NFC คาดปี 64 พลิกกำไรหลังมองรายได้โต 20% เล็งร่วมทุนธุรกิจใหม่

นางสาวดุจเดือน บุญซื่อ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน บมจ.เอ็นเอฟซี (NFC) คาดว่าผลประกอบการของบริษัทจะเริ่มกลับมามีกำไรสุทธิในปี 64 หลังมองว่ารายได้มีแนวโน้มจะเติบโตได้ราว 20% จากการเริ่มรับรู้รายได้ของ 2 บริษัทย่อยที่ถือหุ้นอยู่ทั้ง 100% คือ

1. บริษัท เอ็นเอฟซีที จำกัด (NFCT) ที่ปัจจุบันอยู่ระหว่างก่อสร้างโครงการคลังน้ำมันเชื้อเพลิงจำนวน 6 คลัง ขนาดความจุคลังละ 15 ล้านลิตร คิดเป็นความจุรวม 90 ล้านลิตร ที่คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จในช่วงกลางปี 64 โดยมีบริษัท เชลล์ แห่งประเทศไทย จำกัด เป็นผู้เข้าใช้บริการทันที โดยมีระยะเวลาสัญญา 17 ปี คาดว่าจะมีรายได้ราว 300 ล้านบาท/ปี แต่ในปี 64 จะเป็นการรับรู้รายได้เพียงครึ่งปี หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 100 ล้านบาท

2. บริษัท เอ็นเอฟซี ดับบลิว จำกัด (NFCW) ซึ่งลงทุนในโครงการพัฒนาพื้นที่รองรับการให้บริการผู้ประกอบการโครงสร้างและระบบท่อ (Steel Fabrication and Modularization) และผู้ประกอบการรื้อ/ตัดแยกชิ้นส่วนท่อลำเลียง โครงสร้างแท่นขุดเจาะน้ำมัน (De-Commissioning) พื้นที่ท่าเทียบเรือของบริษัท อยู่ใกล้กับแท่นขุดเจาะปิโตรเลียมประมาณ 500 แท่น จะทยอยหมดอายุสัมปทานลงในช่วงระยะเวลา 20 ปี ถัดจากนี้ไป ต้องดำเนินการ De-Commissioning เฉลี่ยปีละ 20-25 แท่น ทำให้คาดจะมีรายได้กว่า 100 ล้านบาท

ล่าสุด อยู่ระหว่างรอความชัดเจนจากภาครัฐในการอนุมัติรื้อถอนแท่นปิโตรเลียมในแหล่งเอราวัณของกลุ่มเชฟรอนที่จะต้องรื้อถอนตามสัญญาประมาณ 49 แท่น และแหล่งบงกชของ บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) ที่จะต้องรื้อถอน 4 แท่น ภายหลังหมดสัญญาสัมปทานเดิมในปี 65-66 ซึ่งหากมีความชัดเจน NFCW ก็จะร่วมยื่นประมูลงานดังกล่าวด้วย

ขณะเดียวกัน บริษัทยังมีพื้นที่คลังสินค้าให้เช่าที่คาดว่าจะมีผู้เข้ามาใช้บริการเพิ่มเติม จากปัจจุบันที่มีพื้นที่คลังสินค้าให้เช่าทั้งหมด 29,000 ตารางเมตร และมีอัตราการเช่าพื้นที่อยู่ราว 70% ซึ่งพื้นใกล้เคียงมีการใช้พื้นที่ค่อนข้างเต็มแล้ว จึงเป็นโอกาสที่บริษัทจะมีผู้เข้ามาใช้บริการเพิ่มเติม

นอกจากนี้บริษัทอยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อร่วมลงทุนในธุรกิจเกี่ยวกับการขนส่งพลังงาน เชื้อเพลิงเพิ่มเติม โดยคาดว่าจะเห็นความชัดเจนในช่วงไตรมาส 1/64 ซึ่งจะเข้ามาช่วยเติมเต็มธุรกิจของบริษัท

