขายสินค้าอัตโนมัติ โครงการให้บริการระบบการรับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์(Payment Platform Provider) โครงการให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money Service) โครงการให้บริการระบบบัตรเงินอิเล็กทรอนิกส์แก่ศูนย์อาหาร และ/หรือร้านค้าในวงจำกัด (Closed Loop) โครงการติดตั้งเครื่องรับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์สำหรับตู้เติมเงินและตู้ขายสินค้าอัตโนมัติ และโครงการเพิ่มศูนย์กระจายสินค้าของธุรกิจตู้ขายสินค้าอัตโนมัติ ในต่างจังหวัด
ด้านนายรัฐชัย ธีระธนาวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม ฝ่ายวาณิชธนกิจ บล.เคทีบี (ประเทศไทย) ในฐานะผู้จัดการการจัดจำหน่ายหุ้นสามัญของ SABUY กล่าวว่า หุ้น IPO ของ SABUY ได้รับความสนใจในการจองซื้ออย่างสูงจากทั้งกลุ่มนักลงทุนสถาบัน นักลงทุน VI และกลุ่มนักลงทุนรายย่อย โดยหุ้นที่เสนอขาย IPO จำนวน 157.02 ล้านหุ้น หรือ 15% ของทุนจดทะเบียน 1,005 ล้านบาท (หลังจากขายหุ้นเพิ่มทุน) ที่ราคา 2.50 บาท/หุ้น คิดเป็นมูลค่าการระดมทุนประมาณ 392.54 ล้านบาท ซึ่งเป็นมูลค่าการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัทจำนวน 292.54 ล้านบาท และมูลค่าการเสนอขายหุ้นสามัญเดิมโดยนายวิชัย วชิรพงศ์ จำนวน 100 ล้านบาท
ภายหลังการระดมทุนครั้งนี้ กลุ่มรุจนพรพจีจะถือหุ้นในสัดส่วน 30% กลุ่มวีระประวัติจะถือหุ้นในสัดส่วน 28% และสัดส่วนที่เหลือเป็นผู้ถือหุ้นรายย่อย และมีกำหนดการจะเริ่มเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ mai ในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2563 นี้
“SABUY เป็น Growth Tech Stock หรือ หุ้นเทคโนโลยีที่มีอัตราการเติบโตสูงในอนาคต และมี Business Model ที่ดีและพิสูจน์แล้วว่าสร้างผลกำไรได้อย่างมั่นคง นอกจากนี้ SABUY มี Eco System ของตนเอง และมีแผนการขยายธุรกิจที่จะสร้างการเติบโตอย่างสูง โดยที่สำคัญ ทีมผู้บริหารระดับสูงของ SABUY เป็นทีมผู้บริหารที่มีประสบการณ์ระดับสูงจากธนาคารระดับโลก และ ธนาคารชั้นนำของไทย ที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีอย่างสูง และ ความเข้าใจในอุตสาหกรรมด้าน E-Banking และ Commerce เป็นอย่างดี
นอกจากนี้ SABUY ยังมีสถานะการเงินที่แข็งแกร่ง มีทุนจดทะเบียนสูงถึง 1,005 ล้านบาท (หลังการเสนอขาย IPO) มีอัตรากำไรขั้นต้นและ อัตรากำไรสุทธิสูง และ มีอัตราหนี้สินต่อทุนต่ำ จึงมีโอกาสในการขยายกิจการด้าน Commerce & Payment Solutions ได้อีกมาก”
นายรัฐชัย กล่าว
SABUY ประกอบด้วย 4 ธุรกิจหลัก ได้แก่
1.ธุรกิจตู้เติมเงินอัตโนมัติ ภายใต้เครื่องหมายการค้า “เติมสบายพลัส” มากกว่า 52,000 ตู้
2.ธุรกิจตู้ขายสินค้าอัตโนมัติ ภายใต้เครื่องหมายการค้า “เวนดิ้งพลัส” และ “6.11” กว่า 5,700 ตู้
3.ธุรกิจระบบศูนย์อาหาร มีศูนย์อาหารภายใต้การดูแลทั้งหมด 205 ศูนย์ และ
4.ธุรกิจให้บริการการชำระเงิน ผ่านบริษัทย่อย คือ บริษัท สบาย มันนี จำกัด
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (06 พ.ย. 63)
Tags: IPO, SABUY, ชูเกียรติ รุจนพรพจี, บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์, รัฐชัย ธีระธนาวัฒน์, สบาย เทคโนโลยี, หุ้นสามัญ, หุ้นไทย, เคทีบี (ประเทศไทย)