นายดิลิป ปาล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มการเงิน บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) หรือดีแทค เปิดเผยว่า ดีแทคได้ปรับแนวโน้มสำหรับปี 2563 ในส่วนของรายได้จากการให้บริการไม่รวมค่า IC จากตัวเลขติดลบหลักเดียวระดับต่ำ เป็นตัวเลขติดลบหลักเดียวระดับกลาง ในขณะที่คงแนวโน้มที่เหลือเหมือนเดิม คือกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย,ภาษี,ค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ในจำนวนใกล้เคียงปี 2562 และค่าใช้จ่ายลงทุนที่ 8 พันล้านบาท ถึง 1 หมื่นล้านบาท
“แม้ว่าการเติบโตของรายได้จะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่แน่นอนและสภาวะตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป เรามั่นใจในการบริหารจัดการทางการเงินที่มีวินัย ไตรมาสนี้เป็นอีกไตรมาสหนึ่งที่ดีแทคยังคงไม่เห็นการกลับมาของนักท่องเที่ยวตลอดทั้งไตรมาส เรายังคงมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาบริการเพื่อสร้างประสบการณ์เครือข่ายที่ดีที่สุดแก่ฐานลูกค้าคนไทยพร้อมไปกับการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน ซึ่งเมื่อรวมกับการเดินหน้าเปลี่ยนแปลงไปสู่ดิจิทัล เรามั่นใจว่าดีแทคพร้อมที่จะสร้างผลประกอบการที่เติบโตอย่างยั่งยืนได้ในระยะยาว”นายดิลิป กล่าว
ทั้งนี้ DTAC รายงานผลการดำเนินงานในไตรมาส 3/63 มีกำไรสุทธิ 1.4 พันล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 1.76 พันล้านบาท ขณะที่มีรายได้จากการให้บริการ ไม่รวมค่า IC มูลค่า 1.44 หมื่นล้านบาท ลดลง 1.7% จากไตรมาสก่อน และลดลง 7.6% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยมี EBITDA อยู่ที่ 7.8 พันล้านบาท ลดลง 4.3% จากไตรมาสก่อน และ 3.0% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ส่วน EBITDA margin (normalized) อยู่ที่ 47.7%
นายชารัด เมห์โรทรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ของดีแทค กล่าวว่า ณ สิ้นไตรมาส 3/63 ดีแทคมีฐานลูกค้าจำนวนทั้งสิ้น 18.7 ล้านราย ลดลง 107,000 รายในไตรมาสนี้ ซึ่งน้อยกว่าการลดลงในไตรมาสที่แล้วอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ จำนวนลูกค้าที่ลดลงเป็นผลจากการฟื้นตัวที่ล่าช้าและการแข่งขันที่มีความรุนแรง รายได้จากการให้บริการไม่รวมค่า IC ในไตรมาส 3/63 ลดลง 1.7% จากไตรมาสก่อน และลดลง 7.6% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ขณะที่รายได้จากค่าบริการหลักในไตรมาส 3/63 ลดลง 1.4% จากไตรมาสก่อน และลดลง 5.3% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีความไม่แน่นอนในส่วนของรายได้ แต่ EBITDA margin (normalized) ของผลประกอบการ 9 เดือนที่ผ่านมาอยู่ที่ 46.8% ซึ่งสูงกว่าระดับก่อนโควิด-19 อันเป็นผลมาจากการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง
“เรายินดีที่เห็นถึงรูปแบบการปรับตัวใช้งานดิจิทัลที่มีแนวโน้มสูงอย่างต่อเนื่องแม้ว่าจะเป็นช่วงหลังจากการผ่อนคลายมาตรการปิดประเทศและมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมแล้วก็ตาม และดีแทคกำลังเดินหน้าพัฒนาทางดิจิทัลเพื่อยกระดับการให้บริการลูกค้าและการทำงานภายในองค์กร ซึ่งสอดคล้องกับธุรกิจต่าง ๆ ที่มีการปรับตัวไปสู่วิธีการทำงานที่สามารถรองรับในระยะยาว และด้วยแรงผลักดันที่แข็งแกร่งในการเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัล เรายังคงมุ่งเน้นการพัฒนาประสิทธิภาพในการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องเพื่อให้พร้อมรับมือกับความไม่แน่นอนที่ยืดเยื้อจากการแพร่ระบาดของโควิด -19
เพื่อช่วยบรรเทาความกดดันของผู้บริโภคจากผลกระทบที่ยืดเยื้อทางเศรษฐกิจ ดีแทคยึดมั่นในจุดยืนที่มีลูกค้าเป็นศูนย์กลาง ด้วยการนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่สอดคล้องกับความต้องการในสิ่งจำเป็นขั้นพื้นฐานของลูกค้าแต่ละกลุ่ม และด้วยการที่เราเห็นถึงตลาดผู้บริโภคที่มีความระมัดระวังในการใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น เราได้ร่วมพันธมิตรในเชิงกลยุทธ์กับหลาย ๆ กลุ่มธุรกิจ เพื่อช่วยให้ผลิตภัณฑ์และบริการที่สอดคล้องกับความต้องการเหล่านี้เข้าถึงฐานผู้บริโภคชาวไทยได้ดีขึ้น” นายชารัด กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 ต.ค. 63)
Tags: DTAC, ดีแทค, หุ้นไทย