6 องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ได้แก่ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์และสหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย มีความห่วงใยต่อสถานการณ์ และขอเรียกร้องต่อทุกฝ่าย ดังนี้
1. ขอให้รัฐบาลหลีกเลี่ยงการใช้อำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) ที่จะเป็นการลิดรอนเสรีภาพสื่อ โดยให้ใช้ความระมัดระวังในการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย และต้องไม่ใช้สื่อของรัฐปลุกระดมให้ประชาชนเกิดความเกลียดชังต่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
2. ขอให้ฝ่ายรัฐและผู้ชุมนุม เข้าใจและเคารพการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน ให้สามารถนำเสนอข่าวได้อย่างอิสระ เพื่อนำเสนอข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นอย่างครบถ้วน รอบด้านและเป็นไปตามหลักจริยธรรมแห่งวิชาชีพสื่อมวลชน ทั้งนี้ สื่อมวลชนมีหน้าที่รายงานข่าวและข้อเท็จจริง ไม่ได้เป็นคู่ขัดแย้งกับใคร จึงไม่ควรตกเป็นเป้าหมายของการข่มขู่ คุกคามและแทรกแซงไม่ว่าจากฝ่ายใด ซึ่งอาจส่งผลให้ไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างอิสระ จะส่งผลกระทบต่อสิทธิการรับรู้ข่าวสารข้อมูลและข้อเท็จจริงอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ของประชาชน
3. ขอให้สื่อมวลชนทุกแขนง ทำหน้าที่การรายงานข่าวสารข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจากทุกฝ่ายอย่างตรงไปตรงมา ไม่บิดเบือนข้อเท็จจริง ไม่ส่งผ่านถ้อยคำความรุนแรงที่อาจจะสร้างความเกลียดชังระหว่างคนในสังคมและให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ประชาชนสามารถรับรู้ข้อมูลที่ถูกต้องและรอบด้านมากที่สุด
ทั้งนี้ ในสถานการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในขณะนี้ องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน สนับสนุนให้ทุกฝ่ายยึดมั่นในแนวทางสันติวิธีในการแก้ไขปัญหาต่างๆ โดยหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรงในทุกรูปแบบ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 ต.ค. 63)
Tags: การเมือง, พ.ร.ก.ฉุกเฉิน, สถานการณ์ฉุกเฉิน, สื่อมวลชน