โบรกเกอร์ต่างแนะนำ”ซื้อ”บมจ.อาร์ แอนด์ บี ฟู้ด ซัพพลาย (RBF) คาดกำไรในไตรมาส 3/63 กลับมาเติบโตหลังชะลอในไตรมาส 2/63 จากติดล็อกโควิด-19 เพราะมีกลุ่มลูกค้าหลากหลาย ทั้งกลุ่มอาหาร เครื่องดื่ม ที่ยังเติบโตท่ามกลางการระบาดโควิด-19 พร้อมควบคุมต้นทุนได้ดีส่งให้มาร์จิ้นดีขึ้น และยังมีการผลิตเพิ่มขึ้นในประเทศอินโดนีเซีย
ทั้งนี้ คาดกำไรของ RBF ในไตรมาส 3/63 เติบโต 22-26% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน( YoY) มาที่ 129-133 ล้านบาท และเติบโตจากไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) 19-26% นอกจากนั้นยังมองว่ากำไรในไตรมาส 4/63 จะทำระดับสูงสุดรอบปีเพราะเป็นช่วงไฮซีซั่น และมองแนวโน้มตลาดต่างประเทศเติบโตได้อีกมาก ทั้งในอินโดนีเซียและเวียดนาม
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของธุรกิจโรงแรมยังขาดทุนหลังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 แต่ล่าสุดก็เริ่มมีสถานการณ์ดีขึ้น จากท่องเที่ยวในประเทศดีขึ้นมากตามแรงกระตุ้นของภาครัฐจากโครงการเราเที่ยวด้วยกัน
พักเที่ยงราคาหุ้น RBF ไม่เปลี่ยนแปลงอยู่ที่ 10.10 บาท ขณะที่ดัชนีหุ้นไทย เพิ่มขึ้น 0.66%
โบรกเกอร์ | คำแนะนำ | ราคาเป้าหมาย (บาท/หุ้น) |
ทิสโก้ | ซื้อ | 11.10 |
โนมูระ พัฒนสิน | ซื้อเก็งกำไร | 10.50 |
ฟินันเซีย ไซรัส | ซื้อเก็งกำไร | 11.00 |
เมย์แบงก์ กิมเอ็งฯ | ซื้อ | 11.50 |
นางสาวสุรีย์พร ทีวะสุเวทย์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ฟินันเซีย ไซรัส กล่าวแนะนำซื้อเก็งกำไร สำหรับ RBF ด้วยราคาเป้าหมาย 11 บาท ราคาหุ้นมีอัพไซด์จำกัด แนะให้รออ่อนตัวก่อนแล้วค่อยเข้าซื้อ สำหรับปัจจัยระยะสั้น แนวโน้มผลประกอบการในไตรมาส 3/63 น่าจะออกมาดี โดยคาดมีกำไรปกติ 133 ล้านบาท เติบโตจากไตรมาสก่อน 26% และเติบโตจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 26% ผลงานกลับมาฟื้นหลังไม่มีการล็อกดาวน์ ซึ่งกลุ่มลูกค้าอาหารเครื่องดื่ม โดยเฉพาะ Functional Drink ที่ยังเติบโตแม้อยู่ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ขณะที่โรงงานในอินโดนีเซีย ได้เริ่มการผลิตกะ 2 แล้วส่วนในเวียดนามที่เลื่อนออกไปจากโควิด-19 เริ่มผลิตเชิงพาณิชย์ได้ในปลายเดือนต.ค.นี้
อย่างไรก็ดี ธุรกิจโรงแรมของ RBF แม้ยังเผชิญการขาดทุนแต่ลดลงในไตรมาส 3/63 โดยโรงแรมไอบิสที่เชียงใหม่ยังไม่ค่อยดี นักท่องเที่ยวยังไม่กลับมา แต่โรงแรมโนโวเทลที่ชุมพรกลับมียอดผู้เข้าพักระดับดี 70-80% จากการท่องเที่ยวในประเทศ
นางสาวสุรีย์พร ยังกล่าวอีกว่า แนวโน้มผลประกอบการในไตรมาส 4/63 จะดีขึ้น โดยคาดมีกำไร 145-150 ล้านบาทจากสินค้าใหม่ที่ทยอยออกมา และอยู่ในช่วงไฮซีซั่น รวมทั้งธุรกิจโรงแรมก็กำลังทยอยดีขึ้น ทั้งนี้ กำไรในปี 63 คาดว่าจะเติบโต 42.5% มาที่ 545 ล้านบาท และในปี 64 เติบโต 15.5% มาที่ 630 ล้านบาท
ด้านนายอภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บล.ทิสโก้ กล่าว RBF เป็นหุ้นที่ยังชอบมาก ให้ราคาเป้าหมาย 11.10 บาท โดยเมื่อวันที่ 9 ต.ค.63 ได้ปรับคำแนะนำจาก Hold เป็น Buy เนื่องจากมีลูกค้าที่มีความหลากหลาย โดย RBF มีทีม R&D แข็งแกร่ง ทำให้มาร์จิ้นได้ค่อนข้างดี
กำไรสุทธิในไตรมาส 3/63 คาดว่าจะออกมาดีที่ราว 130 ล้านบาท เติบโตจากไตรมาสก่อน 19% และเติบโตจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 22% จากการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ มีการประหยัดค่าใช้จ่าย และมีการผลิตเพิ่มในอินโดนีเซีย ในขณะที่การดำเนินงานของโรงแรมได้ประโยชน์เพิ่มขึ้นจากโครงการเราเที่ยวด้วยกัน แต่มุมมองการดำเนินงานของโรงแรมจะมีผลขาดทุน 50-70 ล้านบาทต่อปี
บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) คาดว่ากำไรของ RBF ในไตรมาส 3/63 กลับมาฟื้นตัวมาที่ 129 ล้านบาท เติบโต 22% YoY และ เติบโต 19% QoQ จากความยืดหยุ่นในรายได้ที่ได้รับผลกระทบโควิด-19 จำกัดและฟื้นตัวได้เร็ว ขณะที่อัตรากำไรมีทิศทางขยายตัวหนุนโดย Product mix ที่เอื้อและการเปลี่ยนแหล่งวัตถุดิบใหม่ ส่วนการควบคุมต้นทุนยังทำได้ดีตามแผน
ทั้งนี้ คาดจะดีต่อเนื่องและมีโอกาสเห็นกำไร All Time High ได้ในไตรมาส 4/63 และเพิ่มเติมด้วยการได้อานิสงส์จากการแข่งขันในตลาด Functional drink ที่รุนแรงขึ้น จากผู้เล่นในตลาดส่วนใหญ่ใช้ผลิตภัณฑ์ของ RBF การแข่งกันออกสินค้าใหม่ในตลาดหมายถึงยอดขาย RBF ที่จะเพิ่มขึ้น, คาดยอดขายในประเทศจากธุรกิจอาหารจะฟื้นเร่งตัวขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ตามภาคบริโภค อีกทั้งโอกาสได้ลูกค้าใหม่ในต่างประเทศหลังลงไปบุกตลาดเต็มที่ และการประหยัดต้นทุนเพิ่มเติมหลังเปิดโรงงานในอินโดนีเซีย ที่มีฐานลูกค้าอยู่แล้ว โดยปัจจุบันมี U-rate ระดับ 70% คาดจะเกิดการประหยัดต่อขนาด และช่วยลดค่าขนส่ง ขณะที่โรงงานในเวียดนาม คาดจะเริ่มเห็นการประหยัดต้นทุนชัดเจนภายในไตรมาส 1/64
พร้อมยังคงมุมมองเชิงบวกกับ RBF ต่อเนื่อง จากแนวโน้มระยะสั้นที่โดนผลกระทบจำกัด ฟื้นตัวได้ไว อีกทั้งระยะกลาง-ยาวยังเติบโตได้ดีกับเทรนด์สุขภาพ และตลาดต่างประเทศที่ยังมีโอกาสโตได้อีกมาก โดยคาดกำไรโตได้เฉลี่ยต่อปี 26% ในอีก 3 ปีข้างหน้า
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 ต.ค. 63)
Tags: RBF, ทิสโก้, ผลประกอบการ, ฟินันเซีย ไซรัส, สุรีย์พร ทีวะสุเวทย์, หุ้นไทย, อภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล, อาร์ แอนด์ บี ฟู้ด ซัพพลาย, เมย์แบงก์ กิมเอ็ง, โนมูระ พัฒนสิน