นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่นายกรัฐมนตรีเตรียมยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับฝ่ายความมั่นคง ไม่จำเป็นต้องนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพราะเป็นคนละเรื่องกันกับการต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ใช้ในการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19
สำหรับการยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่กรุงเทพฯนั้น นายกรัฐมนตรีได้หารือในที่ประชุม ครม.ไว้ก่อนหน้านี้แล้วว่า ถ้าจำเป็นต้องยกเลิกก็มีข้อกำหนดไว้ตามมาตรา 11 วรรคสุดท้ายให้อำนาจนายกรัฐมนตรีไว้ ไม่ใช่อำนาจของ ครม.
ส่วนกรณีที่กลุ่มผู้ชุมนุมขีดเส้นให้นายกรัฐมนตรีต้องลาออกภายใน 3 วันแล้ว นายวิษณุ กล่าวว่า รับทราบในเรื่องนี้ และหากยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ แล้วมีความจำเป็นก็สามารถบรรจุเรื่องการห้ามชุมนุมเข้าไปเป็นข้อกำหนดในการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ได้
“ผมอธิบายมาตลอดว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินเป็นแม่ ส่วนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นลูก แต่ไม่ว่าฉุกเฉินธรรมดาหรือฉุกเฉินร้ายแรงก็ไม่มีอำนาจอะไรขึ้นมา ต่อไปคือหลานที่เป็นข้อกำหนด สมัยโควิดใหม่ๆ เราก็ข้อกำหนดเรื่องห้ามชุมนุม ต่อว่าเรามี social distancing ข้อกำหนดเรื่องห้ามชุมนุมก็เลิกไป ก็ชุมนุมมาได้ตลอด ต่อมาเมื่อเกิดเหตุไม่กี่วันนี้ มันก็ประกาศยกระดับเรื่องร้ายแรงขึ้นมาอีกเรื่องหนึ่ง ถ้ายกเลิกก็ยกเลิกส่วนนี้ไป แต่ถ้าหากมีอะไรเกิดขึ้นจะทำอย่างไร มันก็ประกาศฉุกเฉินร้ายแรงใหม่ได้”
นายวิษณุ กล่าว
นายวิษณุ กล่าวว่า ในส่วนของ ศบค.ที่เห็นชอบขยาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ออกไปอีก 1 เดือน หรือสิ้นสุดวันที่ 30 พ.ย.63 จะไม่มีการบรรจุข้อกำหนดห้ามการชุมนุมแน่นอน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 ต.ค. 63)
Tags: การเมือง, ครม., ชุมนุม, พ.ร.ก.ฉุกเฉิน, ม็อบ, วิษณุ เครืองาม, สถานการณ์ฉุกเฉิน