สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการปรับปรุงหลักเกณฑ์การออกและเสนอขาย “ตราสารแสดงสิทธิการฝากหลักทรัพย์ต่างประเทศ” (Depository Receipts: DR) เพื่อลดภาระอุปสรรคและสร้างความยืดหยุ่นในการออก DR ให้กับภาคเอกชน และเพิ่มทางเลือกในการลงทุนให้แก่ผู้ลงทุน รวมถึงเป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ DR ไทย
ทั้งนี้ ก.ล.ต.มีแนวคิดจะปรับปรุงหลักเกณฑ์การออกและเสนอขายตราสารแสดงสิทธิการฝากหลักทรัพย์ต่างประเทศ (DR) เพื่อให้กระบวนการออกและเสนอขาย DR สะดวกมากยิ่งขึ้นและเพิ่มทางเลือกให้กับผู้ลงทุน โดยคณะกรรมการกำกับตลาดทุน (ก.ต.ท.) ได้มีมติเห็นชอบในหลักการปรับปรุงหลักเกณฑ์ DR ซึ่งสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
- ปรับปรุงกระบวนการออกและเสนอขาย DR ให้เป็น Direct Listing ทำให้ผู้ออกและเสนอขาย DR (DR issuer) สามารถทยอยซื้อหลักทรัพย์อ้างอิง (underlying) และออก DR โดยนำ DR ไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย อย่างไรก็ดี ผู้ออกและเสนอขาย DR ยังคงมีหน้าที่ปฏิบัติตามเงื่อนไขมูลค่าขั้นต่ำของ DR และจำนวนผู้ลงทุน เพื่อดำรงสภาพคล่องของ DR ตลอดจนต้องเปิดเผยข้อมูลมาตรการไถ่ถอน DR ไว้ในหนังสือชี้ชวนให้ผู้ลงทุนรับทราบ หากผู้ออกและเสนอขาย DR ไม่สามารถดำรงสถานะตามเงื่อนไขขั้นต่ำได้
- ปรับปรุงอัตราส่วนของ DR ต่อหลักทรัพย์อ้างอิงไม่จำเป็นต้องเท่ากับ 1 : 1 สำหรับ DR ประเภทใบแสดงสิทธิในผลประโยชน์ที่เกิดจากหลักทรัพย์อ้างอิง ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสให้กับผู้ลงทุนในการเข้าถึงการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศโดยเฉพาะหลักทรัพย์ที่มีราคาสูง
- เพิ่มประเภทหลักทรัพย์อ้างอิงของ DR เพื่อเพิ่มทางเลือกในการลงทุนให้แก่ผู้ลงทุน ได้แก่ โครงการจัดการลงทุนต่างประเทศ (Collective Investment Scheme: CIS) ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REITs) กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (IFF) และกองทุนรวมอีทีเอฟตราสารหนี้
พร้อมกันนี้ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจะปรับปรุงหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องในแนวทางเดียวกันนี้ด้วย
ก.ล.ต. ได้เผยแพร่เอกสารรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการปรับปรุงหลักเกณฑ์ DR ไว้ที่เว็บไซต์ ก.ล.ต. https://www.sec.or.th/TH/Pages/PB_Detail.aspx?SECID=661 ผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้สนใจสามารถแสดงความคิดเห็นได้ที่เว็บไซต์ หรือ ทาง e-mail [email protected] [email protected] หรือ [email protected] จนถึงวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 ต.ค. 63)
Tags: DR, ก.ต.ท., ก.ล.ต., คณะกรรมการกำกับตลาดทุน, ตลาดหลักทรัพย์