นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กล่าวว่า โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก อาจต้องเลื่อนการประกาศเปิดให้เอกชนเข้าร่วมโครงการเป็นเดือนม.ค.64 จากเดิมคาดภายในสิ้นปีนี้
แม้ว่าการกำหนดหลักเกณฑ์จะแล้วเสร็จในเดือนต.ค. แต่ก็ต้องรอการเห็นชอบจากที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่คาดว่าจะมีขึ้นในเดือนพ.ย.นี้ก่อน หลังจากนั้นคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ก็จะออกระเบียบการรับซื้อไฟฟ้า และใช้เวลาจัดทำประชาพิจารณ์อีก 15 วัน
สำหรับหลักเกณฑ์การเข้าร่วมโครงการนั้น เบื้องต้นยังคงกำหนดให้ชุมชนมีสัดส่วนการลงทุนไม่ต่ำกว่า 10% ของเงินลงทุน และยังคงให้ใช้กรอบราคารับซื้อไฟฟ้าตามต้นทุนที่แท้จริง (FiT) ตามเดิม โดยขณะนี้กำลังพิจารณาว่าจะใช้วิธีการเปิดประมูลเข้าร่วมโครงการหรือไม่ และพิจารณาบทลงโทษป้องกันกรณีผู้ประประกอบการดัมพ์ราคาประมูล โดยอาจให้วางแบงก์การันตีกับภาครัฐด้วย รวมถึงการจำกัดจำนวนโครงการของผู้ประกอบการที่เข้าร่วมด้วย โดยอาจจะยื่นได้ 3-5 โครงการต่อราย เป็นต้น
ขณะที่การเปิดเข้าร่วมโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนครั้งนี้ จะเป็นการเปิดโครงการตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ พ.ศ. 2561-2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP2018 Rev.1) ที่เพิ่งผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.)
ด้านนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน กล่าวว่า การกำหนดหลักเกณฑ์โรงไฟฟ้าชุมชนจะแล้วเสร็จในสิ้นเดือนต.ค. เบื้องต้นมีแนวโน้มจะใช้วิธีการประมูล เพื่อให้แน่ใจว่าผู้ประกอบการจะแข่งขันให้โครงการเกิดขึ้นได้จริง แต่กระทรวงพลังงานจะเร่งสรุปให้ชัดเจนโดยเร็วว่าจะใช้วิธีประมูล หรือการกำหนดราคาตายตัว
ส่วนการจัดทำแผนหลักพลังงานที่ปัจจุบันมีอยู่ 5 แผน ให้เป็นแผนเดียว ตามข้อเสนอของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) นั้น ขณะนี้ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการจัดทำภายใน 6-8 เดือนนี้ สำหรับ 5 แผนหลักพลังงานดังกล่าว ได้แก่ แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP) แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) แผนอนุรักษ์พลังงาน (EEP) แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (Gas Plan) และแผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง (Oil Plan)
ทั้งนี้ การจัดทำรายละเอียดแนวทางปฏิบัติต้องมีความชัดเจนในทุก 5 ปี (ปี 61-65) ซึ่งขณะนี้เหลือเวลาอีก 3 ปี ดังนั้น กระทรวงจะต้องจัดทำแผนปฏิบัติการ ช่วงปี 63-65 ให้ชัดเจน โดยเป้าหมายดำเนินงานหลักของทั้ง 5 แผน ยังอยู่เหมือนเดิม เช่น เป้าหมายส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนให้มีสัดส่วน 30% ของพลังงานไฟฟ้าทั้งประเทศ ภายใน 20 ปี เพื่อให้บรรลุป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 20-25% ภายในปี 73 ตามข้อตกลงปารีส (COP21) เป็นต้น จากนั้นจะมีการจัดทำแผนปฏิบัติการต่อทุก ๆ 5 ปี เพื่อให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (ปี 61-80)
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 ต.ค. 63)
Tags: กกพ., กพช., กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน, กระทรวงพลังงาน, คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน, คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ, ประเสริฐ สินสุขประเสริฐ, พพ., สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์, โรงไฟฟ้า, โรงไฟฟ้าชุมชน, ไฟฟ้า