รายงานข่าวจาก Voice TV เปิดเผยว่า วันนี้ศาลอาญานัดไต่สวนกรณีที่กระทรวงดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจ (ดีอีเอส) ยื่นคำร้องขอให้ปิดช่อง Voice TV บนทุกแพลตฟอร์ม และศาลมีคำสั่งให้ปิดตามคำร้องไปเมื่อวานนี้ และล่าสุดเวลา 14.00 น. ศาลได้ตัดสินให้ยกเลิกคำสั่งเดิมให้ปิด Voice TV และให้ยกเลิกทุกคำร้อง เนื่องจากพิจารณาเห็นว่าคำร้องขอไม่แสดงเหตุชัดเจน ขณะเดียวกันยกเลิกคำสั่งที่เคยขอให้ระงับช่องทางการเผยแพร่ข่าวของ ประชาไท ,The reporter, The standard และเพจเยาวชนปลดแอก-Freeyouth
ทั้งนี้ ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่าตามรัฐธรรมนูญมาตรา 35 วรรคสอง ห้ามรัฐปิดสื่อมวลชนเพื่อลิดรอนเสรีภาพในการเสนอข่าวสาร และ มาตรา 36 วรรคหนึ่ง รับรองเสรีภาพของบุคคลในการสื่อสารถึงกัน ดังนั้น การตีความ พ.ร.บ.คอมพ์ฯ มาตรา 20 และ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน มาตรา 9 (3) จึงต้องสอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ
การที่ศาลมีคำสั่งระงับการเผยแพร่ข้อมูลคอมพิวเตอร์ตาม URL ทั้ง 20 รายการ ซึ่งเป็นการปิดช่องทางการสื่อสารของ Voice TV รวมถึง ประชาไท ,The reporter, The standard และเพจเยาวชนปลดแอก-Freeyouth แต่ผู้ร้องไม่ได้แสดงให้ชัดเจนว่าเป็นการขอให้ปิดสื่อทั้งช่องทาง ทำให้ศาลไม่ได้รู้ข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง แต่เข้าใจว่าเป็นการปิดกั้นเฉพาะเนื้อหาบางส่วนที่นำเสนอต่อศาล ดังนั้น คำสั่งดังกล่าวจึงไม่ถูกต้อง จึงให้ยกเลิกคำสั่งศาลที่ให้ระงับการเผยแพร่ข้อมูลก่อนหน้านี้
Voice TV ระบุว่า หลักฐานที่ยื่นคำร้องต่อศาลให้ปิดช่อง Voice TV มาจากการนำเสนอข่าวสารผ่าน 5 ช่องทางออนไลน์ ประกอบด้วย เว็บไซต์, เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์, อินสตราแกรม, และยูทูป รวม 12 URL ซึ่งเป็นเนื้อหาที่เผยแพร่เหตุการณ์ชุมนุมในวันที่ 17 ต.ค. ที่ผ่านมา โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจระบุว่ามีเนื้อหาขัดต่อความสงบเรียบร้อย บางส่วนนำเสนอการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่ที่มีความรุนแรง และมีข้อความในลักษณะเชิญชวนให้ไปร่วมชุมนุม ขัดต่อประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้เรียกผู้บริหารมาชี้แจงกรณีดังกล่าวก่อนเลย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 ต.ค. 63)
Tags: The reporter, The Standard, VOICE TV, การเมือง, ดีอีเอส, ประชาไท, ศาลอาญา, สื่อมวลชน, เยาวชนปลดแอก