พร้อมแล้ว !! กับหุ้นป้ายแดง บมจ.ลีโอ โกลบอล โลจิสติกส์ (LEO) ภายหลังจากเตรียมเดินหน้าเข้าซื้อขายตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ในวันที่ 5 พ.ย.63 โดยมี บล.ทรีนีตี้ เป็นที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจัดจำหน่ายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้กับประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวน 120 ล้านหุ้นที่ราคาหุ้นละ 3.42 บาท คิดเป็นอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิ (P/E Ratio) 27.40 เท่า จากมูลค่าที่ตราไว้ 0.50 บาท/หุ้น
สำหรับหุ้น IPO จำนวน 120 ล้านหุ้น แบ่งขายให้บุคคลทั่วไป 90 ล้านหุ้น คิดเป็น 75% ของหุ้นที่เสนอขาย เสนอขายต่อผู้มีอุปการคุณของบริษัทฯ 18 ล้านหุ้น คิดเป็น 15% และเสนอขายต่อกรรมการ ผู้บริหาร พนักงานของบริษัทฯ อีก 12 ล้านหุ้น คิดเป็น 10% โดยระดมทุนราว 410 ล้านบาท
เชื่อมั่น IPO 3.42 บาท ฝ่าตลาดเดือดโค้งสุดท้าย
นายเกตติวิทย์ สิทธิสุนทรวงศ์ รองประธานคณะกรรมการบริษัท ประธานคณะผู้บริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร LEO เปิดเผยกับ “อินโฟเควสท์” ว่า ส่วนตัวมีความเชื่อมั่นต่อการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ mai ในวันที่ 5 พ.ย.นี้ เพราะด้วยประสบการณ์เกือบ 30 ปีมีความมั่นใจศักยภาพการดำเนินธุรกิจในฐานะผู้นำการให้บริการโลจิสติกส์แบบครบวงจรที่ครอบคลุมทั่วโลก “End -to-End Global Logistics Services”
นอกจากนั้น การกำหนดราคาหุ้นไอพีโอที่ 3.42 บาทภายใต้สมมติฐานผลกำไรย้อนหลัง 12 เดือน คิดเป็น P/E อยู่ที่ 27.40 เท่า อาจจะมองว่าเป็น P/E สูง แต่เกิดจากผลประกอบการในไตรมาส 3/62 และไตรมาส 4/62 ปรับตัวลดลงไม่ได้อยู่ในภาวะปกติ แต่หากนำราคาไอพีโอที่ 3.42 บาทมาเปรียบเทียบกับผลประกอบการที่อยู่ในภาวะปกติ หรือ นำไปเทียบกับผลประกอบการของปี 62 จะพบว่า P/E อยู่ที่ 13 เท่า
อย่างไรก็ตาม หากผลประกอบการตลอดทั้งปี 63 มีสัญญาณที่ดีขึ้นค่าเฉลี่ย P/E ก็จะลดลงเมื่อเทียบกับสมมติฐาน P/E ที่ใช้กำหนดราคาไอพีโออย่างแน่นอน
“บทวิเคราะห์หลายสำนักก็จัดทำบทวิจัยฯแนวโน้มผลประกอบการปี 64 ก็น่าจะเห็นสัญญาณบวกของการเติบโตผลประกอบการที่ค่อนข้างดี ดังนั้นในมุมมองส่วนตัวคิดว่าราคาไอพีโอ 3.42 บาทเป็นอัตราที่มีความเหมาะสมสอดคล้องกับสภาวะของตลาดหลักทรัพย์ในปัจจุบัน”นายเกตติวิทย์ กล่าว
โลจิสติกส์ครบวงจรคลุม 190 ประเทศทั่วโลก
นายเกตติวิทย์ กล่าวว่า ธุรกิจหลักของบริษัทประกอบด้วย 4 กลุ่ม ได้แก่ การบริการรับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศทางทะเล (Sea Freight) ซึ่งมีสัดส่วนรายได้หลักคิดเป็น 64%, การบริการรับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศทางอากาศ (Air Freight) สัดส่วน 19%, การบริการสนับสนุนการให้บริการโลจิสติกส์และการขนส่งสินค้าแบบครบวงจร (Integrated Logistics Services หรือ ILS) มีสัดส่วนรายได้คิดเป็น 16% และที่เหลือประมาณ 1% และ ธุรกิจบริการพื้นที่สำหรับเก็บของ (Leo Self Stroage หรือ LSS) สัดส่วน 0.59%
