ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยว่า ในช่วงครึ่งแรกของปี 63 จำนวนหน่วยที่อยู่อาศัยที่อยู่ระหว่างขาย (Total Supply) ทั้งหมด 1,692 โครงการ 205,851 หน่วย มูลค่ารวม 1,037,865 ล้านบาท และมีที่อยู่อาศัยขายได้ใหม่ 32,758 หน่วย ขณะที่คาดว่าครึ่งหลังของปี 63 จะมีที่อยู่อาศัยรอการขาย 185,993 หน่วย มีมูลค่าหน่วยเหลือขาย 937,703 ล้านบาท
ขณะที่คาดว่าในช่วงครึ่งแรกของปี 64 จะมีมูลค่าหน่วยเหลือขาย 956,086 ล้านบาท
ส่วนการเปิดตัวโครงการใหม่จะยังคงลดลงต่อเนื่อง โดยคาดว่าจะมีการเปิดโครงการใหม่ประมาณ 23,116 หน่วยในช่วงครึ่งหลังของปี 63 และจะเปิดใหม่อีก 26,124 หน่วยในครึ่งแรกปี 64
นายวิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคาร และรักษาการผู้อำนวยการ ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยว่า การพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยในพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล อัตราการเปลี่ยนแปลงของหน่วยที่อยู่อาศัยที่อยู่ระหว่างการขายยังคงเพิ่มขึ้น 5.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 62 และยังสูงกว่าค่าเฉลี่ย 5 Half ล่าสุด โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของบ้านจัดสรร 15.2% แต่อาคารชุดลดลง -6.2%
เมื่อพิจารณาจากอัตราการเปลี่ยนแปลงของโครงการที่อยู่อาศัยเปิดขายใหม่ มีจำนวนลดลง -28.7% จากช่วงเดียวกันของปี 62 หน่วยขายได้ใหม่มีอัตราการเปลี่ยนแปลงลดลงถึง -24.9% ส่งผลให้หน่วยเหลือขายมีอัตราการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้น 13.9% เมื่อเทียบกับช่วงครึ่งแรกของปี 62
จังหวัดปทุมธานีมี Total Supply เพิ่มขึ้นมากที่สุด 40.4% รองลงมา คือ นครปฐม 9.0% และสมุทรปราการ 5.7% ตามลำดับ ส่วนจังหวัดที่มี Total Supply ลดลงมากที่สุดได้แก่ กรุงเทพฯ -2.4% รองลงมา ได้แก่ นนทบุรี -0.6% และสมุทรสาคร -0.2%
ในช่วงครึ่งแรกปี 63 มีโครงการเปิดขายใหม่รวม 159 โครงการ จำนวน 29,816 หน่วย มูลค่ารวม 137,068 ล้านบาท เป็นบ้านจัดสรร 124 โครงการ 17,926 หน่วย มูลค่า 94,667 ล้านบาท และอาคารชุด 35 โครงการ 11,890 หน่วย มูลค่ารวม 42,401 ล้านบาท โดยกรุงเทพฯ เป็นพื้นที่ที่มีโครงการเปิดขายใหม่มากที่สุด 68 โครงการ ประกอบด้วย บ้านจัดสรร 46 โครงการ และอาคารชุด 22 โครงการ รวม 12,463 หน่วย มูลค่า 71,038 ล้านบาท รองลงมาคือปทุมธานี เปิดโครงการใหม่ 31 โครงการ ประกอบด้วย บ้านจัดสรร 26 โครงการ และอาคารชุด 5 โครงการ รวม 7,720 หน่วย มูลค่า 25,007 ล้านบาท และนนทบุรี 23 โครงการ เป็นบ้านจัดสรร 21 โครงการ และอาคารชุด 