โบรกเกอร์ ต่างเห็นพ้องแนะนำ”ซื้อ” หุ้นบมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) หลังประกาศกำไรสุทธิ ในไตรมาส 1/63 (ต.ค.-ธ.ค.62) 7.4 พันล้านบาทดีกว่าคาด แต่สถานการณ์แพร่ระบาดไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ที่เริ่มกระจายในปลายเดือน ม.ค.จะกระทบธุรกิจในไตรมาส 2 -ไตรมาส 3
ทั้งนี้ได้ปรับลดประมาณการจำนวนผู้โดยสารลดลง 4.5% -10% และจำนวนเที่ยวบินลดลง 5% แต่มองว่าเป็นผลกระทบระยะสั้น
ทั้งนี้ คาดการณ์กำไรสุทธิในงวดปี 63 (ต.ค.62-ก.ย.63) ที่ 2.4-2.8 หมื่นล้านบาท ซึ่งบางโบรกเกอร์ปรับลดประมาณการ แต่ในงวดปี 64 คาดจะเติบโตก้าวกระโดด มาที่ 3.9 -4.0 หมื่นล้านบาท จากรายได้สัญญาสัมปทานดิวตี้ฟรีใหม่ ที่จะเริ่มต.ค.63
เที่ยงราคาหุ้น AOT ปิดที่ 70.75 บาท ราคาไม่เปลี่ยนแปลง ขณะที่ SET ปรับตัวลง 2.80 จุด นายปริญญ์ กิจจาทรพิทักษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) กล่าวว่า กำไรสุทธิของ AOT ในไตรมาส 1/63 (ต.ค.-ธ.ค.62) อยู่ที่ 7.4 พันล้านบาท (+15.0% YoY, +43.2% QoQ) สูงกว่าคาด
เพราะมีรายได้อื่นเข้ามา จำนวน 523 ล้านบาท จากที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาไม่ต้องจ่ายชดเลยจากข้อพิพาทสัญญาให้เช่าพื้นที่ภายในศุนย์บริหารการขนส่ง ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ทำให้มีการกลับรายการจากที่บริษัทตั้งสำรองไว้ ทั้งนี้หากตัดรายการนี้ กำไรจะใกล้เคียงที่คาดไว้
จากสถานการณ์การระบาดไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) มองว่าจะมีผลกระทบ 2 ไตรมาสข้างหน้า (ม.ค.-มิ.ย.63) จะทำให้ AOT มีความเสี่ยงผลประกอบการจะอ่อนแอลง จะไม่ดีเท่าไตรมาส 1/63
ในเบื้องต้น ประเมินว่า จากการระบาดไวรัสโคโรนา ทำให้จำนวนผู้โดยสารในปีนี้ลดลง 10% และจำนวนเที่ยวบินลดลง 5% จะส่งผลกระทบกับประมาณการกำไรสุทธิปีนี้ 4.5% ทั้งนี้ จำนวนผู้โดยสารชาวจีนคิดเป็นสัดส่วน 25% ของจำนวนผู้โดยสารทั้งหมดของ AOT โดยก่อนหน้านี้ จีนได้สั่งห้ามคนจีนเดินทางออกจากอู่ฮั่นเพื่อยังยั้งการแพร่ระบาดไวรัสโคโรนา
“เป็นผลกระทบช่วงสั้น ที่ไวรัสโคโรนาก็เกิดขึ้นปีนี้ปีเดียว กระทบกำไรสุทธิปีนี้ แต่ยังแนะนำ”ซื้อ” เพราะใน long term เห็นทิศทางการเติบโตที่ค่อนข้างดี โดยในส่วน NON-AERO จากสัญญาดิวตี้ฟรีใหม่ของคิงเพาเวอร์ ที่สนามบินสุวรรณภูมิ และสนามบินภูมิภาคอีก 3 แห่ง (ภูเก็ต เชียงใหม่ หาดใหญ่)รวม 4 สนามบิน ที่มีรายได้อย่างน้อย 1 หมื่นล้านบาท จะทำให้รายได้และกำไรในปี 64 ก้าวกระโดด”
นายปริญญ์ กล่าว
ทั้งนี้ ยังคงประมาณการกำไรสุทธิในงวดปี 63 ที่ 2.85 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.8%จากปีก่อน และคาดตั้งแต่งวดปี 64 เป็นต้นไป มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 4 หมื่นล้านบาท
