ศาลล้มละลายกลาง มีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ บมจ.สายการบินนกแอร์. (NOK) และแต่งตั้งบริษัทแกรนท์ ธอนตัน สเปเชียลิสท์ แอ๊ดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด ร่วมกับนายปริญญา ไววัฒนา, นายไต้ ชอง อี, นายเกษมสันต์ วีระกุล, นายวุฒิภูมิ จุฬางกูร และ นายชวลิต อัตถศาสตร์ เป็นผู้ทำแผน
ทั้งนี้ NOK ได้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง เพราะมีหนี้สิน 2.6 หมื่นล้านบาท มากกว่าทรัพย์สินที่มีอยู่ 2.3 หมื่นล้านบาท โดยหนี้สินส่วนใหญ่เป็นค่าเช่าเครื่องบิน ซึ่งมีเจ้าหนี้กว่า 10 ราย
บริษัทฯ แจ้งว่า คณะผู้ทำแผนจะจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการเพื่อนำส่งต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกำหนดเวลาสามเดือนนับแต่วันโฆษณาคำสั่งตั้งผู้ทำแผนในราชกิจจานุเบกษา ภายใต้ พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/43 หรือประมาณภายในไตรมาส 1/64
อนึ่ง เจ้าหนี้ของบริษัทฯ จะขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการได้โดยการยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันโฆษณาคำสั่งตั้งผู้ทำแผน
นายเกษมสันต์ วีระกุล กรรมการ NOK กล่าวว่า จากที่ศาลล้มละลายกลางได้รับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของสายการบินนกแอร์ หลังบริษัทยื่นวันที่ 30 ก.ค.63 ทำให้บริษัทหยุดพักชำระหนี้ (Automatic Stay) ทุกอย่าง และศาลนัดไต่สวน 27 ต.ค.63 ซึ่งไม่มีเจ้าหนี้รายใดคัดค้าน ดังนั้นศาลจึงสั่งงดไต่สวน และวันนี้ศาลฯสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ
ก่อนหน้านี้ บริษัทได้ติดต่อเจ้าหนี้ทุกรายและได้รับผลตอบรับที่ดี โดยเจ้าหนี้สนับสนุนให้บริษัทเข้ากระบวนการฟื้นฟูกิจการ โดยเฉพาะเจ้าหนี้ที่เป็นผู้ให้เช่าเครื่องบิน ซึ่งมีมูลหนี้หรือมีค่าเช่าปัจจุบันและค่าเช่าในช่วง 10 ปีข้างหน้า มูลค่ารวมประมาณ 50% ของหนี้สินรวม 2.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้ก็เป็นหนี้สินหมุนเวียน 2.7 พันล้านบาท
นายเกษมสันต์ กล่าวว่า จากนี้ไปจะเป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ทรัพย์ที่จะแจ้งเจ้าหนี้ทั้งหมดยื่นขอรับชำระหนี้ หลังจากลงราชกิจจานุเบกษา หลังจากภายใน 1 เดือนให้เจ้าหนี้แจ้งว่าจะขอรับชำระหนี้เท่าไร
“การเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูต่อศาลล้มละลายกลาง เร็วกว่าที่เราคาดไว้ เรารู้ว่าศาลฯต้องการเห็นอะไร แต่คีย์หลักการยื่นขอฟื้นฟูยื่นด้วยความจริงใจ และมีช่องทางรอดหรือเปล่า…หล้งจากเข้าฟื้นฟูแล้ว เราต้องแก้ไขสัญญา หวังว่าแก้บนพื้นฐานว่าผู้ให้เช่าเดิมก็ได้ประโยชน์ถ้าให้ราคากับเราดี และเราก็เชื่อว่าเขาจะให้ราคากับเราดี รวมทั้งสัญญาซ่อมบำรุง จะรื้อทุกสัญญา ถึงบอกว่านกแอร์ยิ่งฟื้นฟู ยิ่งแข็งแรง เพราะจุดที่เราเคยจ่ายแพงแล้วมาต่อรองทำไม่ได้ แต่พอเข้าฟื้นฟูเราทำได้หมด เรามีความตั้งใจว่าจะยื่นแผนฟื้นฟูให้เร็วที่สุดก็ยิ่งทำให้เราทำมาหากินได้เร็วเท่านั้น”
นายเกษมสันต์ กล่าว
นายเกษมสันต์ กล่าวว่า ปัญหากิจการของ NOK ไม่เพียงได้รับผลกระทบจากการระบาดโควิด-19 ที่ไม่สามารถทำการบินได้ แม้ว่าที่ผ่านมากลุ่มนายวุฒิภูมิ เข้ามาบริหารจัดการสามารถลดผลขาดทุนลดลง แต่ต้นทุนจากค่าเช่าเครื่องบินสูงมากและค่าซ่อมบำรุงเครื่องบินก็สูงเช่นกันที่เกิดจากการทำสัญญาตั้งแต่เริ่มเปิดดำเนินการ รวมค่าใช้จ่ายประมาณ 40% ของต้นทุนรวม ซึ่งบริษัทฯพยายามต่อรองราคากับผู้ให้เช่าเครื่องบิน
