นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ตามที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข ได้มอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุขไปจัดทำข้อเสนอทางวิชาการเพื่อพิจารณาความเป็นไปได้ในการลดระยะเวลาการกักตัวผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศให้ลดลงจาก 14 วันนั้น ขณะนี้ผลการศึกษาออกมาแล้วพบว่ามีความเป็นไปได้ที่จะลดระยะเวลาการกักตัวลงเหลือ 10 วัน ซึ่งมีข้อมูลทางวิชาการจากต่างประเทศสนับสนุนว่าการกักตัว 10 วัน หรือ 14 วันให้ผลลัพท์ที่ไม่แตกต่างกัน อีกทั้งยังสามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายลงได้ 1 ใน 3
ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข เตรียมจะนำข้อเสนอทางวิชาการดังกล่าวนี้รายงานต่อที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อพิจารณาต่อไป
อย่างไรก็ดี ปัจจัยที่จะนำมาพิจารณาประกอบการลดระยะเวลาการกักตัวนั้น จะต้องขึ้นกับผู้เดินทางด้วยว่ามาจากประเทศต้นทางที่มีความเสี่ยงต่ำในการแพร่ระบาดหรือไม่
สำหรับข้อเสนอทางวิชาการในการลดจำนวนระยะเวลากักกันผู้เดินทางเข้าประเทศไทยจาก 14 วัน เหลือ 10 วันนั้น จากข้อมูลระบาดวิทยา การสร้างแบบจำลอง และตัวอย่างในต่างประเทศ การลดจำนวนวันดังกล่าวน่าจะทำได้โดยมีความเสี่ยงที่ใกล้เคียงกัน แต่ทั้งนี้ต้องมีมาตรการเพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นได้ เช่น นำร่องเฉพาะประเทศที่ควบคุมโรคโควิดได้ดี เช่น ไม่มีผู้ป่วยรายใหม่ในประเทศ หรือมีจำนวนน้อย, ก่อนเดินทางต้องตรวจหาเชื้อด้วยวิธี PCR ภายใน 72 ชม. เมื่อมาถึงไทย ในระหว่างกักตัว 10 วันจะต้องตรวจหาเชื้อด้วยวิธี PCR อีก 2 ครั้ง และเมื่อกักตัวครบ 10 วันแล้ว ยังคงต้องสวมหน้ากากอนามัย และเลี่ยงการเดินทางไปยังสถานที่ที่มีคนจำนวนมาก
“ทั้งหมดนี้จะทำให้เราสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายไปได้ถึง 1 ใน 3 จากการลดเวลา 14 วัน เหลือ 10 วัน ข้อมูลเหล่านี้จะเตรียมนำเสนอต่อ ศบค.และผู้มีอำนาจตัดสินใจเพื่อพิจารณาต่อไป”
ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไประบุ
นพ.โสภณ กล่าวว่า การใช้ระยะเวลากักตัว 14 วัน เป็นแนวทางที่ทุกประเทศใช้ดำเนินการในการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่ช่วงแรก โดยใช้ข้อมูลจากระยะฟักตัวของโรคจนถึงระยะเวลาที่แสดงอาการ ซึ่งจะไม่เกิน 14 วัน และเมื่อมีองค์ความรู้ต่อโรคนี้มากขึ้น ทำให้หลายประเทศได้ปรับลดระยะเวลาการกักตัวลงเหลือ 10 วันบ้าง 7 วันบ้าง ซึ่งขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพในการควบคุมโรคของแต่ละประเทศนั้นเอง
“เมื่อการกักตัวถึงจุดหนึ่งที่ 10 วัน และต่อมาเรื่อยๆ จนถึง 14-15 วัน เปอร์เซ็นต์การป้องกันการแพร่เชื้อจะไม่เพิ่มขึ้นแล้ว ความเสี่ยงระหว่าง 10 วัน กับ 14 วัน ไม่ได้เกิดประโยชน์มากนัก ความเสี่ยงจะไม่ต่างกันมาก”