บล.เคทีบี (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ว่า คงคำแนะนำ”ซื้อ” แต่ปรับลดราคาเป้าหมายเป็น 83.00 จากเดิม 88.00 บาท เนื่องจากปรับลดกำไรสทธิลง โดยในงวดปี 63 ปรับลงจากเดิม 12% เป็น 2.4 หมื่นล้านบาท จากการปรับลดประมาณการจำนวนผู้โดยสารในงวดปี 63 เติบโตติดลบ 4.5% จากเดิมคาดเติบโต 4% เนื่องจากได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรนาต่อนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมาไทย
ส่วนงวดปี 64 ได้ปรับลดกำไรลง -6% จากการประเมินการเติบโตของจำนวนผู้โดยสารที่ระมัดระวังมากขึ้น จากเศรษฐกิจโลกที่เจริญเติบโตลดลง อย่างไรก็ตามกำไรสุทธิงวดปี 64 จะยังคงเติบโตก้าวกระโดด +47% YoY จากการรับรู้รายได้สัญญาใหม่จากคิงเพาเวอร์ และได้ผลบวกจากการเปิดให้บริการอาคารใหม่ Satellite สนามบินสุวรรณภูมิ
บทวิเคราะห์ของบล.หยวนต้า (ประเทศไทย)ระบุว่า แม้กำไรปกติไตรมาส 1/63 โต YoY แต่เป็นไตรมาสที่ยังไม่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาดไวรัสโคโรนาที่เริ่มระบาดหนักในปลายเดือนม.ค.63 ถึงเดือนก.พ.63 ส่งผลให้รัฐบาลจีนแบนทัวร์จีนทั่วประเทศ เนื่องจากนักท่องเที่ยวจีนคิดเป็นกว่า 25-30% ของนักท่องเที่ยวต่างชาติ
ขณะที่ทัวร์จีนคิดเป็นสัดส่วนราว 40-50% ของนักท่องเที่ยวจีนทั้งหมด รวมถึงอาจกระทบต่อ sentiment นักท่องเที่ยวชาติอื่นๆด้วย ทำให้ตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติซึ่งเป็น Growth Driver สำคัญของ AOT เริ่มถูกกระทบ 5 วันสุดท้ายเดือนม.ค.63 -10% YoY ขณะที่ 8 วันแรกของเดือนก.พ.63 –27% YoY กดดันให้ผลประกอบการไตรมาส 2/63 อ่อนแอกว่าปกติ และอาจลากยาวไปถึงไตรมาส 3/63 หากโรคระบาดควบคุมได้ช้า
จึงปรับลดสมมติฐานนักท่องเที่ยวต่างชาติของ AOT ในปี 2563 จากโต 5% YoY เป็น -8% YoY แต่คาดฟื้นตัวแรงที่ +15% YoY ในปีงวดปี 64 หลังโรคระบาดจบลงและภาครัฐกลับมากระตุ้นการท่องเที่ยวอีกครั้ง
คาดกำไรปกติงวดปี 63 ที่ 2.4 หมื่นล้านบาท (-4.4% YoY) แต่คาดกำไรปกติงวดปี 64 ที่ 3.9 หมื่นล้านบาท (+58.5% YoY) หรือฟื้นตัวแรงแบบ V-sharp
“ผลการปรับลดประมาณการ ทำให้ราคาเหมาะสม ณ สิ้นงวดปี 63 ปรับลดเป็น 78.00 บาทต่อหุ้น (DCF WACC 7.4% T.G. 2%) อย่างไรก็ดี เราปรับคำแนะนำขึ้นเป็น “BUY” เพื่อรับกำไรของการประมูล Duty Free ในปีหน้า เราแนะนำนักลงทุนใช้จังหวะตัวเลขนักท่องเที่ยวที่อ่อนแอในช่วงไตรมาส 2/63-ไตรมาส 3/63 เป็นจังหวะในการสะสม”
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (13 ก.พ. 63)
Tags: AOT, Consensus, ดิวตี้ฟรี, ท่าอากาศยานไทย, สินค้าปลอดภาษี