นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา กล่าวถึงความคืบหน้าในการตั้งคณะกรรมการปรองดองสมานฉันท์ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณากำหนดรูปแบบ ซึ่งคณะทำงานกำลังเร่งดำเนินการ และต้องรอดูว่าคณะทำงานจะเสนอแนวทางมาอย่างไร ส่วนข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุมเป็นคนละส่วน และจะไม่ไปแตะต้อง โดยขอให้แต่ละฝ่ายทำหน้าที่ของตนเอง
ประธานรัฐสภา กล่าวว่า ไม่ได้มีการกำหนดวันเวลานัดหมายเพื่อหารือกันอย่างเป็นทางการ แต่เป็นเรื่องที่สมาชิกเสนอขอให้สภาฯ ช่วยประสานงานในทุกทางเท่าที่จะดำเนินการได้ และประสานกับผู้ใหญ่ที่มีประสบการณ์ด้านนี้ รวมทั้งผู้ที่เคยปฏิบัติจริงทั้งจากสถาบันพระปกเกล้า และนักวิชาการต่างๆ โดยได้เชิญให้เข้ามามีส่วนร่วมกับคณะกรรมการชุดนี้ และไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นนักการเมือง แต่อาจจะเป็นเจ้าหน้าที่ข้าราชการ หรือบุคคลที่สนใจ
ประธานรัฐสภา ยืนยันว่าไม่ได้มีความกดดัน เพราะถือว่าเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายตั้งใจให้ทำ และรัฐสภาจะพยายามหาทางช่วยอย่างเต็มที่ เพราะเป็นเรื่องของชาติบ้านเมือง ไม่ใช่เรื่องของใครคนใดคนหนึ่ง เพื่อให้ทุกฝ่ายคลายกังวลได้บ้าง
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าวถึงกรณีการเชิญอดีตนายกรัฐมนตรีมาเป็นคณะกรรมการสมานฉันท์ว่า เป็นเรื่องที่ดี น่าสนับสนุนและน่าสรรเสริญ เพราะควรรักกันคนในประเทศจะเกลียดกันไม่ได้
ส่วนจะได้รับความร่วมมือจากอดีตนายกรัฐมนตรีหรือไม่นั้น นายอนุทินว่า ตนเองไม่ทราบ และไม่กล้าไปพูดเพราะเป็นความคิดของแต่ละคน แต่เชื่อว่า คนที่เป็นอดีตนายกรัฐมนตรีจะเป็นคนที่หวังดีต่อบ้านเมือง
ด้านนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงข้อเสนอการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์จากตัวแทน 7 ฝ่ายว่า ไม่ได้หมายว่าฝ่ายใดจะมากน้อยกว่ากันแต่เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายจะต้องแสวงหาความเห็นพ้องร่วมกันไม่ใช่การบังคับให้เสียงข้างมากบังคับเสียงข้างน้อย และต้องยอมรับว่าบางเรื่องใช้วิธีโหวตไม่ได้จะต้องทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน เพื่อให้ได้ความคิดเห็นที่ตรงกัน แต่ไม่จำเป็นต้องเป็นตามแนวทางนี้ ขึ้นกับประธานรัฐสภาเห็นว่า แนวทางใดเหมาะสมที่สุด
ในนามพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมที่จะให้การสนับสนุนเพื่อหาทางออกให้กับประเทศร่วมกัน และเป็นไปได้ว่า ประเด็นการแก้รัฐธรรมนูญจะเป็นประเด็นสำคัญที่จะหยิบยกมาพูดคุยกันหรือแม้กระทั่งการทำประชามติด้วย รวมไปถึงอีกหลายเรื่องที่หลายฝ่ายเสนอ
ส่วนกรณีที่ฝ่ายค้านจะไม่เข้าร่วมในคณะกรรมการสมานฉันท์นั้น นายจุรินทร์ กล่าวว่า ถ้าจะให้ดีที่สุดจะต้องเข้าร่วม เพื่อให้เกิดความเห็นพ้องต้องกัน และไม่อยากให้สื่อด่วนสรุปว่าจะไม่เข้าร่วม เพราะบางฝ่ายอาจจะมีการรอดูความชัดเจนของคณะกรรมการชุดนี้ก่อนว่า จะออกมาเป็นรูปแบบใดและไม่ใช่เรื่องแปลก
ส่วนกรณีที่ฝ่ายค้านย้ำจุดยืนนายกรัฐมนตรีจะต้องลาออกจากตำแหน่งเท่านั้น ก็เป็นข้อเสนอของฝ่ายค้านที่จะต้องพูดคุยร่วมกันรวมถึงข้อเสนอให้มี 2 ฝ่ายคือ ฝ่ายสนับสนุนนายกรัฐมนตรีและเห็นควรให้นายกรัฐมนตรีลาออกจะเพียงพอที่จะแก้ปัญหาสถานการณ์ขณะนี้ได้หรือไม่นั้น ส่วนตัวเห็นว่า เสนอได้แต่ต้องพูดคุยกันเพราะตนเองไม่ได้อยู่ในสถานะที่ให้ข้อสรุปได้เช่นกัน เพราะตนเองเป็นเพียงส่วนหนึ่งในคณะกรรมการหากได้รับเชิญ แต่ถ้าไม่ได้รับเชิญก็พร้อมสะท้อนความเห็นข้างนอก
พร้อมปฎิเสธแสดงความเห็น กรณีนายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เสนอให้ทำประชามติว่าประชาชนเห็นด้วยหรือไม่ในการห้ามชุมนุมเป็นระยะเวลา 2 ปี ทั้งนี้ประเด็นการยื่นทำประชามติอยู่ในเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญที่สามารถทำได้ แต่ไม่ทราบว่าบทสรุปจะออกมาเป็นอย่างไร
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (3 พ.ย. 63)
Tags: การเมือง, คณะกรรมการสมานฉันท์, จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์, ชวน หลีกภัย, ชุมนุม, พรรคประชาธิปัตย์, พรรคพลังประชารัฐ, พรรคภูมิใจไทย, ม็อบ, รัฐสภา, อนุทิน ชาญวีรกูล, ไพบูลย์ นิติตะวัน