น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบการเปิดตลาดและบริหารการนำเข้าสินค้ากากถั่วเหลือง เฉพาะเพื่อนำเข้ามาใช้ในอุตสาหกรรมผลิตเพื่อมนุษย์บริโภคและอุตสาหกรรมอื่นๆ โดยไม่รวมกากถั่วเหลืองที่นำเข้ามาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหารสัตว์ เป็นระยะเวลา 3 ปี ตั้งแต่ปี 2564-2566 ซึ่งเป็นไปตามกรอบความตกลงขององค์การการค้าโลก (WTO) ซึ่งมีปริมาณตามที่ผูกพัน 230,559 ตัน อัตราภาษีในโควตา 10% นอกโควตา 133%
โดยมีการบริหารการนำเข้า คือ ผู้ที่นำเข้าต้องเป็นนิติบุคคลที่ใช้กากถั่วเหลืองเป็นวัตถุดิบในการผลิตในกิจการของตนเอง และให้นำเข้าเฉพาะด่านศุลกากรที่มีด่านพืชและด่านอาหารและยา โดยผู้ที่นำเข้ากากถั่วเหลืองเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมผลิตเพื่อมนุษย์บริโภคจะต้องแสดงใบรับรอง Non-GMO คือไม่มีการดัดแปลงพันธุกรรมจากประเทศผู้ผลิตต้นทาง
นอกจากนี้ ยังเห็นชอบมาตรการปกป้องพิเศษ (Special Safeguard Measure:SSG) ภายใต้ความตกลงของ WTO และความตกลงการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) สำหรับสินค้ามะพร้าว ซึ่งได้กำหนดช่วงเวลานำเข้ามะพร้าวภายใต้กรอบ WTO ในช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ. และเดือน ก.ย.-ธ.ค. รวม 6 เดือน ส่วนการนำเข้าภายใต้กรอบ AFTA กำหนดช่วงเวลาในเดือนก.ย.-ธ.ค.63 รวมเวลา 4 เดือน โดยจัดสรรปริมาณนำเข้าในอัตรา 1:2.5 นำเข้า 1 ส่วน ต่อการรับซื้อมะพร้าวผลในประเทศ 2.5 ส่วน โดยมาตรการ SSG ภายใต้ความตกลงWTO และ AFTA สำหรับสินค้ามะพร้าวปี 2563 โดยมะพร้าวทั้งกะลา มะพร้าวอ่อน และมะพร้าวอื่นๆ ที่นำเข้ามาในประเทศไทยรวมกันเกินกว่าปริมาณ Trigger Volume ซึ่งปี 2563 กำหนดไว้ที่ 335,926 ตัน ให้กรมศุลกากรจัดเก็บอากรในอัตรา 72%
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 ต.ค. 63)
Tags: กากถั่วเหลือง, มะพร้าว, โควต้า, ไตรศุลี ไตรสรณกุล