นายสัตวแพทย์เพชร นันทวิสัย รองประธานสายงานฟาร์มและพัฒนาคุณภาพ บมจ.ไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป (TFG) เปิดเผยกับ”อินโฟเควสท์”ว่า ทิศทางการเติบโตในช่วง 3 ปีนี้ (ปี 64- 66) บริษัทจะเดินหน้าเพิ่มกำลังการผลิตสุกรเฉลี่ยปีละ 25% ทั้งในไทยและเวียดนาม จากปัจจุบันมีกำลังการผลิต 1.1 แสนตัน/ปี จะเพิ่มไปสู่เป้าหมาย 2 แสนตัน/ปี ในปี 66
ซึ่งจะเพิ่มขึ้นเท่าตัว รองรับความต้องการในตลาดในประเทศและส่งออก หลังจากการระบาด ASF ในหมูทำซัพพลายในตลาดลดลงอย่างมากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาในจีน เวียดนาม กัมพูชา ลาว
บริษัทได้ตั้งงบลงทุนปีละ 2,500 ล้านบาท รวม 7,500 ล้านบาทในช่วง 3 ปีนี้ โดยจะมีสัดส่วนลงทุนในไทย 80% เน้นลงทุนฟาร์มหมู อาหารสัตว์ และโรงชำแหละ และอีก 20% ใช้ลงทุนในเวียดนาม ซึ่งปัจจุบันมีรายได้ 3% ของรายได้รวม หรือราวปีละ 600 ล้านบาท ส่วนอาหารสัตว์ของสุกรรจะเพิ่มกำลังการผลิตอีก 5 หมื่นตัน/เดือน จากปัจจุบันผลิตได้ 1.3 แสนตัน/เดือน โดยแหล่งเงินจะมาจากกเงินกู้ส่วนหนึ่งและเงินทุนจากการดำเนินการ
ส่วนธุรกิจไก่ ยังไม่มีแผนขยายกำลังการผลิตเพราะกำลังการผลิตยังเหลืออีก 50% โดยกำลังการผลิตไก่ปรุงสุก 2 หมื่นตัน/ปีจากปัจจุบันผลิต 1 หมื่นตัน/ปี และโรงชำแหละก็มีกำลังการผลิตเหลืออยู่ ส่วนการผลิตอาหารไก่ ขณะนี้ผลิตและใช้เอง 85% ส่วนที่เหลือ 15% นำออกขาย หากไม่พอก็จะดึงมาใช้เอง จึงยังไม่จำเป็นต้องลงทุนในช่วง 3 ปีนี้
ทั้งนี้ เพื่อปรับสัดส่วนรายได้จากหมูเพิ่มขึ้นมาเป็น 40% จาก 30% ในปีก่อน และปีนี้ขยับขึ้นมาที่ 33% หลังจากอัตรากำไรขั้นต้นของธุรกิจหมูปรับขึ้นมาที่อัตรา 30% ในปีนี้ ซึ่งถือว่าสูงมาก โดยราคาหมูเป็นเฉลี่ย 68-70 บาท/กก.แต่ขณะนี้ราคาปรับขึ้นมาเป็น 80 บาท/กก.เนื่องจากการระบาด ASF ในหมูในจีน เวียดนาม ลาว กัมพูชามาต่อเนื่อง 2 ปีแล้ว ทำให้ซัพพลายในตลาดย่านเอเชียหายไป 30-50% ทำให้มีการส่งออกหมูไทยออกไปมากขึ้น ดันให้ราคาหมูในประเทศขยับขึ้น
ขณะที่ราคาไก่ดิบปรับตัวลดลงจากตลาดส่งออกในยุโรปที่มีการล็อกดาวน์หลายเมืองทำให้ความต้องการน้อยลงทำให้ราคาขายลดลง แม้ว่าปีนี้จะมีปริมาณส่งออกได้เพิ่มขึ้น 20% จำนวนราว 6 หมื่นตัน โดยส่งออกยุโรป 3 หมื่นตัน ญี่ปุ่น 1.6 หมื่นตัน และจีน 1.2 หมื่นตัน แต่สินค้าไก่ปรุงสุกกลับดีขึ้น เน้นส่งออกไปญี่ปุ่น ซึ่งปีนี้เพิ่มการผลิตเท่าตัวจาก 5 พันตัน/ปี เป็น 1 หมื่นตัน/ปี โดยแผนจะเพิ่มกำลังการผลิตในปี 64 อีก 50% มาที่ 1.5 หมื่นตัน/ปี อย่างไรก็ตาม บริษัทปรับลดสัดส่วนรายได้จากธุรกิจไก่มาที่ 40% จาก 45-50% ในปีนี้
