นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ หนึ่งในแกนนำกลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน (ERS) เปิดเผยว่า กลุ่มปฏิรูปพลังงานฯ เสนอต่อกระทรวงพลังงาน ถึงแนวทางการแก้ปัญหากำลังผลิตสำรองไฟฟ้าสูงถึงระดับ 50% ในปัจจุบัน นับว่าเป็นภาระต่อผู้บริโภคเนื่องจากระบบค่าไฟฟ้าเป็นแบบผ่านส่งต้นทุน เพราะการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นผู้รับซื้อไฟฟ้าเข้าระบบสายส่งเพียงรายเดียว
ขณะที่แนวโน้มความต้องการใช้ไฟฟ้าระยะยาวลดลงอันเนื่องมาจากปัญหาเศรษฐกิจที่ชะลอตัวหลายช่วง รวมทั้งการคาดการณ์ที่ต่ำเกินไปของการผลิตไฟฟ้าในรูปแบบใช้เอง (Prosumer) ของภาคอุตสาหกรรมและครัวเรือน ผนวกกับเผชิญกับสถานการณ์โควิด-19
ทั้งนี้ กลุ่ม ERS มีข้อเสนอในหลากหลายมาตรการเพื่อลดผลกระทบในประเด็นดังกล่าว ดังนี้ ทบทวนหลักเกณฑ์ทางการเงินในการกำหนดค่าไฟฐาน เพื่อลดค่าไฟฐานและสร้างแรงจูงใจให้มีการปรับปรุงประสิทธิภาพมากกว่าระบบปัจจุบันที่รับประกันผลตอบแทน , ในส่วนของกำลังผลิตใหม่ ให้เร่งเจรจาชะลอการลงทุนและเลื่อนกำหนดการเข้าสู่ระบบ (COD) ของหน่วยผลิตไฟฟ้าใหม่ โดยเฉพาะของเอกชนที่ได้รับอนุมัติโดยมิได้ผ่านการประมูล
ในส่วนของกำลังผลิตที่ติดตั้งไปแล้ว ให้ปรับระบบการสั่งเดินเครื่องโรงไฟฟ้าในส่วนที่เรียกกันว่า Merit Order โดยจัดให้โรงไฟฟ้าต่าง ๆ ทั้งเอกชนและของรัฐแข่งกันเสนอราคาขายที่ต่ำที่สุด ซึ่งอาจจะต่ำกว่าค่าพลังงานที่เคยระบุไว้ในสัญญา , รัฐควรใช้เงื่อนไขตามสัญญาเพื่อลดหรือเจรจาลดการซื้อในส่วนที่เป็นสัญญาผูกมัด (Must take) และลดการจ่าย “ค่าความพร้อมจ่าย” ที่สามารถลดได้ และไม่ต่อใบอนุญาตที่ไม่จำเป็น
นายปิยสวัสดิ์ กล่าวว่า ด้านการจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) ควรปรับปรุงกระบวนการให้ทันสมัย โปร่งใส และมีความยืดหยุ่น สะท้อนความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าจากสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่ให้เกิดการอนุมัติกำลังผลิตที่เกินความจำเป็นและเป็นปัญหาที่ยาวนาน และเพื่อวางแผนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่จริงจังมากขึ้น อีกทั้งควรให้มีการเปิดเผยข้อมูลเพื่อให้ได้ PDP ที่โปร่งใสและสมบูรณ์
ส่วนในระยะยาว หากปฏิรูปให้มีตลาดซื้อขายไฟฟ้าเสรี สถานการณ์กำลังผลิตสำรองล้นเกินจะทำให้ค่าไฟลดลงแทนที่จะสูงขึ้น ดังนั้น จึงควรเปิดบริการสายส่งสายจำหน่ายไฟฟ้าแก่บุคคลที่สาม (TPA) เช่นเดียวกับที่ได้มีการเปิด TPA ระบบท่อก๊าซธรรมชาติและคลังนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ไปแล้ว การแข่งขันตลอดสายจะทำให้ระบบมีทั้งความมั่นคงและได้ค่าไฟฟ้าที่ต่ำลงสำหรับผู้บริโภค กลุ่ม ERS จึงเสนอให้เตรียมการออกแบบตลาดไฟฟ้าที่มีทั้งการประมูลค่าพลังงานไฟฟ้า และการประมูลค่ากำลังการผลิตไฟฟ้าเพื่อป้องกันปัญหาค่าไฟพุ่งขึ้นสูงมากในช่วงขาดแคลน โดยมีเงื่อนไขการแบ่งภาระความเสี่ยงอย่างเหมาะสมและเป็นธรรมระหว่างผู้ผลิตไฟฟ้ากับผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นช่วงกำลังผลิตสำรองเกิน หรือขาด หรือสมดุล
ด้านปิโตรเลียม ขอเร่งรัดให้พัฒนาทรัพยากรปิโตรเลียมของไทยก่อนที่จะด้อยค่า ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจหลังโควิด-19 ด้วย ได้แก่ การเปิดสัมปทานรอบ 23 การพัฒนาพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา รวมถึงการนำพื้นที่ภาคเหนือที่อยู่ใต้กรมการพลังงานทหารมาอยู่ภายใต้ พ.ร.บ. ปิโตรเลียม พ.ศ.2560 เพื่อนำผลประโยชน์มาเป็นรายได้ส่วนกลางของรัฐ
