ธนาคารกรุงเทพ (BBL) และบริษัทย่อยรายงานกำไรสุทธิในไตรมาส 3/63 จำนวน 4,017 ล้านบาท ลดลง 57.4%จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยหลักจากการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานจากการรวมค่าใช้จ่ายของธนาคารเพอร์มาตา และประมาณการค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการควบรวมสาขาในประเทศอินโดนีเซีย ขณะที่รายได้ดอกเบี้ยสุทธิของธนาคารเพิ่มขึ้น 1,908 ล้านบาท แม้ว่าจะอยู่ในช่วงภาวะดอกเบี้ยขาลง ซึ่งเป็นผลจากการรวมรายได้ดอกเบี้ยสุทธิของธนาคารเพอร์มาตา
อย่างไรก็ตาม กำไรในไตรมาส 3/63 เพิ่มขึ้น 29.8% จากไตรมาสก่อน มีสาเหตุหลักจากการลดลงของผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น 7,570 ล้านบาท ทั้งนี้ ธนาคารยังคงรักษาระดับสำรองของธนาคารให้เหมาะสมท่ามกลางความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจทั่วโลกจากผลกระทบของสถานการณ์โควิด-19 โดยรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น 1,742 ล้านบาท เป็นผลของการรวมรายได้ดอกเบี้ยสุทธิของธนาคารเพอร์มาตา สำหรับรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลง 4,606 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นผลจากกำไรสุทธิจากเครื่องมือทางการเงินที่วัดด้วยมูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรหรือขาดทุน (FVTPL) ลดลงตามสภาวะตลาด
ขณะที่รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิไตรมาสนี้เริ่มปรับตัวดีขึ้น จากการขยายตัวดีของค่าธรรมเนียมจากบริการวานิชธนกิจ การอำนวยสินเชื่อ และบริการประกันผ่านธนาคารและบริการกองทุนรวม สำหรับค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเพิ่มขึ้นเป็นผลจากการรวมค่าใช้จ่ายของธนาคารเพอร์มาตา และประมาณการค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการควบรวมสาขาในประเทศอินโดนีเซีย
สำหรับงวด 9 เดือน ปี 2563 กำไรสุทธิส่วนที่เป็นของธนาคารมีจำนวน 14,783 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อน สาเหตุหลักจากการตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นเพิ่มขึ้น 7,984 ล้านบาท เพื่อรองรับความเสี่ยงที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19
ด้านค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเพิ่มขึ้น ตลอดจนรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลง 5,826 ล้านบาท ส่วนใหญ่จากการลดลงของรายได้จากเงินลงทุน และจากการขายสินทรัพย์ ประกอบกับรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิลดลง ส่วนใหญ่จากการเปลี่ยนแปลงการรับรู้รายได้ค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวกับการให้สินเชื่อตาม TFRS9 อย่างไรก็ดีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น 3,904 ล้านบาท เป็นผลจากการเริ่มเข้าถือหุ้นธนาคารเพอร์มาตาในช่วงไตรมาส 2/63 สุทธิกับการที่ธนาคารทยอยปรับลดอตัราดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อรวมถึงการปรับลดดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อให้ลูกค้าบางส่วนที่ได้รับผลกระทบของสถานการณ์โควิด-19
ท่ามกลางความท้าทายทางเศรษฐกิจที่หดตัวทั่วโลก ธนาคารกรุงเทพยังคงยึดมั่นแนวทางการดำเนินธุรกิจ ด้วยความระมัดระวังและรอบคอบ ควบคู่กับการดำรงฐานะการเงิน สภาพคล่อง และเงินกองทุนให้อยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง เพื่อรักษาเสถียรภาพทางการเงินที่ยั่งยืน และเตรียมพร้อมการรองรับการดำเนินธุรกิจตามบริบทใหม่ (New Normal)
ณ สิ้นเดือนกันยายน 2563 ธนาคารมีเงินให้สินเชื่อจำนวน 2,367,296 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเล็กน้อย 0.6% จากสิ้นเดือนมิถุนายน 2563 จากสินเชื่อลูกค้าธุรกิจและลูกค้าบุคคล สำหรับอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตต่อเงินให้สินเชื่อรวมอยู่ที่ 4.1% ขณะที่ธนาคารยังคงรักษาความมั่นคงของอัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตต่อเงินให้สินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตที่ 178.0% ทั้งนี้ ธนาคารยังคงให้ความสำคัญในการดูแลกระบวนการอำนวยสินเชื่อและบริหารความเสี่ยง ควบคู่กับการดำรงค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม
ด้านเงินกองทุนและสภาพคล่อง ณ วันที่ 30 กันยายน 2563 ธนาคารมีเงินรับฝากจำนวน 2,821,883 ล้านบาท ลดลง 1.1% จากสิ้นเดือนมิถุนายน 2563 สำหรับอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อเงินรับฝากอยู่ที่ 83.9% สะท้อนถึงสภาพคล่องที่เพียงพอในการรองรับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ
นอกจากนี้ ในวันที่ 23 กันยายน 2563 ธนาคารออกตราสารหนี้ด้อยสิทธิที่สามารถนับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 ของธนาคารภายใต้หลักเกณฑ์ Basel III จำนวน 750 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อเสริมสร้างโครงสร้างเงินกองทุนของธนาคารให้มีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น โดย ณ สิ้นเดือนกันยายน 2563 ธนาคารมีอัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้น อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 และอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของต่อสินทรัพย์เสี่ยงของธนาคารและบริษัทย่อยอยู่ที่ 17.6% , 15.1% และ 14.2% ตามลำดับ ซึ่งอยู่ในระดับที่สูงกว่าอัตราส่วนเงินกองทุนขั้นต่ำตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด
เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2563 ธนาคารได้ดำเนินการจัดทำคำเสนอซื้อเพื่อเสนอซื้อหุ้นของธนาคารเพอร์มาตาจากผู้ถือหุ้นรายย่อย (Mandatory Tender Offer – MTO) ตามกฎเกณฑ์ของประเทศอินโดนีเซีย เสร็จสิ้นเรียบร้อย โดยธนาคารถือหุ้นในธนาคารเพอร์มาตาทั้งสิ้น 98.71% ของหุ้นที่ออกและชำระแล้วของธนาคารเพอร์มาตา และเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2563 ธนาคารกรุงเทพเข้าถือหุ้นสามัญในบริษัท บีเอสแอล ลีสซิ่ง จำกัด เพิ่มเติม จากเดิมมีสัดส่วนการถือหุ้น 35.9% เป็น 90.0% ทำให้บริษัทมีสถานะเป็นบริษัทย่อย
ธนาคารและบริษัทย่อยได้นำมาตรฐานกลุ่มเครื่องมือทางการเงินฉบับใหม่ (ฉบับที่ 9) มาถือปฏิบัติกับงบการเงินสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไป โดยไม่ปรับงบการเงินเปรียบเทียบย้อนหลัง การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ได้แก่ การจัดประเภทและการวัดมูลค่าสินทรัพย์และหนี้สินทางการเงิน
การคำนวณการด้อยค่าของสินทรัพย์ทางการเงินโดยใช้ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected Credit Loss) การบัญชีป้องกันความเสี่ยง และการรับรู้รายได้ดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อโดยใช้วิธีอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (Effective Interest Rate: EIR)
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 ต.ค. 63)
Tags: BBL, ธนาคารกรุงเทพ, ผลประกอบการ