“เรามีบริการที่หลากหลายตั้งแต่ขนส่งสินค้าขนาดใหญ่ เช่น เครื่องจักร มาถึงสินค้าขนาดเล็กที่เป็นสินค้าประเภท e-commerce ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าด้านการขนส่งได้อย่างครบวงจร ขณะที่การบันทึกรายได้ของการให้บริการขนส่งทางอากาศอาจมีความแตกต่างจากบริษัทอื่นที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกันที่เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯที่บันทึกรายได้เป็น Gross Revenue หรือบันทึกเป็นรายได้ตรง
แต่ส่วนของบริษัทที่เป็นตัวแทนสายการบิน ทำให้บริษัทเป็นผู้กำหนดค่าระวาง มีรายได้ในส่วนของการบริหารจัดการ ,ค่าคอมมิชชั่น ที่จะนำมาบันทึกเป็นรายได้ของบริษัทเท่านั้น สะท้อนมางบการเงินว่ารายได้จากขนส่งทางอากาศเป็นสัดส่วนที่น้อยเมื่อเทียบกับผู้เล่นรายอื่น แต่อยากให้มองว่าเป็นการบันทึกจากส่วนต่างของกำไรที่แท้จริง หรือเป็น Gross Profit Margin ดังนั้นอยากผู้ลงทุนนำตัวเลข Gross Profit Margin ไปเทียบกับผู้เล่นรายอื่นที่เป็นบริษัทจดทะเบียนจะพบว่าความสามารถทำกำไรในส่วนของการให้บริการขนส่งทางอากาศไม่ได้แพ้กับบริษัทอื่นอย่างแน่นอน”นายเกตติวิทย์ กล่าว
รับอานิสงส์ E-Commerce เติบโตท่ามกลางโควิดระบาด
แม้ว่าเศรษฐกิจทั่วโลกจะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 แต่อุตสาหกรรมโลจิสติกส์มีส่วนสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการค้าโลก ทำให้แนวโน้มธุรกิจโลจิสติกส์ยังสามารถเติบโตได้ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงที่มีรอบด้าน โดยเฉพาะการเติบโตของธุรกิจ E-Commerce ระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มลูกค้าหลักของบริษัทที่สามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่องแม้ว่าจะเกิดวิกฤติโควิด-19 ก็ตาม
อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าในปี 63 ถือเป็นหนึ่งปีที่มีความท้าทาย แม้ว่าก่อนหน้านี้จะเคยกังวลหลังจากหลายประเทศล็อกดาวน์ในช่วงเดือน ก.พ.-มี.ค. ส่งผลให้ปริมาณการขนส่งสินค้าลดลง 25-30% แต่ภาพรวมธุรกิจของบริษัทก็แทบไม่ได้รับผลกระทบเพราะมีการกระจายการให้บริการขนส่งสินค้าหลายภูมิภาคทั่วโลก ขณะที่ปัจจุบันสถานการณ์การขนส่งสินค้าก็กลายเป็นผลกระทบด้านบวกหลังจากประเทศจีนเปิดประเทศผ่อนคลายล็อกดาวน์ กระตุ้นดีมานด์เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ชดเชยผลกระทบที่ขาดหายไปช่วงเดือน ก.พ.-มี.ค.
“ตลอด 30 ปีเราผ่านวิกฤติเศรษฐกิจมาหลายครั้ง เราพยายามปรับตัว โดยเฉพาะการกระจายความเสี่ยงให้บริการหลายตลาดทั่วโลก ไม่ได้กระจุกตัวอยู่แค่ตลาดใดตลาดหนึ่งเท่านั้น พร้อมกับมุ่งมั่นพัฒนาการบริการให้มีความหลากหลายครอบคลุมการขนส่งสินค้าอย่างครบวงจรแนวโน้มธุรกิจโลจิสติกส์ในช่วงครึ่งหลังของปี 63 ส่งสัญญาณการฟื้นตัวขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ สะท้อนจากมุมมองของผู้ประกอบการรายใหญ่ในอุตสาหกรรมเดินเรือก็มองเห็นสัญญาณที่ดีต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเกิดจากค่าขนส่งสินค้าทางทะเลเข้าไปในประเทศสหรัฐฯ เพราะเมื่อต้นปีการขนส่งสินค้าตู้คอนเทนเนอร์สั้นเฉลี่ย 900 เหรียญสหรัฐ แต่ปัจจุบันเพิ่มขึ้นมาเป็น 3,000 เหรียญสหรัฐเพิ่มขึ้นเป็นเท่าๆตัว”
นายเกตติวิทย์ กล่าว
ระดมทุน mai เพิ่มฐานทุน M&A อัพมาร์จิ้นด้วย “Self Storage”