ส่วนธุรกิจอื่นๆ อาทิ ซอสปรุงรส ไส้กรอก อยู่ที่ 20% ซึ่งบริษัทจะหันมาเน้นธุรกิจ Food โดยจะมีการผลิตหมูปรุงสุกที่ยังไม่เคยผลิต นอกเหนือจากไก่ปรุงสุก โดยมีเป้าหมายใน 3 ปีนี้จะเพิ่มสัดส่วนเป็น 15% เพื่อทำให้กำไรนิ่งมากขึ้น โดยการปรับสัดส่วนรายได้นี้จะทำให้บริษัทไม่ต้องพึ่งพิงรายได้ธุรกิจใดธุรกิจหนึ่งมากเกินไป
ทั้งนี้ บริษัทโฟกัสสร้างอัตรากำไรขั้นต้น (Gross Profit) ในอัตรามากกว่า 10% และอัตรากำไรสุทธิ (Net Profit Margin) ไว้ที่ 7-9% ขณะเดียวกันจะขยายการเติบโตของรายได้ทุกปี
นายสัตวแพทย์เพชร กล่าวว่า บริษัทกลับมามั่นใจว่าในปีนี้ยอดขายจะสามารถเติบโตได้ 10% มาที่ 3.3 หมื่นล้านบาท จากเดิมที่เคยปรับลดเป้าหมายยอดขายเหลือโต 5%ในช่วงที่รับผลกระทบโควิด-19 เนื่องจากมีแนวโน้มผลประกอบการทั้งรายได้และกำไรในไตรมาส 3/63 ออกมาดีกว่าคาด และเติบโตชัดเจนจากไตรมาส 2/63 จากราคาหมูปรับตัวดีขึ้นมาก และปริมาณหมูได้มากกว่าที่คาดไว้
พร้อมกันนั้น ยังมีการกระจายสินค้าผ่านโมเดิร์นเทรด จากช่วงที่มีการล็อกดาวน์ในเดือน เม.ย.ที่ผ่านมารายได้จากสุกรและไก่ปรับตัวลงอย่างมาก ทำให้บริษัทหันมาปรับเพิ่มช่องทางการขายไปที่โมเดิร์นเทรดมากขึ้นเพื่อรองรับผู้บริโภคที่นำไปปรุงอาหารเอง รวมถึง Food Service อาทิ ร้านอาหารขนาดใหญ่
“ฟื้นตัวจากโควิดเร็วกว่าที่เราคาดไว้ เราย้อนดูเห็นว่าโควิดกลายเป็นโอกาสให้เรา เพราะผู้ผลิตหมูหลายรายไปโฟกัสส่งออกหมูได้เยอะ ทำให้เรามีโอกาสที่ดี ได้เข้าไปโมเดิร์นเทรด และ Food Service ซึ่งเป็นร้านอาหารใหญ่ๆ ตอนแรกเราประเมินว่าเขาจะฟื้นช้าแต่เขากลับมาเร็วกว่าที่คิด อันนี้ก็ช่วยเราได้เยอะ”
รองประธานสายงานฟาร์มและพัฒนาคุณภาพ TFG กล่าว
นอกจากนี้ คาดว่ากำไรสุทธิปีนี่น่าจะดีกว่าปีก่อน ที่มี 1,440 ล้านบาท จากรายได้ที่เพิ่มมากขึ้น และมาริ์จิ้นจากหมูเพิ่มมากขึ้น โดย Net Profit Margin ตั้งเป้ารักษาอัตรา 7-8% ใกล้เคียงปีก่อน ส่วน Gross Profit ต้องการให้มีอัตรามากกว่า 10% ขึ้นไป จากปีก่อนอยู่ในอัตรา 12% โดยในไตรมาส 2/63 อยู่ที่ 13% ซึ่งเปลี่ยนมาสินค้าปรุงสุกมากขึ้น