“ERS ขอเรียกร้องให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ทำหน้าที่อย่างอิสระด้วยความโปร่งใส มีความเข้มแข็งในการคุ้มครองผู้บริโภค ให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ประกอบการทุกรายอย่างเท่าเทียมกัน อาทิ ใช้การประมูลแทนดุลพินิจในกรณีที่ทำได้ เปิดเผยรายละเอียดที่มาของค่าไฟฟ้าฐาน เช่น ต้นทุน (ราคารับซื้อ) ของโรงไฟฟ้าประเภทต่าง ๆ และการคืนเงินค่าลงทุนที่ไม่ได้ใช้จริงในค่าไฟฐานที่เก็บกับผู้บริโภคไปแล้ว รวมทั้งให้การไฟฟ้าทั้ง 3 เปิดเผยข้อมูลลักษณะเดียวกับที่บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์รายงานในแบบ 56-1”
นาย ปิยสวัสดิ์กล่าว
นายปิยสวัสดิ์ กล่าวด้วยว่า ขอเสนอให้ไทยกำหนดสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนต่อพลังงานโดยรวม ไม่ต่ำกว่า 50% โดยเร็ว เพื่อให้ไทยก้าวไปสู่การเป็นเศรษฐกิจและสังคมคาร์บอนต่ำ ที่ปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็น 0 (Carbon Neutral) ภายในปี 2593 โดยการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พลังงานหมุนเวียนและพลังงานสะอาด รวมทั้งนำระบบ Carbon Tax/Carbon Pricing มาใช้
ด้านนายมนูญ ศิริวรรณ แกนนำกลุ่ม ERS เปิดเผยว่า ทางกลุ่มฯเตรียมยื่นข้อเสนอให้ยกเลิกการอุดหนุนราคาแก๊สโซฮอล์ E85 ในปี 64 และเลิกอุดหนุนราคาไบโอดีเซล B20 ในปี 65 ซึ่งปัจจุบันมีการใช้น้อย แต่ที่ยังมีการจำหน่ายอยู่เนื่องจากเป็นนโยบายทางการเมือง แต่ไม่ได้ส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจมากนัก อีกทั้งการยกเลิกอุดหุนนจะช่วยลดปัญหาเงินไหลออกจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งปัจจุบันมีเงินไหลออกจากการอุดหนุน E85 ถึง 200 ล้านบาท/เดือน และเงินไหลออกจากการอุดหนุน B20 จำนวน 300 ล้านบาท/เดือน ทั้งนี้ เห็นว่าหากลดเงินอุดหนุนน้ำมันทั้ง 2 ชนิดได้ จะหยุดเงินไหลออกได้ถึง 500 ล้านบาท/เดือน และนำเงินเก็บไว้ดูแลราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ได้
ปัจจุบันสถานะเงินกองทุนฯ ณ วันที่ 25 ต.ค. 63 มีเงินเหลือประมาณ 29,000 ล้านบาท แต่ทุกเดือนเงินจะไหลออก 1,200 ล้านบาท จากการอุดหนุนน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพ 700 ล้านบาท/เดือน และอุดหนุน LPG อีก 500 ล้านบาท/เดือน หากยังคงอุดหนุนราคาลักษณะดังกล่าวต่อไปอีก 2 ปี เงินกองทุนน้ำมันฯจะหมดลง
ประกอบกับกรอบวงเงินดูแลราคา LPG ที่รัฐกำหนดไว้ 10,000 ล้านบาท ปัจจุบันใช้ไปแล้ว 8,200 ล้านบาท คาดว่าอีก 2-3 เดือน กรอบวงเงินดังกล่าวจะหมดลง ซึ่งสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) จะต้องหารือกับคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ว่าจะขยายกรอบวงเงินเพิ่ม หรือ จะดำเนินการอย่างไรต่อไป
ส่วนกรณีที่ สกนช.จะเสนอ กบน.ให้ลดเพดานควบคุมราคาดีเซล จากเดิมกำหนดจำหน่ายไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร เหลือ 25 บาทต่อลิตรนั้น มองว่าไม่ควรมีการกำหนดเพดานราคาดีเซลทุกอัตรา ควรปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด เนื่องจากขณะนี้ราคาน้ำมันยังทรงตัวระดับต่ำ แต่หากราคาน้ำมันโลกปรับสูงขึ้นก็ยังมีกองทุนน้ำมันฯ คอยดูแลไม่ให้ราคาผันผวนรวดเร็วเกินไปอยู่แล้ว
ขณะที่ข้อเสนอของสกนช. ที่จะให้ปรับลดการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตก๊าซ LPG ในอัตรา 2 บาท/กิโลกรัม จากปัจจุบันมีการจัดเก็บอยู่ที่ 2.17 บาท/กิโลกรัม เพื่อให้ราคา LPG ตรึงอยู่ที่ 18 บาท/กิโลกรัมนั้น หรือปรับลดลงได้อีก 2 บาท/กิโลกรัมในขณะนี้ เพื่อช่วยเหลือประชาชน และไปเรียกเก็บเงินผู้ใช้น้ำมันทุกชนิดเข้ากองทุนน้ำมันฯเฉลี่ย 20 สตางค์/ลิตรแทนนั้น ทาง ERS ไม่เห็นด้วยเพราะไม่เป็นธรรมกับผู้ใช้น้ำมันและยังเป็นการอุดหนุนแบบข้ามประเภทเชื้อเพลิงอีก ทางที่ดีที่สุดคือเลิกการอุดหนุน E85 และ B20 เพื่อให้มีเงินกองทุนฯ เหลือมาดูแล LPG ได้ต่อไป
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 ต.ค. 63)
Tags: กฟผ., ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์, พลังงาน, พลังงานไฟฟ้า, มนูญ ศิริวรรณ