ประธานสภาฯแย้มอาจผสมผสาน
นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา กล่าวว่า สถาบันพระปกเกล้าเสนอแนวทางการจัดตั้งคณะกรรมการปรองดองสมานฉันท์ใน 2 รูปแบบ ภายใต้หลักการที่จะมีองค์ประกอบเป็นกรรมการ 7-9 คน
- รูปแบบแรก คือ มีผู้แทนจากฝ่ายต่างๆ 3 ส่วน ได้แก่ คณะกรรมการ 7 ฝ่ายตามที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เสนอ ซึ่งเป็นบุคคลที่มีอำนาจตัดสินใจมาร่วม หรือ 7 ฝ่ายที่ไม่มีอำนาจตัดสินใจ แต่ทุกคนยอมรับ หรือลดเหลือ 5 ฝ่าย โดยลดตัวแทนผู้ชุมนุมและผู้เห็นต่างเพื่อลดการเผชิญหน้า ซึ่งสถาบันพระปกเกล้ามีข้อกังวลว่าหากมีตัวแทน 7 ฝ่าย อาจทำให้รัฐบาลกลายเป็นเสียงข้างมากและไม่ได้รับความไว้วางใจ และมีโอกาสที่พรรคฝ่ายค้านจะไม่เข้าร่วมสูง อีกทั้งหาตัวแทนผู้ชุมนุมเข้าร่วมยาก
- ส่วนรูปแบบที่สอง คือ จะมีคนกลางตามที่แต่ละฝ่ายเสนอให้เข้ามาเป็นกรรมการ โดยการเสนอจากทุกฝ่าย หรือให้ประธานรัฐสภาไปสรรหาบุคคล หรือ ตั้งประธานคณะกรรมการ แล้วให้ประธานกรรมการไปคัดเลือกบุคคลเข้ามาเป็นกรรมการทั้งหมด ซึ่งยังไม่แน่ใจว่ากรรมการที่จะไปทาบทามนั้นจะตอบรับเข้าร่วมหรือไม่
ทั้งนี้ รูปแบบที่ 2 ดังกล่าว สถาบันพระปกเกล้ามองว่ามีข้อดี คือ รัฐสภาจะเป็นพื้นที่แก้ปัญหาสำคัญของชาติ ส่วนข้อกังวล คือ ประธานและกรรมการจะเป็นที่ยอมรับหรือไม่
นายชวน กล่าวว่า จะพิจารณาข้อเสนอทั้ง 2 รูปแบบ โดยรูปแบบแรกจะสามารถดำเนินการหาบุคคลได้ครบถ้วนหรือไม่ ถ้าไม่ได้ ก็อาจนำรูปแบบที่ 1 มาผสมผสานกับรูปแบบที่ 2 ซึ่งจะใช้จำนวนคนไม่มาก แต่จะต้องสามารถแก้ไขปัญหาบ้านเมืองได้
นายชวน กล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมาได้มีการพูดคุยกับอดีตนายกรัฐมนตรี 3 คน ซึ่งส่วนใหญ่สนับสนุนการตั้งกรรมการ แต่อีกส่วนหนึ่งยังขอรอฟังความชัดเจนก่อน อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้จะเดินทางไปทาบทามอดีตนายกรัฐมนตรีและอดีตประธารัฐสภามาช่วยทำหน้าที่ เพราะถือเป็นฝ่ายปฏิบัติ
ส่วนการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า นายกรัฐมนตรีได้ส่งสัญญาณชัดเจนแล้วว่าสนับสนุนการแก้ไขรัธรรมนูญ จึงเชื่อว่าวุฒิสภาจะให้การสนับสนุนด้วยเช่นกัน เพื่อลดความกังวลของสังคม ขณะที่การชุมนุมเรียกร้องในขณนี้รัฐบาลก็ดูแลอยู่แล้ว แตหากมีส่วนที่สภาฯ สามารถไปช่วยบรรเทาได้ ก็พร้อมดำเนินการ โดยจะมอบหมายให้สถาบันพระปกเกล้าเชิญบุคคลที่ผ่านหลักสูตรการปรองดองในสังคม มาคุยกันมาหารือกันเพื่อหาแนวทาวลดความขัดแย้งรุนแรง และการคุกคาม เพื่อนำไปสู่ความปรองดอง อาทิ นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาพูดคุยถึงทัศนคติของนักศึกษา
นายชวน เปิดเผยด้วยว่า ในวันพรุ่งนี้ (3 พ.ย.) จะคุยกับผู้นำฝ่ายค้านฯ และตัวแทนรัฐบาลเป็นการภายใน เพื่อให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมในการหารือ แม้จะไม่ได้เป็นตัวแทนในรูปแบบของคณะกรรมการก็ตาม
ด้านข้อเรียกร้องที่ให้มีพื้นที่ปลอดภัยในการพูดคุยถึงการปฏิรูปสถาบันฯนั้น นายชวน มองว่า การพูดคุยสามารถตั้งธงได้ แต่จะต้องเป็นไปตามมติคณะกรรมการที่กำหนดว่าจะให้มีการหารือเรื่องสถาบันหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ไม่อยากให้นำสถาบันเข้ามาเป็นเงื่อนไข เพราะตามรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่า พระมหากษัตริย์ ทรงเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดไม่ได้
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (2 พ.ย. 63)
Tags: การเมือง, คณะกรรมการสมานฉันท์, ชวน หลีกภัย, รัฐสภา, สถาบันพระปกเกล้า, แก้ไขรัฐธรรมนูญ