นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนก.ย.63 โดยระบุว่า เศรษฐกิจไทยในเดือนก.ย.63 ปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้นจากเดือนก่อน
โดยเฉพาะในด้านอุปสงค์ สะท้อนจากการบริโภคสินค้าคงทนและการลงทุนภาคเอกชนที่ปรับตัวดีขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลต่อเนื่องจากมาตรการผ่อนคลายการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เช่นเดียวกับการส่งออกสินค้าที่หดตัวในอัตราชะลอลงอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ด้านอุปทาน พบว่า ภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรมยังคงปรับตัวดีขึ้น แต่ภาคบริการด้านการท่องเที่ยวยังคงชะลอตัว
เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ปรับตัวดีขึ้น โดยกลับมาขยายตัว 0.1% ต่อปี และขยายตัว 3.3% จากเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล สอดคล้องกับการบริโภคในหมวดสินค้าคงทน ที่สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งและปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ปรับตัวดีขึ้น โดยขยายตัว 32.6% และ 0.7% จากเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล และหดตัวในอัตราชะลอลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ -12.2% และ -0.2% ต่อปี ตามลำดับ ส่วนหนึ่งได้รับปัจจัยสนับสนุนจากรายได้เกษตรกรที่แท้จริงขยายตัวเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกันและขยายตัวสูงสุดในรอบ 25 เดือน ที่ 10.5% ต่อปี อย่างไรก็ดี ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ระดับ 50.2 หลังจากมีการชุมนุมทางการเมืองหลายครั้งในเดือนก.ย.63
เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชน ส่งสัญญาณปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์กลับมาขยายตัว 13.5% ต่อปี และขยายตัว 5.0% จากเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล สอดคล้องกับปริมาณการนำเข้าสินค้าทุนขยายตัว 4.4% จากเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล และหดตัวในอัตราที่ชะลอลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ -7.5% ส่วนการลงทุนในหมวดการก่อสร้างปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนเช่นกัน สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์ขยายตัว 0.9% ต่อปี ในขณะที่การจัดเก็บภาษีการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ที่ขยายตัว 4.7% จากเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล และหดตัวชะลอลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ -13.0% บ่งชี้ถึงการลงทุนภาคเอกชนค่อย ๆ ฟื้นตัวมากขึ้น
เศรษฐกิจภาคการค้าระหว่างประเทศปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า สะท้อนจากมูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ หดตัวในอัตราที่ชะลอลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ -3.9% และเป็นการปรับตัวดีขึ้นเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน จากการขยายตัวต่อเนื่องในกลุ่มสินค้า
- 1) สินค้าอาหาร เช่น น้ำมันปาล์ม และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังที่ขยายตัว 435.3% และ 50.3% ต่อปี ตามลำดับ สอดคล้องกับการส่งออกสุกรสดแช่เย็นแช่แข็ง สิ่งปรุงรสอาหาร และอาหารสัตว์เลี้ยงที่ขยายตัวต่อเนื่อง
- 2) สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน (Work from Home) อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ เครื่องโทรสาร โทรศัพท์และส่วนประกอบ และเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน อาทิ เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน ตู้เย็นและตู้แช่แข็ง เครื่องซักผ้า และโซลาร์เซลล์ เป็นต้น
- 3) สินค้าที่เกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาด เช่น ถุงมือยาง ที่ขยายตัวต่อเนื่องนับตั้งแต่มีการแพร่ระบาด โดยเฉพาะในประเทศที่มีการแพร่ระบาดสูงอย่างสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ขณะที่ผลิตภัณฑ์เภสัชภัณฑ์ เป็นสินค้าที่มีความต้องการสูงสำหรับประเทศที่มีการแพร่ระบาดรุนแรงในแถบเอเชีย อย่างไรก็ดี การส่งออกยานยนต์ น้ำมันและสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน และแผงวงจรไฟฟ้ายังคงชะลอตัว
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณามูลค่าการส่งออกสินค้า โดยจำแนกเป็นรายตลาดคู่ค้าหลักของไทย พบว่า ตลาดคู่ค้าหลักของไทยเกือบทุกตลาดปรับตัวดีขึ้นโดยการส่งออกไปตลาดสหรัฐฯ ขยายตัวในระดับสูงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ที่ 19.7% ต่อปี เช่นเดียวกับการส่งออกไปจีน ออสเตรเลีย เวียดนาม มาเลเซีย และเกาหลีใต้ กลับมาขยายตัวอีกครั้ง สะท้อนแนวโน้มการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปของประเทศคู่ค้าหลักของไทย
เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยด้านอุปทานปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้น โดยหดตัวในอัตราที่ชะลอลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ -2.8% จากการขยายตัวในอุตสาหกรรมการแปรรูปผักและผลไม้ อุตสาหกรรมเวชภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ที่ใช้รักษาโรค และอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้นเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกันมาอยู่ที่ระดับ 85.2 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการผ่อนคลายการล็อคดาวน์ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศฟื้นตัวขึ้น รวมทั้งการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ในช่วงที่ผ่านมา ช่วยให้กำลังซื้อในประเทศมีแนวโน้มดีขึ้น สำหรับภาคเกษตร สะท้อนจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรขยายตัว 0.2% ต่อปี จากการเพิ่มขึ้นของผลผลิตข้าว ข้าวโพด และไก่เนื้อ เป็นต้น ในขณะที่สถานการณ์ของโรคติดเชื้อไวรัส โคโรนา 2019 ที่มีการแพร่ระบาดต่อเนื่องในต่างประเทศ ส่งผลให้ไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทยต่อเนื่องเป็นที่ 6 นับตั้งแต่เดือนเม.ย.63 ขณะที่การท่องเที่ยวภายในประเทศยังคงชะลอตัว
เสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ -0.7% ต่อปี และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 0.3% ต่อปี ขณะที่สัดส่วนหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนส.ค.63 อยู่ที่ 47.9% ต่อ GDP ซึ่งยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่ตั้งไว้ตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ส่วนเสถียรภาพภายนอกยังอยู่ในระดับมั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนก.ย.63 อยู่ในระดับสูงที่ 251 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 ต.ค. 63)
Tags: พรชัย ฐีระเวช, สศค., สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง, เศรษฐกิจไทย