พล.ต.ท.จารุวัฒน์ ไวศยะ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผช.ผบ.ตร.) กล่าวว่า ตามที่นายกรัฐมนตรีได้ประกาศยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร ลงวันที่ 15 ต.ค.63 และประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 16 ต.ค.63 และให้บรรดาข้อกำหนด ประกาศ คำสั่ง ที่ออกตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2563 เป็นอันสิ้นสุดลงตั้งแต่วันที่ 22 ต.ค.63 เวลา 12.00 น.นั้น
จึงกำหนดแนวทางการปฏิบัติและอำนาจหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ดังนี้
1.การใดๆ ที่พนักงานเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการไปก่อนมีประกาศยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ เช่น การออกหมายจับ การจับกุม การควบคุมตัว การร้องทุกข์ดำเนินคดีกับผู้ที่ฝ่าฝืนข้อกำหนด ประกาศ คำสั่งที่ออกตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ในขณะที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ มีผลใช้บังคับอยู่ ให้ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว
2.เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถร้องทุกข์กล่าวโทษดำเนินคดีกับบุคคลผู้กระทำความผิดในขณะที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯมีผลบังคับใช้ ได้ภายในอายุความคดี แต่หากเป็นเพียงการยกเลิกหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงพระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง ประกาศ คำสั่ง หรือข้อกำหนด ที่ออกตามพระราชบัญญัติ หรือออกตามพระราชกำหนด แต่พระราชบัญญัติหรือพระราชกำหนดยังคงมีผลบังคับใช้อยู่ตามเดิมไม่เปลี่ยนแปลง
กรณีเช่นนี้ต้องถือว่าเป็นเพียงการยกเลิกหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายละเอียดที่กำหนดขึ้นตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้น มิได้ยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงสาระที่เป็นกฎหมายแท้ๆ
ทั้งนี้กรณีที่นายกรัฐมนตรีได้ประกาศยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร ลงวันที่ 15 ต.ค.63 และประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 16 ต.ค.63 และให้บรรดาข้อกำหนด ประกาศ คำสั่ง ที่ออกตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 เป็นอันสิ้นสุดลง ตั้งแต่วันที่ 22 ต.ค.63 เวลา 12.00 น.เป็นต้นไป จึงเป็นการยกเลิกประกาศ กำหนด คำสั่งที่กำหนดขึ้นตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้น มิได้ยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงสาระที่เป็นกฎหมายแท้ๆ
ดังนั้นจึงไม่อาจนำประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 และ 3 มาปรับใช้ได้ กรณีผู้กระทำความผิดที่ฝ่าฝืนข้อกำหนด ประกาศ คำสั่ง ที่ออกตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ในขณะที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ มีผลใช้บังคับอยู่ และกำหนดให้การกระทำนั้นเป็นความผิดและได้กำหนดโทษสำหรับการกระทำนั้น แม้จะยังดำเนินคดีไม่เสร็จสิ้น หรือยังมิได้ร้องทุกข์กล่าวโทษ แต่การกระทำก็ยังคงเป็นความผิดตามมาตรา 9 และมาตรา 11 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 อยู่เช่นเดิม โดยมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 18 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 อีกทั้งสิทธิการนำคดีอาญามาฟ้องมิได้ระงับไปตามมาตรา 39 แห่ง ป.วิ.อาญา จึงต้องมีการดำเนินคดีอาญากับบุคคลดังกล่าวต่อไป
ขณะที่ พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รอง ผบช.น.กล่าวว่า ผลการจับกุมดำเนินคดีผู้กระทำผิดเกี่ยวกับการชุมนุมช่วง 13-22 ต.ค.63 ของ บช.น.นั้น แยกออกเป็น
1.การจับกุมดำเนินคดี มีการจับกุมทั้งหมด 81 ราย มีผู้ต้องหา 78 คน แบ่งเป็น
- 1.1 ข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดการบริหาราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน จำนวน 46 ราย
- 1.2 ข้อหาร่วมกันชุมนุมมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองฯ จำนวน 21 ราย
- 1.3 ข้อหาประทุษร้ายต่อเสรีภาพพระราชินี ตาม ป.อาญา มาตรา 110 จำนวน 3 ราย
- 1.4 ข้อหากระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใดที่มิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็น หรือติดชมโดยสุจริตเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน มาตรา 116 จำนวน 10 ราย (ส่งท้องที่นอกเขตนครบาล 5 ราย)
- 1.5 ข้อหาขัดคำสั่งเจ้าพนักงาน ตาม ป.อาญา มาตรา 368 ปรับ จำนวน 1 ราย
2.ผู้ถูกจับที่ยังไม่ได้รับการประกันตัว 8 คน
นอกจากนี้ พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รองโฆษก ตร. ยังได้เน้นย้ำเรื่องการใช้ Hate Speech ในสังคม ซึ่งอาจเป็นการเพิ่มความขัดแย้งขึ้นได้
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 ต.ค. 63)
Tags: จับกุม, จารุวัฒน์ ไวศยะ, ชุมนุม, ม็อบราษฎร, ม็อบเยาวชน, สตช., สำนักงานตำรวจแห่งชาติ