2 โครงการ รวม 5,196 หน่วย มูลค่า 26,345 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม จำนวนหน่วยเหลือขาย และหน่วยขายได้ใหม่ ยังคงเป็นประเด็นที่น่าจับตา โดยครึ่งแรกปี 63 ในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล มีอุปทานเหลือขาย 173,093 หน่วย คิดเป็นมูลค่า 878,933 ล้านบาท จำแนกเป็นบ้านจัดสรร 99,993 หน่วย คิดเป็นมูลค่า 533,725 ล้านบาท และอาคารชุด 73,100 หน่วย คิดเป็นมูลค่า 345,208 ล้านบาท
เมื่อจำแนกตามราคา พบว่าหน่วยเหลือขายบ้านจัดสรรส่วนใหญ่อยู่ในช่วงระดับราคา 3-5 ล้านบาท จำนวน 34,262 หน่วย คิดเป็นสัดส่วน 34.3% ของหน่วยบ้านจัดสรรที่เหลือขายทั้งหมด ขณะที่อาคารชุดเหลือขายส่วนใหญ่อยู่ในช่วงระดับราคา 2-3 ล้านบาท มีจำนวน 22,290 หน่วย คิดเป็นสัดส่วน 30.5% ของหน่วยอาคารชุดที่เหลือขายทั้งหมด
ทั้งนี้ บ้านจัดสรรที่มีมูลค่าหน่วยเหลือขายมากที่สุดอยู่ในช่วงมากกว่า 10 ล้านบาท มีมูลค่ารวม 163,300 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 30.6% ของมูลค่าบ้านจัดสรรที่เหลือขายทั้งหมด เช่นเดียวกับอาคารชุดส่วนใหญ่มีมูลค่าเหลือขายอยู่ในช่วงระดับราคามากกว่า 10 ล้านบาท มีมูลค่ารวม 118,112 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 34.2% ของมูลค่าอาคารชุดที่เหลือขายทั้งหมด
ขณะที่หน่วยขายได้ใหม่ในช่วงครึ่งแรกปี 63 มีจำนวนทั้งสิ้น 32,758 หน่วย คิดเป็นมูลค่า 158,932 ล้านบาท ในจำนวนดังกล่าวเป็นบ้านจัดสรร 20,348 หน่วย มูลค่า 109,092 ล้านบาท และอาคารชุด 12,410 หน่วย มูลค่า 49,840 ล้านบาท โดยหน่วยบ้านจัดสรรขายได้ใหม่มากที่สุดอยู่ในช่วงราคา 3-5 ล้านบาท มีจำนวน 6,775 หน่วย คิดเป็นสัดส่วน 33.3% สำหรับหน่วยอาคารชุดขายได้ใหม่มากที่สุดอยู่ในช่วงราคา 2-3 ล้านบาท มีจำนวน 4,423 หน่วย คิดเป็นสัดส่วน 35.6%
ทั้งนี้ บ้านจัดสรรขายได้ใหม่ มีมูลค่ามากที่สุดอยู่ในช่วงมากกว่า 10 ล้านบาท มีมูลค่ารวม 34,467 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 31.6% สำหรับอาคารชุดที่ขายได้ใหม่มากที่สุดอยู่ในช่วงมากกว่า 10 ล้านบาท มีมูลค่ารวม 13,358 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 26.8%
เมื่อแยกตามสถานะของการก่อสร้างของหน่วยเหลือขายทั้งหมด พบว่าส่วนใหญ่ 38.1% ยังไม่ก่อสร้าง รองลงมาอยู่ระหว่างการก่อสร้าง 36.0% และที่เหลือ 25.9% ก่อสร้างเสร็จแล้ว หากแยกตามประเภทที่อยู่อาศัยพบว่า บ้านจัดสรรส่วนใหญ่ 50.8% ยังไม่ก่อสร้าง โดยอยู่ระหว่างสร้าง 27.9% และสร้างเสร็จแล้ว 21.3% ขณะที่อาคารชุดส่วนใหญ่อยู่ระหว่างสร้างถึง 47.2% สร้างเสร็จแล้ว 32.3% และยังไม่ก่อสร้าง 20.5% ตามลำดับ