แต่เมื่อบริษัทฯเข้ากระบวนการฟื้นฟูกิจการ และเข้าสู่ภาวะ Automatic Stay ช่วยเปิดโอกาสให้ NOK สามารถเจรจาการปรับปรุงสัญญาเช่าเครื่องบินได้ เพราะสถานการณ์ขณะนี้เครื่องบินต้องจอดทิ้งไว้ เนื่องจากไม่สามารถทำการบินได้จากการระบาดโควิด-19 กลายเป็นตลาดของผู้เช่าที่สามารถต่อรองปรับลดราคาค่าเช่า อาจจะปรับมาคิดค่าเช่าเป็นรายชั่วโมงแทนการคิดเป็นรายเดือน รวมทั้งปรับปรุงสัญญาการซ่อมบำรุงรักษาเครื่องบินด้วย
นอกจากนี้ ในระหว่างที่บริษัทอยู่ในภาวะ Automatic Stay ทำให้บริษัทมีสภาพคล่องเพียงพอระดับพันล้านบาทในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งเป็นวงเงินกู้ที่เหลือจากการกู้เงินผู้ถือหุ้นรายใหญ่ราว 2.7 พันล้านบาท โดยปัจจุบันบริษัทสามารถเปิดทำการบินได้ครบ 24 เส้นทาง วันละ 38 เที่ยวบิน แต่ความถี่อาจจะไม่ครบตามตารางบินเดิม โดยกลับมาทำการบินได้ราว 70% จากช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ด้วยเครื่องบิน 22 ลำ ที่มีค่าเฉี่ยนการใช้เครื่องบิน 7-8 ชั่วโมง/วัน จากก่อนโควิดใช้เครื่องบิน 11 ชั่วโมง/วัน
ขณะที่อัตราส่วนบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 60-70% และแนวโน้มในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปี (พ.ย.-ธ.ค.) ซึ่งอยู่ในช่วงฤดูท่องเที่ยว สถานการณ์การจองตั๋วล่วงหน้ากลับมาดี คาดว่า Cabin Factor จะเพิ่มไปที่ระดับ 70-80% เพราะภาพรวมคนไทยมีการเดินทางมากขึ้น เพราะคนไทยชอบท่องเที่ยว
อีกทั้งนกแอร์จะเปิดทำการบินเส้นทาง กรุงเทพฯ-น่าน ในวันที่ 1 ธ.ค.นี้ และเปิดเส้นทางบินข้ามภาคใหม่ เช่น เชียงใหม่ -อุดรธานี, เชียงใหม่-หาดใหญ่ และกำลังจะเปิดเส้นทาง เชียงใหม่-แม่ฮ่องสอน รวมทั้งจะมีเส้นทางไปต่างประเทศที่มีระยะเวลาบินยาวขึ้น อาทิ ฟิลิปปินส์ ประเทศแถบตะวันออกกลาง ประเทศอาเซียน จากที่ในอดีตบินไปฮิโรชิม่า ประเทศญี่ปุ่น
แผนธุรกิจของบริษัทดังกล่าวจะบรรจุไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการ ที่มีแผนทำการบิน และแผนการปรับลดต้นทุน ทั้งค่าเช่าเครื่องบิน รวมทั้งจะมีการปรับโครงสร้างองค์กร ปรับขนาดให้เหมาะสมกับขนาดฝูงบิน โดยปัจจุบันมีพนักงานอยู่ 1,500 คนจากก่อนหน้าได้ปรับลดเงินเดือน และบางส่วนงดจ่ายเงินเดือนโดยให้เปลี่ยนเป็นวันหยุด เพื่อรักษากระแสเงินสด ขณะเดียวกันชะลอการรับเครื่องมือโบอิ้ง 737 MAX รวมทั้งจะมีแผนการชำระหนี้ควบคู่ไปกับแผนธุรกิจด้วย
นอกจากนั้น จะมีการขยายฐานลูกค้าใหม่ จากที่กลุ่มผู้ถือหุ้นได้เข้าไปถือหุ้นในธุรกิจมีเดีย เช่น เครือจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ , บมจ.บีอีซี เวิล์ด (BEC) ภายใต้ความร่วมมือกัน โดยปลายเดือน พ.ย.นี้ แกรมมี่จะจัดคอนเสิร์ตใหญ่ ก็จะมีความร่วมมือส่งเสริมการขายซึ่งกันและกัน หรือ ร้านซีเอ็ด ซึ่งตนเป็นประธานกรรมการอยู่นั้น ก็มีความร่วมมือกันให้ผู้โดยสารนกแอร์มี e-Book ให้อ่านฟรี และจังหวัดไหนที่ทำการบิน นกแอร์จะจับมือกับทางราชการและหอการค้า ธุรกิจในจังหวัดนั้นๆ เป็นส่วนร่วมชุมชนนั้น เป็นส่วนช่วยน้ำหนักกระเป๋าสัมภาระ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (4 พ.ย. 63)
Tags: NOK, ชวลิต อัตถศาสตร์, ปริญญา ไววัฒนา, ฟื้นฟูกิจการ, วุฒิภูมิ จุฬางกูร, ศาลล้มละลายกลาง, สายการบินนกแอร์, เกษมสันต์ วีระกุล, แกรนท์ธอนตัน, ไต้ ชอง อี