PODCAST: เปิดสภาฯ แก้การเมือง SET ส่อดิ่งไม่เลิก!!

“Weekly Highlight” สัปดาห์นี้ (26-30 ต.ค.) เจาะลึกกับข่าวสารสำคัญ ในรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 26 ตุลาคม 2563

เริ่มต้นกับการสรุปภาพรวมตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์ที่แล้ว (19-22 ต.ค.) SET INDEX ปิดที่ระดับ 1,213.61 จุด ลดลง 1.63% จากสัปดาห์ก่อน โดยกลุ่มหุ้นที่ปรับตัวลดลงมากที่สุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ กลุ่มกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (PF&REIT) ลดลง 6.5% รองลงมาคือกลุ่มรับเหมาก่อสร้าง ลดลง 5.9% และสุดท้ายคือกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ลดลง 3.5%

แม้ว่าภาพรวมบรรยากาศการลงทุนในสัปดาห์ที่แล้ว ดัชนีตลาดหุ้นไทยจะถูกกดดันอย่างหนักจากตัวแปรเชิงลบอย่างปัจจัยการเมืองในประเทศ แต่ด้วยแรงซื้อคืนจากสัญญาณทางเทคนิค ประกอบกับนายกรัฐมนตรีประกาศยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ทำให้ดัชนียังสามารถประคับประคองตัวยืนเหนือ 1,200 จุดได้ตลอดทั้งสัปดาห์

แต่อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจมุมมองของนักวิเคราะห์หลายสำนัก ต่างยังคงเฝ้าระวังความเสี่ยงกับโอกาสที่ดัชนีตลาดหุ้นไทยจะปรับฐานหลุด 1,200 จุดได้ในช่วงถัดไป เนื่องจากความไม่แน่นอนของสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ จึงเป็นที่มาที่รัฐบาลเตรียมเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญเพื่ออภิปรายทั่วไปตามมาตรา 156 ในวันที่ 26-27 ตุลาคม เป็นที่น่าจับตาว่าการประชุมรัฐสภาครั้งนี้จะนำมาสู่แนวทางการแก้ไขปัญหาและแนวทางออกให้กับการเมืองไทยได้อย่างที่ทุกคนคาดหวังกันได้มากน้อยแค่ไหน

ส่วนปัจจัยต่างประเทศที่นักวิเคราะห์ให้ความสำคัญในสัปดาห์นี้ คงต้องยกให้กับสถานการณ์ความเข้มข้นในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐรอบใหม่ที่จะเกิดขึ้นอย่างเป็นทางการในวันที่ 3 พฤศจิกายน รวมถึงความคืบหน้ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯว่าจถูกอนุมัติได้ทันก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐหรือไม่ เพราะหากอนุมัติไม่ทัน นักวิเคราะห์บางค่ายก็เริ่มมองว่าเป็นความเสี่ยงที่อาจจะนำมาซึ่งแรงขายในตลาดสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลก รวมถึงผลกระทบด้านลบต่อการเคลื่อนย้ายเงินลงทุนของกลุ่มผู้ลงทุนต่างชาติในตลาดหุ้นไทยอีกด้วย

นายถนอมศักดิ์ สหรัตน์ชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ กรุงไทย ซีมิโก้ ประเมินภาพรวม SET INDEX ในสัปดาห์นี้ มีความเสี่ยงที่จะปรับตัวในทิศทางขาลง และในกรณีที่สถานการณ์การเมืองในประเทศยกระดับเป็นความรุนแรงมากขึ้น ก็มีโอกาสที่ดัชนีตลาดหุ้นไทยจะปรับตัวหลุดแนวรับสำคัญที่ 1,200 จุด ก่อนจะเพิ่มความเสี่ยงของขาลงปรับฐานลงสู่แนวรับถัดไปที่ระดับ 1,180 จุด และ 1,150 จุดได้เช่นกัน

“ปัญหาทางการเมืองในไทย โดยเฉพาะการชุมนุมที่ยืดเยื้อมองว่าคงไม่ได้เป็นปัญหากดดันตลาดฯนานมากนัก เพราะตามสถิติแล้วเมื่อเกิดปัญหาทางการเมืองผู้ลงทุนจะกังวลแค่เฉพาะช่วงแรกๆต่อมาก็เริ่มชิน แต่ที่กังวลคือเหตุการณ์ที่บานปลายเพิ่มระดับความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ และด้วยความไม่แน่นอนทำให้ภาพรวมตลาดหุ้นไทยจะย่ำแย่มากกว่าหากเทียบกับตลาดหุ้นภูมิภาค แนวรับสัปดาห์นี้ประเมินกรอบกว้างๆ หากหลุด 1,200 จุด มีแนวรับต่อไป 1,180 จุดและ 1,150 จุด กลยุทธ์การลงทุนภาวะที่ตลาดหุ้นปรับตัวลดลงจากเหตุการณ์การเมือง ต้องเน้นเลือกซื้อหุ้นที่กำไรออกมาดี หรือเลือกลงทุนในหุ้นที่ประกอบธุรกิจอิงกับต่างประเทศ เช่น ส่งออก ,กลุ่มขนส่ง เป็นต้น”

นายถนอมศักดิ์ กล่าว

ด้านบริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย ประเมินภาพรวมดัชนีตลาดหุ้นไทยสัปดาห์นี้มีโอกาสเคลื่อนไหวในกรอบแนวรับที่ 1,200 และ 1,185 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,225 และ 1,235 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ การเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ รวมถึงผลประกอบการไตรมาส 3/63 ของบริษัทจดทะเบียนของไทย ตลอดจนสถานการณ์ช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีและความคืบหน้ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ประเด็นการแยกตัวของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) และสถานการณ์โควิด-19 ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ จีดีพีไตรมาส 3/63 ยอดขายบ้านใหม่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนรวมถึงรายได้และรายจ่ายส่วนบุคคลเดือนก.ย. ขณะที่ ปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ การประชุมของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) และธนาคารกลางยุโรป (ECB) ตลอดจนจีดีพีไตรมาส 3/63 ของยูโรโซน

ธนาคารกสิกรไทย ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทสัปดาห์นี้อยู่ที่ 31.00-31.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ และรายงานเศรษฐกิจการเงินเดือนก.ย. ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและประเด็นทางการเมืองของสหรัฐฯ ในช่วงใกล้เลือกตั้งประธานาธิบดี ขณะที่ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯที่สำคัญระหว่างสัปดาห์ ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนต.ค. รายได้/รายจ่ายส่วนบุคคล และอัตราเงินเฟ้อที่วัดจากดัชนีราคา Core PCEPrice Index ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย ยอดขายบ้านใหม่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนก.ย. จีดีพีไตรมาส 3/63 (ประกาศครั้งที่ 1)และดัชนีราคาบ้านเดือนส.ค. นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามผลการประชุมธนาคารกลางยุโรป และธนาคารกลางญี่ปุ่นด้วยเช่นกัน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 ต.ค. 63)

Tags: , , , , , ,
Back to Top