นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม มอบให้กระทรวงสาธารณสุข ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล ในการยกระดับระบบสวัสดิการแห่งรัฐด้านสาธารณสุข ด้วยการยกระดับระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กรณีประชาชนผู้มีสิทธิ์หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) สามารถเข้ารับการรักษาที่ใดก็ได้ และยกเลิกการต้องใช้ใบส่งตัวของผู้ป่วยในกรณีมีความจำเป็นต้องเปลี่ยนสถานที่รักษาพยาบาล
โดยมีรายละเอียดการคลายล็อกดังนี้
- ประชาชนสามารถรับการรักษาพยาบาลที่ใดก็ได้ โดยทดลองให้ประชาชนในกรุงเทพมหานคร (กทม.) สามารถไปรับบริการที่ “หน่วยบริการชุมชน อบอุ่น” อันประกอบด้วย คลินิกชุมชนอบอุ่น และหน่วยบริการเฉพาะทางชุมชนอบอุ่น ได้ทุกแห่ง ซึ่งที่ผ่านมา ผู้ใช้สิทธิบัตรทองจะถูกจับคู่กับหน่วยบริการประจำ (คลินิก) เพียงแห่งเดียวเท่านั้น เมื่อเจ็บป่วยก็ต้องไปรักษาที่คลินิกประจำนั้น ๆ หากป่วยหนักจนคลินิกรักษาไม่ไหว คลินิกก็จะส่งตัวไปยังโรงพยาบาลที่มีศักยภาพให้รักษาต่อ แต่นโยบายใหม่นี้ผู้ใช้สิทธิบัตรทองในพื้นที่กทม. จะสามารถเข้ารับบริการในหน่วยบริการที่หลากหลายมากขึ้น โดย สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ตั้งเป้าที่จะประสานหน่วยบริการจำนวน 500 แห่ง ให้เข้ามาเป็น “หน่วยบริการชุมชนอบอุ่น” (คลินิกชุมชนอบอุ่น และหน่วยบริการเฉพาะทางชุมชนอบอุ่น)
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2563 เป็นต้นไป ผู้ใช้สิทธิบัตรทองในกทม. จะสามารถเข้ารับบริการในหน่วยบริการชุมชนอบอุ่นในเขตของตัวเองได้ทุกแห่ง และสามารถนัดหมายการเข้ารับบริการล่วงหน้าได้ โดย สปสช. ได้ร่วมกับธนาคารกรุงไทย พัฒนาระบบนัดหมายการเข้ารับบริการล่วงหน้าผ่าน App เป๋าตัง ซึ่งจะเริ่มให้บริการในกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดัน และจะขยายไปในกลุ่มผู้ป่วยนอกทั้งหมด ในระยะต่อไป
- “ผู้ป่วยใน”ไม่ต้องใช้ใบส่งตัวอีกต่อไป ทั้งนี้ “ใบส่งตัว” เป็นเอกสารที่ใช้สื่อสารลักษณะโรค อาการป่วย การรับการรักษาเบื้องต้น ซึ่งที่ผ่านมา หากหน่วยบริการประจำ (คลินิก) วินิจฉัยและส่งตัวผู้ป่วยไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลที่มีศักยภาพ ผู้ป่วยต้องไปรับใบส่งตัวจากคลินิกหรือโรงพยาบาลก่อน ซึ่งทำให้ประชาชนไม่ได้รับความสะดวก แต่นโยบายใหม่นี้ หากผู้ป่วยไปรับบริการที่โรงพยาบาลที่มีศักยภาพแล้ว โรงพยาบาลวินิจฉัยว่าต้องแอดมิท (นอนรักษาตัวที่โรงพยาบาล) ผู้ป่วยสามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลได้ทันที โดยไม่ต้องกลับไปรับใบส่งตัวอีก เนื่องจาก สปสช. จะจัดทำระบบออนไลน์เพื่อเชื่อมต่อข้อมูล ระหว่างคลินิกกับโรงพยาบาลที่มีศักยภาพเองโดยอัตโนมัติ
- ประชาชนแจ้งย้ายหน่วยบริการเมื่อใด รักษาที่ใหม่ได้ทันที โดยที่ผ่านมา เมื่อผู้ใช้สิทธิบัตรทองขอย้ายหน่วยบริการ จะต้องรออีก 15 วัน จึงจะไปรักษาที่หน่วยบริการแห่งใหม่ได้ แต่นโยบายใหม่นี้ ผู้ป่วยไม่ต้องรอ 15 วันอีกต่อไป กล่าวคือ เมื่อมีความประสงค์ที่จะย้ายเมื่อใด ก็สามารถไปรักษาที่ใหม่ได้ทันที ประชาชนที่ใช้สิทธิบัตรทองจึงอุ่นใจได้ว่า เมื่อมีเหตุจำเป็นต้องย้ายถิ่นฐาน ก็จะสามารถย้ายหน่วยบริการและเข้ารับการรักษาได้อย่างทันทีอย่างแน่นอน
- ผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็งจะได้รับการรักษาในโรงพยาบาลที่มีศักยภาพและไม่แออัด ทั้งนี้ มะเร็งเป็นโรคที่สร้างความทุกข์ให้กับประชาชนอย่างมาก เนื่องจากอัตราการเสียชีวิตสูง ค่าใช้จ่ายก็สูงด้วย และ ที่สำคัญคือ โรงพยาบาลบางแห่งเท่านั้นที่มีศักยภาพในการรักษาโรคมะเร็ง จึงเกิดปัญหาคอขวดในการเข้ารับบริการ เกิดความแออัด ต้องรอการนัดหมายที่ค่อนข้างนาน ซึ่งเมื่อผู้ป่วยเข้าถึงบริการรักษาล่าช้า ก็อาจทำให้มะเร็งลุกลามได้โดยไม่จำเป็น
สปสช. จึงมีแนวคิดในการยกระดับการรักษาใหม่ โดยเมื่อผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็ง หน่วยบริการผู้วินิจฉัยจะส่งข้อมูลผู้ป่วยมายัง สปสช. เพื่อให้ สปสช.ประสานจัดหาโรงพยาบาลที่ไม่แออัด และมีศักยภาพในการรักษาโรคมะเร็งประเภทนั้น ๆ ได้ทันที ประชาชนก็จะได้รับบริการที่มีคุณภาพและได้มาตรฐาน พร้อมทั้งบริการให้ยาเคมีบำบัดที่บ้าน พร้อมด้วยการติดตามอาการและแนะนำการทานยาผ่านระบบสื่อสารทางไกล (Telehealth) ภายใต้การดูแลจากผู้เชี่ยวชาญอย่างใกล้ชิดอีกด้วย
“การคลายล็อกข้อจำกัดต่าง ๆ ของบัตรทองในครั้งนี้ คือนโยบายของรัฐบาลในความพยายามที่จะยกระดับระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อการดูแลรักษาพยาบาลที่ดี มีมาตรฐาน ง่ายและสะดวกสำหรับประชาชนคนไทยทุกคน”
นายอนุชา กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 ต.ค. 63)
Tags: บัตรทอง, สปสช., สิทธิบัตรทอง, อนุชา บูรพชัยศรี