นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กล่าวว่า จากโครงสร้างคณะกรรมการปรองดองสมานฉันท์นั้น สนับสนุนให้ใช้
รูปแบบที่ 1 คือ คณะกรรมการที่ประกอบด้วยทุกฝ่ายรวม 7 ฝ่าย เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายได้พูดคุยกัน รวมถึงตัวแทนผู้ชุมนุม ฝ่ายเห็นต่างกับผู้ชุมนุม และนักวิชาการทุกแนวคิด ซึ่งบางเรื่องต้องเป็นการพูดคุยกันภายใน เพราะหากเป็นการเจรจาในรูปแบบการถ่ายทอดสดเหมือนในปี 2553 แล้ว มองว่าจะไม่สำเร็จ
ส่วนรูปแบบที่ 2 คือ คณะกรรมการจากคนนอกนั้น นายสมชาย มองว่าเป็นอีกรูปแบบที่มีความเป็นไปได้ แต่ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการชุดนายคณิต ณ นคร หรือชุดนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน ที่เป็นคณะกรรมการจากคนนอกทั้งหมดนั้น แม้มีรายงานผลสรุปที่ดี แต่ถูกเลือกใช้แค่บางประเด็น เพราะไม่สามารถผูกมัดเป็นฉันทามติให้ทุกฝ่ายปฏิบัติตามได้
นายสมชาย กล่าวว่า ส่วนตัวเห็นด้วยกับข้อเสนอหลายอย่างของนักเรียน นิสิต นักศึกษา เช่น การยกเลิกสายสาขาวิชา หรือการปรับเรื่องทรงผม และหวังให้นักเรียน นิสิต นักศึกษาเคลื่อนไหวตรวจสอบการคอร์รัปชั่นในทุกระดับ แต่เรื่องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ หากจะมีการพูดคุยกันหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการ แต่ส่วนตัวแล้วไม่เห็นด้วย เพราะหลายเรื่องที่จำเป็นต้องปฏิรูป ทั้งการเมือง การยุติธรรม การศึกษาก็ยังไม่มีการปฏิรูป
ส่วนการแก้ไขปัญหาประเทศตามข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุม นายสมชาย กล่าวว่าแม้นายกรัฐมนตรีลาออกก็เชื่อว่าไม่สามารถแก้ปัญหาได้ เพราะมีหลายเรื่องสมควรต้องได้รับการแก้ไขก่อน เช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะเข้าสู่รัฐสภาในกลางเดือน พ.ย.นี้ ซึ่งตนเคยให้ความเห็นแล้วว่าหากจะแก้ไขรายมาตรา เป็นเรื่องที่สามารถทำได้ เช่น กรณียกเลิก ส.ว.ลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี หรือการแก้ไขระบบเลือกตั้ง
ส่วนกรณี ส.ว.มีแนวโน้มเห็นชอบหลักการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 เพื่อจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) นั้น นายสมชาย กล่าวว่า การยกร่างใหม่ทั้งฉบับ ยังมีปัญหาที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ จึงไม่สามารถบอกแนวโน้มการลงมติมาตรา 256 เพราะเป็นเอกสิทธิ์ของ ส.ว.แต่ละคนในการลงมติ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (3 พ.ย. 63)
Tags: การเมือง, คณะกรรมการสมานฉันท์, ชุมนุมทางการเมือง, สมชาย แสวงการ, สมาชิกวุฒิสภา