กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ในฐานะกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) รายงานว่า อิทธิพลพายุระดับ 2 (ดีเปรสชัน) ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ตั้งแต่วันที่ 7 ต.ค.63 จนถึงปัจจุบันมีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมฉับพลัน น้ำไหลหลาก ดินสไลด์ และวาตภัย รวม 30 จังหวัดในภาคอีสาน ภาคกลาง ภาคตะวันตก และภาคใต้ รวม 105 อำเภอ 366 ตำบล 1,451 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 45,244 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 2 ราย (จันทบุรีและตรัง) บาดเจ็บ 3 ราย (สิงห์บุรี)
สำหรับพื้นที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมฉับพลันและน้ำไหลหลาก 28 จังหวัด ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายแล้ว 13 จังหวัด ยังคงมีน้ำท่วมขัง 15 จังหวัด ดังนี้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2 จังหวัด ได้แก่ อุบลราชธานี และ นครราชสีมา, ภาคตะวันออก 4 จังหวัด ได้แก่ ปราจีนบุรี สระแก้ว ชลบุรี และ ฉะเชิงเทรา, ภาคใต้ 3 จังหวัด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี ตรัง และนครศรีธรรมราช, ภาคกลาง 6 จังหวัด ได้แก่ นครปฐม กาญจนบุรี อุทัยธานี สมุทรสงคราม สุพรรณบุรี และราชบุรี
ส่วนพื้นที่ได้รับผลกระทบจากวาตภัย 4 จังหวัด ได้แก่ ชัยนาท กาญจนบุรี สิงห์บุรี และพังงา รวม 6 อำเภอ 9 ตำบล 18 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนเสียหาย 59 หลัง ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายแล้วอยู่ระหว่างการฟื้นฟู และพื้นที่ได้รับผลกระทบจากดินสไลด์ 4 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร ภูเก็ต สตูล และกระบี่ รวม 5 อำเภอ 6 ตำบล 6 หมู่บ้าน
ทั้งนี้ ปภ.ร่วมกับจังหวัด หน่วยทหาร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ รวมถึงสนับสนุนเรือท้องแบน พร้อมเครื่องยนต์ รถบรรทุกติดตั้งเครน รถเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัยไปยังจุดอพยพ อีกทั้งแจกจ่ายเครื่องอุปโภคบริโภคเพื่อการดำรงชีพ
สำหรับจังหวัดที่สถานการณ์คลี่คลายแล้ว ให้เร่งสำรวจประเมินความต้องการการช่วยเหลือของผู้ประสบภัย พร้อมจัดทำบัญชีความเสียหายให้ครอบคลุมทุกด้าน ทั้งการประกอบอาชีพ ชีวิตความเป็นอยู่ ที่อยู่อาศัย พื้นที่การเกษตร ปศุสัตว์ สาธารณูปโภค เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ ตลอดจนเร่งซ่อมแซมและฟื้นฟูสิ่งสาธารณประโยชน์ให้สามารถใช้งานได้ตามปกติโดยเร็ว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 ต.ค. 63)
Tags: กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย, ดีเปรสชัน, น้ำท่วม, อุทกภัย