นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ว่า ที่ประชุมประเมินภาวะเศรษฐกิจไทยในช่วงปลายไตรมาสที่ 3 ได้อานิสงส์จากการฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรมในต่างประเทศ การส่งออกในเดือนกันยายนปรับตัวดีขึ้นมาก หดตัวเพียง 3.9% เทียบกับเดือนสิงหาคมที่หดตัว 7.9% ภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรมดีขึ้น
อาทิ ชิ้นส่วนรถยนต์ คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ และเม็ดพลาสติก ฟื้นตัวได้ดีสอดคล้องกับทิศทางของภาคอุตสาหกรรมในต่างประเทศ ส่วนการใช้จ่ายในประเทศฟื้นตัวโดยมีมาตรการของภาครัฐสนับสนุน แต่ในปีหน้าอาจจะมีปัญหาเรื่องตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลนทำให้ค่าระวางเรือที่มีแนวโน้มสูงขึ้น โดยในสัปดาห์หน้า กกร.นำคณะไปหารือกับกระทรวงคมนาคมเพื่อวางแผนรับมือในอนาคต
“เรายังไม่ปรับเป้าประมาณการเศรษฐกิจ รอไว้ไตรมาสหน้า เพราะไม่มีเหตุจำเป็นที่จะต้องปรับบ่อยๆ เศรษฐกิจในประเทศตอนนี้ดีขึ้น ยอดจองรถกระบะล่วงหน้าสามเดือนแล้ว เพราะสินค้าเกษตรได้ราคาดี แต่โรงงานชะลอกำลังการผลิตเพราะส่งออกลดลง ตอนนี้ยอดซื้อในประเทศฟื้นตัวมาก คิดว่าตัวเลขดีกว่าที่คาดการณ์ไว้”
นายกลินท์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การแพร่ระบาดระลอกสองของโควิด-19 ที่รุนแรงในหลายประเทศยังเป็นความเสี่ยงหลักในช่วงที่เหลือของปี 2563 ประเทศหลักในสหภาพยุโรปประกาศล็อกดาวน์ประมาณ 1 เดือน ในช่วงเดือนพฤศจิกายนเพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งแม้การล็อกดาวน์ในครั้งนี้จะเน้นจำกัดกิจกรรมของผู้บริโภค ไม่ได้ให้หยุดภาคการผลิต แต่ก็คาดว่าจะทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโดยรวมแผ่วลง ในเบื้องต้นคาดว่าจะกระทบ GDP ไทยในไตรมาสที่ 4 ราว 0.37-0.5% เนื่องจากคาดว่าจะมีผลกระทบต่อความต้องการสินค้าส่งออก
แต่หากไม่เกิดการระบาดระลอกใหม่ในประเทศไทย หรือสามารถควบคุมโรคให้อยู่ในวงจำกัดได้ กอปรกับเม็ดเงินจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมในช่วงที่เหลือของปี เช่น มาตรการคนละครึ่ง และมาตรการช้อปดีมีคืน เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ที่ประชุม กกร. มองว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 4 น่าจะฟื้นตัวได้ต่อไป สำหรับทั้งปี 2563 กกร.คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะหดตัวในกรอบ -9.0% ถึง -7.0% ขณะที่คาดว่าการส่งออกจะหดตัวในกรอบ -10.0% ถึง -8.0% ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าอยู่ในกรอบ – 1.5% ถึง -1.0%
กรอบประมาณการเศรษฐกิจปี 2563 ของ กกร.