ด้านอัตราดูดซับ หรือ Absorption Rate ของตลาดที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ – ปริมณฑล ซึ่งศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ใช้เป็นเครื่องชี้อุปสงค์ (Demand) ของตลาดที่อยู่อาศัยนั้น การสำรวจในรอบครึ่งแรกปี 63 พบว่าอัตราดูดซับต่อเดือนลดลงจาก 3.7% ในครึ่งแรกปี 62 เหลือ 2.7% โดยบ้านจัดสรรมีอัตราดูดซับเท่ากับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 2.8% ขณะที่อาคารชุดมีอัตราลดลงจาก 4.8% เหลือ 2.4% เนื่องจากมีหน่วยเหลือขายเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่หน่วยขายได้ใหม่มีจำนวนลดลง
สำหรับทำเลที่มีหน่วยขายได้ใหม่ในช่วงครึ่งแรกปี 63 มากที่สุด 3 ลำดับแรก คือ บางพลี-บางบ่อ-บางเสาธง เมืองสมุทรปราการ-พระประแดง-พระสมุทรเจดีย์ และ ลำลูกกา-คลองหลวง-ธัญบุรี-หนองเสือ ตามลำดับ ส่วนทำเลที่มีหน่วยเหลือขายมากที่สุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ ลำลูกกา-คลองหลวง-ธัญบุรี-หนองเสือ บางใหญ่-บางบัวทอง-บางกรวย-ไทรน้อย และ เมืองสมุทรปราการ-พระประแดง-พระสมุทรเจดีย์ ตามลำดับ
อย่างไรก็ตาม ประมาณการทิศทางตลาดที่อยู่อาศัยกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ทั้งปี 63 และแนวโน้มปี 64 โดยคาดว่า ณ ครึ่งหลังปี 63 จะมีที่อยู่อาศัยรอการขายจำนวน 185,993 หน่วย มีมูลค่าหน่วยเหลือขาย 937,703 ล้านบาท และครึ่งแรกของปี 64 จะเพิ่มขึ้นเป็น 193,415 หน่วย มีมูลค่าประมาณ 956,086 ล้านบาท
ขณะที่อัตราดูดซับต่อเดือนของบ้านจัดสรร คาดว่าจะลดลงมาอยู่ที่ 2.0% ในครึ่งหลังปี 63 และเพิ่มขึ้นเป็น 2.4% ในครึ่งแรกปี 64 ส่วนอัตราดูดซับต่อเดือนของอาคารชุดคาดว่าจะลดลงมาอยูที่ 1.7% ในครึ่งหลังปี 63 และเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 1.8%
การเคลื่อนไหวด้านการเปิดตัวโครงการใหม่ ประมาณการว่าจะยังคงลดลงต่อเนื่องในครึ่งหลังของปี 63 คาดว่าจะมีการเปิดโครงการใหม่ประมาณ 23,116 หน่วย จากนั้นจะเปิดใหม่อีก 26,124 หน่วยในครึ่งแรกปี 64 ส่วนการโอนกรรมสิทธิ์ ณ ครึ่งหลังปี 63 คาดว่าจะมีจำนวนประมาณ 75,752 หน่วย มูลค่า 187,971 ล้านบาท จากนั้นจะลดลงมาเหลือ 56,774 หน่วย มูลค่า 228,024 ล้านบาทในครึ่งแรกปี 64 ทั้งนี้ อยู่ภายใต้ตัวแปรที่ยังไม่มีเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมืองเมื่อวันที่ 14 ต.ค.63
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 ต.ค. 63)
Tags: ที่อยู่อาศัย, บ้านจัดสรร, วิชัย วิรัตกพันธ์, ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์, อสังหาริมทรัพย์, อาคารชุด