วัตถุประสงค์ในการระดมทุนในครั้งนี้ บริษัทจะนำเงินไปลงทุนในธุรกิจ Leo Self Storage และ E-Fulfillment Center จำนวน 2 โครงการ, นำเงินไปพัฒนาระบบขนส่งผ่านแดนไปยังประเทศเมียนมา, นำเงินไปขยายพื้นที่บริการรับฝากตู้สินค้าคอนเทนเนอร์ รวมทั้งใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน และเข้าร่วมลงทุนกับพันธมิตรทางธุรกิจทั้งในประเทศและกลุ่มประเทศอาเซียน ด้วยการซื้อและควบรวมกิจการ (M&A) ในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง โดยเฉพาะการให้บริการขนส่งทางอากาศ (Air Freight) ซึ่งเริ่มมีความต้องการใช้บริการมากขึ้น ซึ่งการทำ M&A จะทำให้บริษัทสามารถขยายงานดังกล่าวได้อย่างรวดเร็ว และทันต่อความต้องการใช้บริการของลูกค้า
ด้านแผนการขยายธุรกิจ Self-Storage ที่ปัจจุบันบริษัทมีพื้นที่ 1,200 ตารางเมตร เป็นธุรกิจที่คล้ายกับคลังสินค้า มีโอกาสเติบโตอีกมากในอนาคต เพราะช่วงแรกของการเริ่มดำเนินกิจการมีผู้ประกอบการรายใหญ่เพียง 2-3 รายเท่านั้น นอกจากมีรายได้จากค่าเช่าแล้วก็ยังสามารถเพิ่มมูลค่าการให้บริการได้อีกด้วย เป็นหนึ่งธุรกิจที่มีศักยภาพทำกำไรค่อนข้างสูง นอกจากนั้น การแข่งขันค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับธุรกิจการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ แต่ตัวแปรสำคัญของธุรกิจดังกล่าวคือทำเลทองที่มีดีมานด์สูงโดยเฉพาะในพื้นที่ใจกลางเมือง
นอกจากนี้ ตลอด 3 ปีที่ผ่านมาบริษัทมุ่งเน้นการให้บริการในธุรกิจที่ได้รับมาร์จิ้นสูงมากกว่าการเพิ่มขึ้นของรายได้ สะท้อนจากอัตรากำไรขั้นต้น 3 ปีย้อนหลังเพิ่มขึ้นทุกปีจาก 25% ล่าสุดมาเป็น 28-29% เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าการดำเนินธุรกิจของบริษัทมาถูกทาง และหลังจากการระดมทุนผ่านตลาดทุนแล้วความสามารถการเพิ่มขึ้นของอัตรากำไรก็จะดีขึ้นอย่างแน่นอน
“ธุรกิจ Self-Storage ไม่ใช่ธุรกิจโลจิสติกส์ แต่เป็นการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพิ่มมูลค่าทรัพย์สิน ความโดดเด่นคือเมื่อมีลูกค้าเข้ามาใช้บริการแล้วส่วนใหญ่ก็จะใช้บริการต่อเนื่องระยะยาว เป็นหนึ่งธุรกิจที่สร้างรายได้ประจำเพิ่มความมั่นคงให้กับผลการดำเนินงานบริษัทในอนาคต นับเป็นการกระจายความเสี่ยงออกมาจากธุรกิจโลจิสติกส์ที่เป็นการทำสัญญาบริการระยะสั้นเท่านั้น และแม้ว่าธุรกิจ Self-Storage แห่งแรกบริษัทมีพื้นที่ 1,200 ตารางเมตรที่ใช้พนักงานเพียง 2 คน แต่หากอนาคตเพิ่มพื้นที่เป็น 3,000-4,000 ตารางเมตรบริษัทไม่ต้องลงทุนด้านบุคลากรเพิ่มเติมเพราะใช้ระบบ IT เข้ามาช่วยบริหารจัดการทั้งหมด เป็นธุรกิจที่มีมาร์จิ้นค่อนข้างสูง”
นายเกตติวิทย์ กล่าว
อนาคตตั้งเป้าขยายเครือขยายโลจิสติกส์อาเซียน
นายเกตติวิทย์ ยอมรับว่า ในช่วงหลังมานี้ความสามารถแข่งขันของประเทศไทยลดลง ทำให้การขนส่งสินค้ากระจายตัวในอาเซียนมากขึ้น เป็นสิ่งที่จำเป็นที่บริษัทต้องเข้าไปร่วมทุนหรือซื้อกิจการในอาเซียน เพื่อมาต่อยอดสร้างความแข็งแกร่งให้กับเครือข่ายโลจิสติกส์ของบริษัท แม้ว่าจะมีกระแสด้านลบจากการเข้ามาแข่งขันของผู้เล่นโลจิสติกส์รายใหญ่ แต่อยากมองเป็นบวกมากกว่าจากการที่บริษัทกำลังก้าวไปเป็นหนึ่งในผู้เล่นของอาเซียนที่มีโอกาสการเติบโตอีกมูลค่ามหาศาล