%YoY | ปี 2562 | ปี 2563 ( ต.ค.63) | 2563 ( พ.ย.63) |
GDP | 2.4 | -9.0 ถึง -7.0 | -9.0 ถึง -7.0 |
ส่งออก | -2.7 | -10.0 ถึง -8.0 | -10.0 ถึง -8.0 |
เงินเฟ้อ | 0.7 | -1.5 ถึง -1.0 | -1.5 ถึง -1.0 |
ขณะที่ผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ ส่งผลต่อนโยบายการค้าและการลงทุนที่เปลี่ยนไปซึ่งมีผลทั้งบวกและลบ หากนายโจ ไบเดนจากพรรคเดโมแครต ชนะการเลือกตั้งประธานธิบดีสหรัฐฯ และพรรคเดโมแครตสามารถครองเสียงข้างมากทั้งในสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา อาจจะส่งผลให้นโยบายการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐฯ กับคู่ค้ามีแนวโน้มกลับมาผ่อนคลายมากขึ้น
“ถ้าโจ ไบเดน ได้เป็นประธานาธิบดี จะทำให้การค้าเสรีเพิ่มขึ้น การขับเคลื่อน CPTPP ที่เป็นนโยบายเดิมของประธานาธิบดีโอบามา แต่หากทรัมป์กลับมาก็คงเหมือนเดิม แต่คิดว่าไทยยังเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สหรัฐต้องเข้ามาเพื่อเชื่อมต่อไปยังจีน ถ้าโจ ไบเดนได้สถานการณ์น่าจะดีกว่า”
นายกลินท์ กล่าว
นายกลินท์ กล่าวว่า กกร.เห็นว่าเขตการค้าเสรี หรือ FTA เป็นเรื่องที่มีความสำคัญต่อไทยเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะ FTA ในกรอกใหม่และปัจจุบันยังอยู่ในการเตรียมการ เช่น FTA Thai-UK, FTA Thai-EU, CPTPP เป็นต้น ซึ่ง กกร.ได้พิจารณาแล้วว่ามีหลายข้อบทที่เกี่ยวเนื่องกันใน FTA เกือบทุกกรอบ ทั้งในระดับพหุภาคีและทวิภาคี ได้แก่ UPOV (การคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่), CL (Compulsory Licensing), แรงงาน และการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ โดย กกร.จะเสนอให้รัฐบาลจัดตั้งคณะทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐที่มีกระทรวงที่เกี่ยวข้องต่างๆ กับ กกร. เพื่อให้มีการเตรียมตัวครอบคุมในทุกภาคส่วน โดยอยากให้มีการจัดตั้งโดยเร็วเพื่อไม่ให้ไทยเสียโอกาสในเวทีการค้าโลก
สำหรับแผนการช่วยเหลือผู้ประกอบการในภาคธุรกิจโรงแรมที่มีข้อเสนอของภาคเอกชนได้เสนอไปยังภาครัฐก่อนหน้านี้ เรื่องการตั้งกองทุนเพื่อซื้อโรงแรมที่ยังมีศักยภาพตามความเหมาะสม โดย กกร.ได้มีการตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาเรื่องดังกล่าวโดยละเอียด
สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้รัฐบาลไทยจำเป็นต้องออกมาตรการปิดเมืองปิดประเทศหรือมาตรการล็อกดาวน์ เพื่อควบคุมและป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคดังกล่าว ทำให้เกิดผลกระทบโดยตรงต่อการเดินทางของนักธุรกิจชาวต่างชาติ รวมทั้งวิกฤตินี้ยังสะท้อนถึงปัญหาวีซ่าและใบอนุญาตทำงานของกลุ่มบุคคลดังกล่าวอีกด้วย
ทั้งนี้ รัฐบาลไทยได้แก้ไขปัญหาบางส่วนเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่นายจ้างและกลุ่มบุคคลดังกล่าวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว อาทิ การลดทอนเอกสารและลดขั้นตอนการดำเนินการ ตามประกาศกรมการจัดหางานลงนาม ณ วันที่ 30 กันยายน 2563
โดย กกร.จะส่งข้อเสนอเพิ่มเติมไปยังสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เพื่อแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับวีซ่าและใบอนุญาตทำงานของนักธุรกิจชาวต่างชาติ ดังนี้
- เสนอให้สามารถยื่นขอเปลี่ยนประเภทวีซ่าจาก Non-Immigrant O Visa เป็น Non-Immigrant B Visa ภายในประเทศไทยได้ เนื่องจากชาวต่างด้าวจำเป็นต้องเดินทางกลับไปยังประเทศต้นทางของตนเพื่อเปลี่ยนประเภทวีซ่าดังกล่าว
- เสนอให้แรงงานต่างด้าวทักษะสูงสามารถอยู่ในประเทศไทยต่อได้เป็นระยะเวลา 3 เดือน หลังจากที่ใบอนุญาตทำงานหมดอายุหรือถูกยกเลิกไป เพื่อหางานใหม่
- เสนอให้ยกเว้นการรายงานตัวทุก 90 วันแก่แรงงานต่างด้าวทักษะสูง โดยให้แจ้งเฉพาะกรณีที่มีการย้ายที่อยู่ถาวร
นายกลินท์ กล่าวว่า กกร.ขอให้ภาครัฐเร่งรัดการจ่ายเงินการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐทุกโครงการภายใน 30 วัน หลังจากการตรวจรับเรียบร้อยเพื่อช่วยในการเสริมสภาพคล่องทางการเงินภาคเอกชน และทางภาคเอกชนขนาดใหญ่กว่า 100 บริษัทได้ร่วมกันชำระหนี้ภายใน 30 วันแล้ว
ส่วนสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศขณะนี้มีแนวโน้มที่ดีขึ้น ไม่น่าจะเกิดเหตุการณ์รุนแรงตามที่เคยมีผู้คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ และคาดว่าสถานการณ์จะคลี่คลายไปได้ในที่สุด
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (4 พ.ย. 63)
Tags: กกร., กลินท์ สารสิน, สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, หอการค้าไทย, เศรษฐกิจไทย