“เราอยู่ระหว่างการพัฒนาธุรกิจต่าง ๆ ให้ครบวงจรในพื้นที่ที่เรามีอยู่ทั้งหมดกว่า 400 ไร่ แต่ตอนนี้ยังบอกรายละเอียดทั้งหมดไม่ได้ แต่ก็จะเห็นทยอยออกมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเข้ามาช่วยผลักดันให้บริษัทมีการฟื้นตัว และเติบโตต่อไป โดยจะเริ่มเห็นการเทิร์นอะราวด์ในปี 64 เป็นต้นไป”นางสาวดุจเดือน กล่าว

นายณัฐพงษ์ รัตนสุวรรณทวี กรรมการผู้จัดการใหญ่ NFGT กล่าวว่า การก่อสร้างโครงการคลังน้ำมันและท่อส่งน้ำมันเชื้อเพลิง (NFCT Fuel Tank Farm Project) ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง มีมูลค่าลงทุน 2,570 ล้านบาท ขณะนี้มีความก้าวหน้าโครงการแล้วกว่า 50% คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการช่วงกลางปี 64 ซึ่งจะรับรู้รายได้เข้ามา 150 ล้านบาท และรับรู้เต็มปีในปีถัดไป 300 ล้านบาท/ปี

สำหรับโครงการดังกล่าว ประกอบด้วย คลังน้ำมัน และถังจัดเก็บน้ามันแก๊สโซลีนพื้นฐาน จำนวน 6 ถัง ขนาดความจุรวม 90 ล้านลิตร เพื่อใช้รองรับน้ามันที่ขนถ่ายมาจากเรือขนน้ำมันนำเข้าขนาดกลาง (medium range) ก่อนที่จะขนสูบผ่าน 2 ทาง คือ ผ่านท่อขนส่งน้ำมันเข้าสู่ระบบท่อส่งน้ำมันของผู้ประกอบการขนส่งน้ำมันทางท่อ และเข้าสู่เรือขนส่งน้ำมัน ซึ่งปัจจุบันเชลล์เป็นผู้เช่าทั้งหมด

โครงการดังกล่าวเป็นการลงทุนเพื่อขยายขอบเขตธุรกิจการให้บริการด้านโลจิสติกส์และคลังสินค้าเหลวของกลุ่มบริษัท NFC เพื่อสนับสนุนรายได้ ให้แก่ธุรกิจหลักของกลุ่มบริษัท ตลอดจนเพิ่มความหลากหลายและกระจายความเสี่ยงของการลงทุน โดยมีความเชื่อมั่นว่าโครงการดังกล่าวจะช่วยเสริมศักยภาพและส่งผลให้ธุรกิจในภูมิภาคเติบโตมากยิ่งขึ้น

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า โครงการดังกล่าว ตั้งอยู่ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ซึ่งเป็นที่พื้นที่พัฒนาเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ที่มีหัวใจสำคัญอยู่ที่การลงทุน เพื่อสร้างโครงข่ายการคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ที่สมบูรณ์เชื่อมโยง 3 ระบบ ทั้งระบบถนน ระบบราง เรือ และอากาศ โดยเชื่อมต่อไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศ เชื่อว่าเมื่อโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จจะสามารถตอบสนองต่อความต้องการของตลาดและเปิดโอกาสให้มีการค้าน้ำมันในระดับภูมิภาค เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมและเป็นประโยชน์สูงสุดต่อผู้บริโภคต่อไปในอนาคต อีกทั้งยังจะช่วยส่งเสริมนโยบายต่างๆ ของภาครัฐ และเพิ่มประสิทธิภาพของระบบโลจิสติกส์ของประเทศได้เป็นอย่างดี

“โครงการดังกล่าวจะช่วยส่งเสริมความมั่นคงและยั่งยืนด้านพลังงาน เพิ่มศักยภาพในการแข่งขันในระดับภูมิภาค รองรับความต้องการเชื้อเพลิงของภาคการขนส่งและคมนาคม และสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจตามนโยบายรัฐด้านต่าง ๆ รวมทั้งสามารถเพิ่มประสิทธิภาพของระบบโลจิสติกส์ของประเทศได้เป็นอย่างดี ส่งผลให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางพลังงานที่สำคัญของภูมิภาคอาเซียนอย่างแท้จริง”นายสุริยะ กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (05 พ.ย. 63)

Tags: , , , , ,
Back to Top