“สำหรับโมเดลการซื้อกิจการนั้นบริษัทคงต้องเน้นกิจการที่มีคุณภาพต่อยอดกับธุรกิจหลักของบริษัทได้อย่างมีประสิทธิภาพและต้องไม่สร้างความเสี่ยงต่อการขาดทุน โดยที่มองหาโอกาสคือพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญด้านการขนส่งสินค้าทางอากาศที่ปัจจุบันบริษัทต้องการเพิ่มสัดส่วนรายได้มากขึ้นและเป็นการให้บริการที่มีมาร์จิ้นค่อนข้างดี”
นายเกตติวิทย์ กล่าว
โบรกฯให้ราคาเป้าหมาย LEO ที่ 4.36-4.44 บาท
โบรกเกอร์ | ราคาเป้าหมาย (บาท/หุ้น) |
โนมูระ พัฒนสิน | 4.36 |
ฟินันเซีย ไซรัส | 4.44 |
บล.โนมูระ พัฒนสิน ระบุในบทวิเคราะห์ ประเมินมูลค่าพื้นฐานของ LEO ที่ 4.36 บาท/หุ้น ด้วยวิธี P/E multiple ที่ 20 เท่า (อิงจากค่า P/E เฉลี่ยของหุ้นโลจิสติกส์ใน SET และ mai) โดย LEO เป็นผู้ประกอบธุรกิจโลจิสติกส์ครบวงจรครอบคลุมทั่วโลก เป็นพันธมิตรกับสายเดินเรือสัญชาติเกาหลี และผู้ให้บริการขนส่งพัสดุและเอกสารเร่งด่วนระหว่างประเทศจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งในปีนี้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 กระทบต่อปริมาณขนส่ง แต่ได้ประโยชน์จากราคาค่าบริการขนส่งทางอากาศสูงขึ้น และการบริหารต้นทุน ค่าใช้จ่ายทำได้ดี หนุนกำไรสุทธิให้เติบโตได้ 27% จากปีที่แล้ว เป็น 58 ล้านบาท และในปี 64-65 คาดว่ากำไรสุทธิเติบโตต่อเนื่องตามการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจและปริมาณขนส่งสินค้า
โดยมี Catalysts จากราคาค่าบริการขนส่งทางอากาศเพิ่มขึ้น ปริมาณขนส่งทางทะเลได้รับการชดเชยจากงานขนส่งทางอากาศที่โยกมาขนส่งทางทะเลแทน และการควบคุมต้นทุน ค่าใช้จ่ายภายในบริษัท ขณะที่ธุรกิจโลจิสติกส์มีแนวโน้มเติบโตจากนโยบายรัฐสนับสนุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าในภูมิภาคอาเซียน และได้ประโยชน์จากการขยายตัวของธุรกิจ E-Commerce
ด้านบล.ฟินันเซีย ไซรัส ในกลุ่ม Finansia ซึ่งเป็นผู้ร่วมจัดจำหน่ายและรับประกันการจัดจำหน่าย ระบุในบทวิเคราะห์ว่า LEO เป็นผู้ให้บริการโลจิสติกส์แบบครบวงจรทั้งทางทะเล อากาศ บก โดยมีจุดแข็งคือมีเครือข่ายพันธมิตรใน 190 ประเทศทั่วโลก ประกอบกับมีทีมขายที่มีความเชี่ยวชาญ และมีความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้ามายาวนาน ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบในการรักษาฐานลูกค้าไม่ให้ย้ายไปใช้บริการกับรายอื่น แม้ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ จะได้รับผลลบจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้กำไรลดลง 9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ล่าสุดการกลับมา Reopen ทำให้ความต้องการบริการขนส่งฟื้นตัวขึ้น ทั้งนี้คาดว่า LEO จะมีกำไรสุทธิปี 63 เติบโต 29% จากปีก่อน และโตต่อเนื่อง 27% จากปีนี้ จากการฟื้นตัวหลังสถานการณ์โควิด-19 โดยประเมินราคาเป้าหมายที่ 4.44 บาท/หุ้น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (04 พ.ย. 63)
Tags: IPO, LEO, mai, Self-Storage, ขนส่งสินค้า, ตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ, บล.ทรีนีตี้, บล.ฟินันเซีย ไซรัส, บล.โนมูระ พัฒนสิน, ลีโอ โกลบอล โลจิสติกส์, หุ้นไทย, หุ้นไอพีโอ, เกตติวิทย์ สิทธิสุนทรวงศ์, โลจิสติกส์, ไอพีโอ