นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีที่มีก๊าซธรรมชาติรั่วและเกิดเพลิงไหม้ในพื้นที่อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อวันที่ 22 ต.ค. 63 ที่ผ่านมา ทำให้มีผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บ นั้น กรมควบคุมโรค ขอแสดงความเสียใจไปยังครอบครัวของผู้เสียชีวิต และขอแนะนำวิธีปฏิบัติ สำหรับประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณใกล้เคียงจุดเกิดเหตุหรืออาศัยอยู่ตามแนวท่อส่งก๊าซ หากตนเองหรือคนในครอบครัวมีอาการหายใจติดขัด ปวดศีรษะ วิงเวียน หรืออาการต่างๆ ที่สงสัยว่าได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว ขอให้ไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาทันที
ก๊าซ NGV (Gas for Vehicles) เป็นเชื้อเพลิงชนิดหนึ่งที่นำมาใช้ในรถยนต์ เกิดจากการนำก๊าซธรรมชาติ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นก๊าซมีเทนมาอัดจนมีความดันสูงประมาณ 3,000 ปอนด์/ตารางนิ้ว แล้วนำไปเก็บในถังบรรจุที่มีความแข็งแรงและทนทานสูงเป็นพิเศษ ทั้งนี้ เนื่องจากก๊าซดังกล่าวมีน้ำหนักเบากว่าอากาศ เมื่อเกิดการรั่วไหล จะลอยฟุ้งกระจายขึ้นไปในอากาศอย่างรวดเร็ว ซึ่งคุณสมบัติของก๊าซ NGV คือ ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น (อาจมีการเติมกลิ่น เพื่อให้สังเกตได้ง่าย หากเกิดการรั่วไหล)
นายแพทย์โอภาส กล่าวต่อไปว่า กรมควบคุมโรค ขอแนะประชาชนสำหรับวิธีปฏิบัติ เมื่อเกิดเหตุการก๊าซรั่วไหล ดังนี้
- หลีกเลี่ยงพื้นที่ในระยะรัศมีอย่างน้อย 1 กิโลเมตร จากจุดเกิดเหตุ
- ทำการประเมินอาการตนเอง หากพบว่ามีอาการระคายเคืองตา แสบตา น้ำตาไหล แสบจมูก คลื่นไส้ อาเจียน คันตามร่างกาย รวมทั้งการบาดเจ็บ หรือสงสัยว่าได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษา
- ผู้ที่เข้าไปในพื้นที่จุดเกิดเหตุควรสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันตนเอง เพื่อป้องกันการรับสัมผัสมลพิษ รวมทั้งสารเคมีต่างๆ ที่อาจปนเปื้อนบริเวณจุดเกิดเหต
- ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่โดยรอบ ควรสวมใส่หน้ากากกรองคาร์บอนเพื่อป้องกันมลพิษทางอากาศ
- หากสัมผัสพื้นผิวต่างๆ ในพื้นที่เกิดเหตุ ควรรีบล้างออกด้วยน้ำสะอาดในปริมาณมาก
- เมื่อกลับออกจากพื้นที่ ควรรีบทำความสะอาดร่างกายทันที
ขอให้ประชาชนช่วยกันดูแลเฝ้าระวังสังเกตในพื้นที่ที่มีแนวท่อก๊าซ ซึ่งก๊าซ NGV ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าได้ ดังนั้น เมื่อเกิดการรั่วไหลขึ้น จะยากต่อการรับรู้ แต่สิ่งที่เป็นสัญญาณบ่งบอกการรั่วไหลของแก๊สได้ก็คือ “กลิ่น” (ในกรณีมีการเติมกลิ่น เพื่อให้สังเกตได้ง่าย หากเกิดการรั่วไหล) ซึ่งผู้ที่อาศัยอยู่บริเวณแนวท่อส่งก๊าซ ควรสังเกตจากการได้รับกลิ่น หากได้กลิ่นเหม็นหรือกลิ่นฉุน หรือมีเหตุการณ์ผิดปกติ ขอให้แจ้งพนักงานในโรงงาน ผู้นำชุมชน หรือเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อดำเนินการระงับเหตุดังกล่าวให้เร็วที่สุด และควรรีบออกจากบริเวณนั้นทันที สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 ต.ค. 63)
Tags: กรมควบคุมโรค, ท่อส่งก๊าซ, โอภาส การย์กวินพงศ์