ที่สำคัญต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ลดลง จากการวิจัยสายพันธุ์ การเลี้ยง สูตรอาหารสัตว์ ทำให้ปริมาณการใช้วัตถุดิบอาหารสัตว์ลดลง ทำให้ต้นทุนถูกลง ประกอบกับปีนี้ ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ อาทิ ถั่วเหลือง ข้าวโพด ข้าวสาลี ราคาปรับตัวลดลงราว 3-4%ของต้นทุนวัตถุดิบ ถือว่าต่ำที่สุดในรอบ 15 ปี เพราะความต้องการลดลง หลังเกิดระบาด ASF ในจีนดีมานด์จึงลดลง และมีสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐ และจัดการควบคุมค่าบริหารการได้ดีเหลือ 5% ของค่าใช้จ่ายรวม จากเดิมอยู่ที่ 6-7%
ดันธุรกิจขายปลีกเป็น S-Curve ใหม่ของกลุ่ม
นายสัตวแพทย์เพชร กล่าวว่า บริษัทหันมาเปิดร้านขายปลีก ภายใต้ชื่อ ร้านไทย ฟู้ดส์ เฟรซ มาร์เก็ต เพื่อกระจายสินค้าสู่ผุ้บริโภคโดยตรง (B to C) จากเดิมใช้ช่องทางขาย B to B และส่งออก โดยประเดิมสาขาแรกที่ จ.อยุธยา เมื่อ 2 ต.ค.63 ทั้งนี้ บริษัทมีแผนเปิดสาขาร้านไทย ฟู้ดส์ เฟรซ มาร์เก็ต อย่างต่อเนื่อง โดยในเดือน พ.ย.นี้จะเปิดสาขาหน้านิคมอุตสาหกรรมโรจนะที่ จ.อยุธยา และในปี 64 จะขยายอีก 20 สาขาเน้นกระจายในภาคกลางใกล้โรงงานผลิต โดยใช้เงินลงทุน 5 ล้านบาท/สาขา รวมเงินลงทุน 100 ล้านบาท
บริษัทตั้งเป้าในปี 64 จะมียอดขายจากธุรกิจค้าปลีกราว 500-600 ล้านบาท และคาดหวังจะเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งบริษัทจะมุ่งไปสู่ธุรกิจ Downstreme มากขึ้น เช่น สินค้าปรุงสุกทั้งไก่และหมูให้มากขึ้นในช่วง 3 ปีนี้
“ธุรกิจ Shop ผมมองว่าเป็นการ Breakthrough ของไทยฟู้ดส์ที่อยู่ข้างหลังฉาก เป็นการเปิดตัวเองสู่โลกกว้าง เป็นก้าวสำคัญ เป็นธุรกิจความหวัง เป็นเซฟการ์ด เป็น S-Curve ใหม่ของเรา เราอยู่กับช่องทางเดิมค่อนข้างนาน ผมคิดว่าเป็นโอกาสดี ที่ตอนนี้มีเทคโนโลยีช่วยเรา เราไม่อยากทำจำนวนช็อปเยอะ เพราะมันเข้าถึงได้ง่ายอยู่แล้ว มีทั้งโซเชียล ดิลิเวอรี่ ยอดขาย 60% เป็นยอดออนไลน์”
“ถ้าหากมีช่องทางการขายเอง เราจะทำ product อะไรใหม่เรารู้จากลูกค้าของเรา เราจะรู้ถึงความต้องการ คิดว่าเป็น step ที่สำคัญมาก”
นายสัตวแพทย์เพชร กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 ต.ค. 63)
Tags: TFG, ผู้ผลิตอาหาร, ฟาร์มสุกร, เพชร นันทวิสัย, ไทย ฟู้ดส์ เฟรซ มาร์เก็ต, ไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป