นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) นำเสนอผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง ความต้องการแท้ หลัง ม็อบ 3 นิ้วว่า เมื่อถามถึงความต้องการของ ม็อบเยาวชน
พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 83.6 ระบุมีความหลากหลายของความต้องการในกลุ่มม็อบ มากกว่าแค่ชู 3 นิ้ว และร้อยละ 16.4 ระบุความต้องการไม่ได้หลากหลายในกลุ่มม็อบ และ เมื่อแบ่งออกเป็นกลุ่มช่วงอายุ พบว่า กลุ่มเยาวชนที่อายุไม่เกิน 24 ปี มีสัดส่วนมากกว่าทุกกลุ่มอายุ หรือร้อยละ 88.1 ระบุ มีความหลากหลายของความต้องการในกลุ่มม็อบ มากกว่าแค่ชู 3 นิ้ว ในขณะที่ร้อยละ 11.9 ที่ระบุ ความต้องการไม่ได้หลากหลายในกลุ่มม็อบ
ที่น่าพิจารณาคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 90.6 ระบุความต้องการแท้ หลังม็อบ 3 นิ้ว คือ ต้องการสิทธิชอบธรรมตามกฎหมายและสังคม เปิดรับและคุ้มครองความหลากหลายของเพศสถานะ (LGBTQ) ต้องการความเสมอภาคการศึกษา ต้องการอิสระทางความคิดของเด็กและเยาวชน ต้องการมีความหวัง มีชีวิตที่ดี มีงานทำ มีรายได้ดี มีอนาคตที่ดี ต้องการเสรีภาพแต่งกายของนักเรียนนักศึกษา ทรงผม และอื่น ๆ เป็นต้น ในขณะที่ร้อยละ 9.4 ระบุต้องการแค่ ตามแกนนำม็อบ 3 นิ้ว 3 ประการ เท่านั้น
ที่น่าสนใจคือ เมื่อถามถึง ความต้องการระหว่าง ปฏิรูปการศึกษา หรือ ปฏิรูปสถาบัน พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 94.1 ต้องการปฏิรูปการศึกษา มากกว่า ปฏิรูปสถาบัน ในขณะที่ร้อยละ 5.9 ต้องการปฏิรูปสถาบันมากกว่า ปฏิรูปการศึกษา
ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าวว่า ผลโพลครั้งนี้ชี้ชัดว่า คนส่วนใหญ่ต้องการปฏิรูปการศึกษา มากกว่า ปฏิรูปสถาบัน สะท้อนให้เห็นว่า ม็อบคนรุ่นใหม่ในประเทศไทยแตกต่างจากม็อบคนรุ่นใหม่ฮ่องกง ในส่วนของความต้องการของม็อบประเทศไทยที่มารวมตัวกันมีความหลากหลาย แต่เมื่อมารวมตัวกันเป็นม็อบทำให้ต้องแสดงพลังออกให้เห็นไปในทิศทางเดียวกันกลายเป็นม็อบ 3 นิ้วจึงเข้าทางเป้าหมายของขบวนการที่อยู่เบื้องหลังม็อบ โดยความต้องการแท้ หลังม็อบ 3 นิ้ว คือความหลากหลายของกลุ่มต่าง ๆ ที่มารวมตัวกันเป็นแผงม็อบ ดังนั้นถ้ากลุ่มความต้องการต่าง ๆ ได้รับการตอบสนองก็มีความเป็นไปได้สูงที่จะทำให้ม็อบอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ เช่น กลุ่มความหลากหลายของเพศสถานะ (LGBTQ) กลุ่มที่ต้องการความเสมอภาคทางการศึกษา กลุ่มที่ต้องการอิสระ กลุ่มที่ต้องการชีวิตที่ดี มีงานทำ มีรายได้ดี มีอนาคตที่ดี เป็นต้น
ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าวต่อว่า ถ้ารัฐบาลและผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองทำงาน ตอบโจทย์ตรงเป้าความต้องการของแต่ละกลุ่มได้จริงและควบคู่ไปกับการเสริมสร้างการรับรู้ ความเข้าใจ ความเชื่อมั่น ความพอใจก็จะทำให้เกิดการสนับสนุนของกลุ่มม็อบเปลี่ยนวิถีมาสนับสนุนรัฐบาลได้ไม่ยากนัก จึงมีความจำเป็นต้องเร่งตอบโจทย์ตรงเป้าความต้องการของกลุ่มม็อบกลุ่มย่อย ๆ ภายในกลุ่มม็อบกลุ่มใหญ่ที่ตอนนี้กำลังแยกตัวกันออกไปช่วงเวลาสั้น ๆ จึงเป็นห้วงเวลาที่ดีที่จะรีบดำเนินการให้เรียบร้อยก่อนที่จะสายเกินไป
ทั้งนี้การสำรวจครั้งนี้เป็นกรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ โดยดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) จำนวน 1,293 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 25 – 30 ตุลาคม พ.ศ.2563 ที่ผ่านมา
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (31 ต.ค. 63)
Tags: SUPER POLL, การเมือง, ซูเปอร์โพล, นพดล กรรณิกา, ม็อบ, ม็อบเยาวชน