ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เผยประชาชนส่วนใหญ่ 22.63% ห่วงผลกระทบจากสถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองในขณะนี้จะเกิดความรุนแรงระหว่างประชาชนด้วยกัน รองลงมา 20.73% ห่วงระบบเศรษฐกิจของประเทศจะย่ำแย่ไปกว่านี้ ตามด้วย 13.36% ห่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบสอง, 12.30% ห่วงจะเกิดความแตกแยกอย่างรุนแรงในสังคมไทย, 11.47% ระบุว่าไม่มีเรื่องใดให้น่ากังวล, 7.67% ห่วงการเข้าปราบปรามกลุ่มผู้ชุมนุมโดยเจ้าหน้าที่รัฐ, 6.00% ห่วงมีมือที่สามสร้างความรุนแรงทางการเมือง และ 5.84% ห่วงเกิดรัฐประหาร
ขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ 19.44% ระบุว่าท้ายที่สุดรัฐบาลจะยอมทำตามข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุม รองลงมา 15.79 ระบุว่ามีความรุนแรงทางการเมืองแล้วรัฐบาลลาออก, 12.53% ระบุว่ามีความรุนแรงทางการเมืองต่อด้วยรัฐประหาร, 11.39% ระบุว่ามีความรุนแรงทางการเมืองแต่รัฐบาลควบคุมได้ และผู้ชุมนุมลดน้อยลงจนต้องเลิกชุมนุมไปเองในสัดส่วนที่เท่ากัน, 11.31% ระบุว่าภาครัฐสามารถบังคับใช้กฎหมายควบคุมการชุมนุมได้, 7.52% ระบุว่าผู้ชุมนุมประกาศยุติการชุมนุมเอง ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด, 4.25% ระบุว่าเกิดการรัฐประหาร ก่อนที่จะมีความรุนแรงทางการเมือง, 0.53% ระบุว่ารัฐบาลและผู้ชุมนุมสามารถเจรจาต่อรองกันได้ และ 5.85% ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
โดยประชาชนส่วนใหญ่ 54.29% คิดว่าการชุมนุมจะยืดเยื้อไม่จบ รองลงมา 12.15% ระบุว่าภายในปลายเดือนธันวาคม 2563, 11.92% ระบุว่าภายในต้นปี 2564, 9.79% ระบุว่าภายในกลางเดือนพฤศจิกายน 2563, 6.68% ระบุว่าภายในปลายเดือนพฤศจิกายน 2563, 3.42% ระบุว่าภายในกลางเดือนธันวาคม 2563 และ 1.75% ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
ทั้งนี้ นิด้าโพลได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเรื่อง “การชุมนุมทางการเมืองจะจบอย่างไร” ระหว่างวันที่ 27-28 ตุลาคม 2563 จากประชาชนทั่วประเทศจำนวน 1,317 หน่วยตัวอย่าง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (1 พ.ย. 63)
Tags: การเมือง, ชุมนุมทางการเมือง, นิด้าโพล, ผลสำรวจ, ม็อบ, ม็อบการเมือง