นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดตลาดเช้านี้อยู่ที่ 31.19 บาท/ดอลลาร์ อ่อนค่าเล็กน้อยจากปิดตลาดเมื่อเย็นวันศุกร์ที่ระดับ 31.18 บาท/ดอลลาร์ ตลาดรอดูความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศที่ตึงเครียดจากการชุมนุมด้วยกระบวนการทางรัฐสภา หลังมีข่าวการเตรียมหารือทุกฝ่ายเพื่อดำเนินการเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ ส่วนปัจจัยต่างประเทศเป็นเรื่องความคืบหน้าการผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 และมาตรการทางการคลังเพื่อแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจของสหรัฐ
“บาทมีทิศทางทรงตัว ตลาดรอดูสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ”
นักบริหารเงิน กล่าว
นักบริหารเงิน ประเมินกรอบเงินบาทในวันนี้ไว้ที่ 31.15-31.25 บาท/ดอลลาร์
THAI BAHT FIX 3M (16 ต.ค.) อยู่ที่ระดับ 0.29496% ส่วน THAI BAHT FIX 6M อยู่ที่ระดับ 0.34710%
ปัจจัยสำคัญ
- เงินเยนอยู่ที่ระดับ 105.38 เยน/ดอลลาร์ จากเย็นวันศุกร์ที่ระดับ 105.21 เยน/ดอลลาร์
- เงินยูโรอยู่ที่ระดับ 1.1723 ดอลลาร์/ยูโร จากเย็นวันศุกร์ที่ระดับ 1.1709 ดอลลาร์/ยูโร
- อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท/ดอลลาร์ ถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักระหว่างธนาคารของธปท.อยู่ที่ระดับ 31.2010 บาท/ดอลลาร์
- สถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองขณะนี้เป็นที่เฝ้าระวังของภาคธุรกิจอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะ “ย่านพื้นที่เศรษฐกิจ-ธุรกิจการค้าใจกลางกรุงเทพฯ” ทำเลยุทธศาสตร์ของการชุมนุมทางการเมือง และปรากฎชื่อ “ย่านราชประสงค์” เป็นหนึ่งสถานที่นัดหมายรวมพลในทุกครั้ง
- องค์การนายจ้างจี้รัฐเร่งแก้ม็อบลามหวั่นเศรษฐกิจลบหนักถึงปี 64 หอการค้าเตือนใช้ ‘เคอร์ฟิว’เศรษฐกิจไม่ฟื้นยาว-ประเทศเลวร้าย
- เอกชน”เสนอ”รัฐบาล-ผู้ชุมนุม” เจรจาหาทางออกประเทศ อย่าให้การเมืองซ้ำเติมเศรษฐกิจ หอการค้าไทย หวั่นมือที่ 3 สร้างสถานการณ์รุนแรง กระทบการลงทุนต่างชาติ ส.อ.ท.หวัง หารือสร้างสันติ สร้างความมั่นใจอนาคตคนรุ่นใหม่ ขณะหอต่างชาติหนุนเจรจา ชี้พ.ร.ก.ใช้ต้นทุนทางสังคมสูง
- สรท.กังวลม็อบฉุดภาพลักษณ์นักลงทุนแนะทางออกจับเข่าคุยหาข้อยุติ ชี้ยืดเยื้อเศรษฐกิจพังทั้งระบบ ขณะที่ “เอกชน” ชี้รัฐเร่งเจรจาม็อบหาข้อยุติ วอนอย่าใช้ความรุนแรง
- “ชวน” เรียกหัวหน้าพรรคการเมือง วิปรัฐบาลและฝ่ายค้านถกใช้เวทีรัฐสภาฝ่าวิกฤติ พท.ชงเปิดประชุมสมัยวิสามัญด่วนแก้รัฐธรรมนูญเปิดโต๊ะเจรจา
- “อาคม” ฟุ้งปีหน้าเศรษฐกิจไทยสะเด็ดน้ำ จีดีพีโตพรวด 5% ส่วนปีนี้ยอมรับพิษโควิด-19 กระทบหนักกดเศรษฐกิจขยายตัวติดลบ 7.5% พร้อมขอไอเอ็มเอฟเพิ่มบทบาทดูแลประเทศเสี่ยง หลังกังวลความสามารถในการชำระหนี้หลายประเทศเริ่มส่อปัญหา
- มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ส เซอร์วิส ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของอังกฤษในวันศุกร์ โดยระบุถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19, การแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) และการขาดแผนการด้านงบประมาณที่ชัดเจนจากรัฐบาลของนายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ
มูดี้ส์ระบุว่า หากอังกฤษไม่สามารถบรรลุข้อตกลงการค้าหลัง Brexit กับสหภาพยุโรปได้ ก็จะยิ่งสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจที่ถูกกดดันอยู่แล้วจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 - กลุ่มธุรกิจอังกฤษมากกว่า 70 กลุ่ม ซึ่งเป็นตัวแทนแรงงานมากกว่า 7 ล้านคน เรียกร้องให้รัฐบาลอังกฤษและสหภาพยุโรปกลับสู่โต๊ะเจรจาอีกครั้งในสัปดาห์หน้าเพื่อบรรลุข้อตกลงการค้าร่วมกัน หลังจากที่อังกฤษขู่แยกตัวจาก EU โดยไม่มีการทำข้อตกลง
- วุฒิสภาสหรัฐ ซึ่งพรรครีพับลิกันครองเสียงข้างมาก เตรียมลงมติร่างมาตรการบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 วงเงิน 3 แสนล้านดอลลาร์ในวันพุธที่ 21 ต.ค.นี้ ซึ่งวงเงินดังกล่าวน้อยกว่ามากเมื่อเทียบกับวงเงินราว 2 ล้านล้านดอลลาร์ที่พรรคเดโมแครตเสนอ
- ทีมงานรณรงค์หาเสียงของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ออกแถลงการณ์ระบุว่า ปธน.ทรัมป์พร้อมที่จะเข้าร่วมการดีเบตรอบ 2 กับนายโจ ไบเดน หากมีการเลื่อนการดีเบตในวันที่ 15 ต.ค.เป็นวันที่ 22 ต.ค. หลังจากที่ปธน.ทรัมป์ยืนยันก่อนหน้านี้ว่าจะไม่เข้าร่วมการดีเบตในวันที่ 15 ต.ค. หากมีการจัดดีเบตแบบออนไลน์
- ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญระหว่างสัปดาห์ ได้แก่ ดัชนีตลาดที่อยู่อาศัยเดือนต.ค. การเริ่มสร้างบ้าน ยอดขายบ้านมือสองเดือนก.ย. และรายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจ (Beige Book) ของเฟด นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามดัชนี PMI ภาคการผลิตและบริการเบื้องต้นเดือนต.ค. ของสหรัฐฯ ยูโรโซน และญี่ปุ่น รวมถึงข้อมูลเศรษฐกิจจีน โดยเฉพาะตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3/63 ยอดค้าปลีกการผลิตภาคอุตสาหกรรม และการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรเดือนก.ย.
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 ต.ค. 63)
Tags: Forex, ค่าเงินบาท, อัตราแลกเปลี่ยน, เงินบาท