หุ้น SCGP ปิดเทรดช่วงเช้าที่ 35.50 บาท เพิ่มขึ้น 0.50 บาท (+1.43%) จากราคาขาย IPO ที่ 35 บาท/หุ้น มูลค่าซื้อขาย 9,103.96 ล้านบาท โดยเปิดตลาดที่ 37 บาท ราคาขึ้นสูงสุด 37.25 บาท และราคาลงต่ำสุด 35.25 บาท
บล.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ระบุในบทวิเคราะห์ฯแนะ “ซื้อ” หุ้นบมจ.เอสซีจี แพคเกจจิ้ง (SCGP) ด้วยราคาเป้าหมาย 39-45 บาท เนื่องจากไม่มีบริษัทใน SET ที่มีธุรกิจใกล้เคียงกัน ตามแบบ Filing SCGP จึงได้ทำการเปรียบเทียบกับ บริษัทจดทะเบียนในต่างประเทศ และหุ้นใน SET ที่ประกอบธุรกิจค้าปลีก, และอาหารและเครื่องดื่ม (BJC, CPALL, และ OSP) โดยใช้ค่าเฉลี่ย P/E ที่ 25x เพื่อประเมินราคาหุ้น IPO ที่เสนอขาย ซึ่งได้ใช้ข้อมูลนี้เป็นฐาน โดยอิง FY64F P/E 23-25x และอิง EPS ปีหน้าที่ 1.70-1.81 บาท จะได้ราคาเป้าหมาย SCGP เบื้องต้นที่ 39-45 บาท ซึ่งมี Upside +29% จากราคา IPO
โดยมองว่า SCGP เป็นหุ้น IPO ที่น่าสนใจจากความครบเครื่องในแง่มุมต่างๆ รวมถึงมีกระบวนการการซื้อหุ้นใน SET ของผู้จัดหาหุ้นส่วนเกินจำนวน 169.13 ล้านหุ้น (13% ของหุ้นที่เสนอขาย) หากราคาหุ้นใน SET ต่ำกว่า 35 บาท
ทั้งนี้ คาดกำไรของ SCGP ทั้งปี 63 จะอยู่ที่ราว 7.0 พันล้านบาท (+33%YoY) สำหรับทิศทางกำไรปีหน้า คาดอยู่ในช่วง 7.5-8.0 พันล้านบาท หรือ EPS 1.70-1.81 บาท (Fully Diluted) จาก 1) มี 4 โครงการขยายกำลังการผลิตทยอยสร้างเสร็จ มูลค่าลงทุน 8.2 พันล้านบาท ทำให้รายได้การขายเพิ่มขึ้น 8-9% (คาดกำไรส่วนเพิ่มเต็มปีราว 400 ล้านบาท อิง ROA 5%) 2) การรวมผลงานของ SOVI และดีล M&P ใหม่ๆ 3) เกิดการประหยัดต่อขนาด ซึ่งน่าจะทำให้อัตรากำไรดีขึ้น และ 4) ต้นทุนการเงินลดลงราว 500 ล้านบาท จากการคืนเงินกู้ยืม
มูลค่าตลาด 1.5 แสนล้านบาท เข้าเกณฑ์ SET50 หากอิงจำนวนหุ้นจดทะเบียน 4,253.55 ล้านหุ้น และราคา IPO 35 บาท จะได้มูลค่าตลาดของ SCGP ราว 1.5 แสนล้านบาท ซึ่งคิดเป็น 1.1% ของมูลค่าตลาดของ SET 13 ล้านล้านบาท และเป็นลำดับที่ 20 ของ SET50 และ SET100 ทำให้เข้าหลักเกณฑ์การเป็นหลักทรัพย์ใหม่ที่มีขนาดใหญ่ที่จะมีการเปลี่ยนแปลงรายชื่อหลักทรัพย์ระหว่างรอบ โดยหากอิงแนวปฏิบัติก่อนหน้านี้ คาดว่า SET จะประกาศให้ SCGP เข้าคำนวณ SET50 ในเย็นวันนี้ ซึ่งถือเป็นการเพิ่มความน่าสนใจให้กับหุ้น SCGP มากยิ่งขึ้น
นายวิชาญ จิตร์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ของ SCGP เปิดเผยว่า บริษัทได้นำหุ้นเข้าซื้อขายวันแรกในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในวันนี้ (22 ต.ค.) ซึ่งอยู่ในกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม หมวดบรรจุภัณฑ์ นับเป็นก้าวสำคัญของ SCGP สู่การเป็นบริษัทมหาชน ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพในการดำเนินธุรกิจจากการมีฐานะการเงินที่เข้มแข็งขึ้น โดยบริษัทจะนำเงินที่ได้จากการระดมทุนครั้งนี้ไปใช้ขยายการลงทุน ชำระเงินกู้และเป็นเงินทุนหมุนเวียน โดยในปี 2563-2564 บริษัทได้ลงทุนขยายกำลังการผลิตบรรจุภัณฑ์แบบอ่อนตัวในประเทศเวียดนามและไทย และขยายกำลังการผลิตกระดาษบรรจุภัณฑ์ในประเทศอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ โดยมีมูลค่าเงินลงทุนรวมประมาณ 8,200 ล้านบาท
ทั้งนี้ หลังเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ SCGP พร้อมขยายการลงทุนในภูมิภาคอาเซียนอย่างต่อเนื่อง ทั้งการขยายกำลังการผลิตและศึกษาโอกาสเข้าควบรวมกิจการ (Merger & Partnership) โดยในปีนี้ SCGP อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในการควบรวมและเข้าเป็นพันธมิตรทางธุรกิจในบริษัทผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ลูกฟูกในประเทศเวียดนาม เป็นการเพิ่มศักยภาพและการเติบโต รักษาตำแหน่งผู้นำด้านบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจรในภูมิภาคอาเซียน ตลอดจนสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนที่ต้องการเติบโตไปด้วยกัน
“เรามองว่าตลาดบรรจุภัณฑ์ในภูมิภาคอาเซียนยังมีศักยภาพเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง จากการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรและรายได้ การเปลี่ยนแปลงของไลฟ์สไตล์ การเติบโตอย่างก้าวกระโดดของอีคอมเมิร์ซ การให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ขณะที่ SCGP มีความสามารถในการออกแบบและผลิตบรรจุภัณฑ์ให้แก่ลูกค้าได้อย่างหลากหลาย ครอบคลุมถึงการวิจัยและพัฒนา (Research and Development) บรรจุภัณฑ์สำหรับสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต้องใช้ในชีวิตประจำวัน จึงมั่นใจว่าด้วยโมเดลธุรกิจที่วางไว้จะสามารถสร้างการเติบโตที่ดี”นายวิชาญ กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 ต.ค. 63)
Tags: SCGP, ตลาดหุ้น, วิชาญ จิตร์ภักดี, หุ้นไทย, เอสซีจี แพคเกจจิ้ง