พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ได้กล่าวตอบข้อซักถามภายหลังการประชุมสภากลาโหมว่า กรณีกลุ่มผู้ชุมนุมจะมีบิ๊กเซอร์ไพร์ส ในวันที่ 31 ต.ค.ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ว่า งานพระราชทานปริญญาบัตรถือเป็นการปฏิบัติพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาโดยตลอด เป็นวัฒนธรรมประเพณีมายาวนาน
ดังนั้นคงไม่จำเป็นต้องสั่งการเพิ่มเติม เนื่องจากเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีหน้าที่อยู่แล้ว ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายทุกประการ ขอเพียงอย่าเกิดอันตรายต่อฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด โดยเฉพาะการละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ไม่สมควรกระทำเป็นอย่างยิ่ง
ส่วนกรณีที่ผู้ชุมนุมประกาศยกระดับการชุมนุมด้วยการปิดถนนมิตรภาพนั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า หากทำได้ก็ทำไป แต่สังคมและประชาชนจะต้องมาช่วยกันดูในเรื่องนี้ด้วย เนื่องจากผู้ที่ได้รับผลกระทบไม่ใช่ตนเอง แต่ประชาชนจะได้รับผลกระทบโดยตรงจากการปิดการจราจร การขนส่งสินค้า ก็จะเกิดผลกระทบตามมา ดังนั้นทางที่ดีก็ไม่ควรจะทำในพื้นที่ที่เป็นสาธารณะ ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาตามมาและเกิดความขัดแย้งเรื่อยๆ
ทั้งนี้ ส่วนตัวเข้าใจว่ารูปแบบการชุมนุมจะต้องออกมาเช่นนี้ แต่ทุกคนจะต้องระมัดระวังซึ่งกันและกัน โดยเจ้าหน้าที่จะต้องบังคับใช้กฎหมายให้เกิดความเป็นธรรม โดยจะบอกว่ากฎหมายไม่เป็นธรรมไม่ได้ ซึ่งผู้ที่ทำผิดต้องถูกบังคับใช้กฎหมายและส่วนตนขอร้องไม่อยากให้เหตุการณ์ลุกลามบานปลาย เพราะไม่ส่งผลดีต่อใครทั้งสิ้น
ส่วนข้อเสนอให้มีการปฏิวัตินั้น นายกฯ ยืนยันว่า รัฐบาลไม่เคยมีความคิดในเรื่องเหล่านี้ เพราะต้องระมัดระวังสถานการณ์ ไม่ให้เกิดเหตุการณ์บานปลายไปเรื่อยๆ
“เรื่องที่มีการเสนอทางออกให้มีการปฏิวัติต้องไปถามคนพูด ไม่เคยคิดเรื่องเหล่านี้ เพราะฉะนั้นต้องระมัดระวัง อย่าให้สถานการณ์บานปลายไปเรื่อยๆ ผมไม่ได้หมายความว่าจะมีปฏิวัติหรือไม่มี ไม่มีใครอยากทำหรอกครับ”
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
ส่วนข้อเสนอของนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี ที่เสนอให้รัฐบาลรับฟังความเห็นของคนรุ่นใหม่นั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ด้วยความเคารพส่วนตัวในฐานะอดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งที่ผ่านมาตนเองได้รับฟังมาโดยตลอด ไม่ว่าจะช่องทางสื่อโซเชียล หรือการรับฟังความเห็นโดยตรง ซึ่งได้รับฟังทุกคำพูด ดังนั้นจึงขอให้เข้าใจซึ่งกันและกันด้วย
ในการเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญที่ผ่านมาก็รับฟังความเห็นจากนักการเมือง ทั้งรัฐสภา ซึ่งสมาชิกรัฐสภาหลายคนก็เอาข้อมูลจากภายนอกมากล่าวในรัฐสภา ถึงความต้องการหรือข้อเรียกร้องต่างๆ ถือว่าจบแล้ว และขั้นตอนต่อไป คือ การตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษา สิ่งไหนที่เป็นไปได้และเป็นไปไม่ได้ โดยอยู่ภายใต้หลักการของกฎหมาย และรัฐธรรมนูญที่ประกาศใช้อยู่ในปัจจุบัน
ส่วนกรณีที่มีพรรคการเมืองประกาศจะไม่เข้าร่วมในคณะกรรมการสมานฉันท์แห่งชาติ เพราะมองว่าจะเป็นการยื้อเวลานั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เมื่อปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขก็ต้องเคารพกลไกของรัฐสภาและเคารพเสียงส่วนใหญ่ของคนทั้งประเทศ เพราะฉะนั้นต้องไปทบทวนว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป เมื่อเป็น ส.ส. เป็นผู้แทนของประชาชน ที่ควรสะท้อนความคิดเห็นของประชาชนทุกกลุ่มทุกฝ่าย ไม่ควรเจาะจงเฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้นมาเสนอสภาฯ หรือมากดดัน เร่งรัด ส่วนตัวมองว่าเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง และไม่เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย ดังนั้นจึงไม่ขอแสดงความเห็น เพราะเรื่องนี้ต้องดูที่เจตนาเป็นหลัก
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 ต.ค. 63)
Tags: การเมือง, ชุมนุม, ประยุทธ์ จันทร์โอชา, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ม็อบ