นพ.โสภณ กล่าว
พร้อมระบุว่า ขณะนี้หลายประเทศเริ่มปรับเปลี่ยนนโยบายการกักตัวของผู้เดินทางมาจากต่างประเทศลงเหลือ 7 วัน หรือ 10 วัน เช่น ประเทศฮังการี, สวิตเซอร์แลนด์, นอร์เวย์, เนเธอร์แลนด์, สโลวิเนีย และลัตเวีย ใช้ระยะเวลากักตัว 10 วัน ส่วนประเทศเบลเยี่ยม และฝรั่งเศส ใช้ระยะเวลากักตัวเพียง 7 วัน ขณะที่บางประเทศใช้เงื่อนไขพิเศษประกอบ เช่น การจำกัดประเทศ, การยืนยันผลตรวจ PCR ที่ไม่พบเชื้อ เป็นต้น เช่น สเปน, สหรัฐอเมริกา, สวีเดน, มัลดีฟส์ บราซิล, สหราชอาณาจักร, แอฟริกาใต้ และโปรตุเกส
นพ.โสภณ กล่าวด้วยว่า ประเทศต่างๆ ที่ได้เริ่มมาตรการลดระยะเวลากักตัวลงจาก 14 วันนั้น ได้มีการติดตามประเมินผลว่ามีการแพร่เชื้อต่อหรือไม่ ซึ่งในบางประเทศที่ไม่พบการแพร่เชื้อต่อ ก็ได้มีการปรับลดระยะเวลากักตัวลงจาก 10 วัน เหลือ 7 วัน ดังนั้นหากประเทศไทยจะเริ่มต้นดำเนินการตามแนวทางนี้ จะให้ผู้ที่มีการกักตัวครบกำหนดแล้วโหลดแอพพลิเคชั่นให้สามารถติดตามตัวได้ เมื่อใดที่มีผู้ป่วยรายใหม่เกิดขึ้น จะต้องรีบสอบสวนโรคว่ามีความเชื่อมโยงกับผู้ที่ออกจากการกักตัว 10 วันนี้หรือไม่ รวมทั้งติดตามด้วยว่าเมื่อครบ 10 วันแล้วคนกลุ่มนี้มีอาการป่วยหรือไม่ หากไม่พบว่ามีการติดเชื้อเพิ่มจากคนที่ออกจากการกักตัว 10 วัน ก็สามารถสรุปได้ว่าการกักตัว 10 วันมีความปลอดภัยเพียงพอ ซึ่งในต่างประเทศก็ยังไม่พบว่าคนที่ออกจากการกักกันตัวหลังครบระยะ 10 วันแล้วไปแพร่เชื้อต่อ
ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขยังใช้ระยะเวลาการกักตัวที่ 14 วัน ส่วนมาตรการกักตัว 10 วันนั้นเป็นข้อมูลทางวิชาการที่มีความเป็นไปได้ และสิ่งที่จะต้องดำเนินการเพิ่มเติมหากต้องลดเวลากักตัวจาก 14 วัน คือจะต้องมีการตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มขึ้น และมีมาตรการติดตามตัวที่เหมาะสมมากขึ้น
อย่างไรก็ดี หากประเทศไทยจะลดระยะเวลากักตัว ก็จะต้องทำอย่างเป็นขั้นเป็นตอน เช่น เมื่อลดจาก 14 วัน เหลือ 10 วัน จะต้องประเมินผลอีกทีว่าทำได้มีประสิทธิภาพดีไหม ถ้าทำได้ดีจึงค่อยพิจารณาว่าจะลดเวลาจาก 10 วัน เหลือ 7 วันหรือไม่ ซึ่งเป็นข้อเสนอทางวิชาการที่จะดำเนินการอย่างเป็นขั้นเป็นตอนต่อไป
“การลดการกักตัว ถ้าถามว่าจะลดจาก 10 วันเหลือ 7 วันได้ไหม คงมีหลายปัจจัยเกี่ยวข้อง ถ้าประเทศต้นทางมีการติดเชื้อต่ำ หรือมีความปลอดภัยเท่ากับไทย เช่น จีน นิวซีแลนด์ ก็เป็นไปได้จะลดกักตัวเหลือ 7 วัน ส่วนประเทศที่มีความเสี่ยงสูง หากจะลดเหลือ 7 วันจริงๆ ก็ต้องมีมาตรการอื่นมาเสริม เช่น การตรวจทางห้องปฏิบัติการมากขึ้น การติดตามตัวที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งคงอยู่ระยะต่อไปที่จะทำ”
อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 ต.ค. 63)
Tags: COVID-19, Quarantine, State Quarantine, กรมควบคุมโรค, กระทรวงสาธารณสุข, กักตัว, โควิด-19, โสภณ เอี่ยมศิริถาวร, โอภาส การย์กวินพงศ์